เปิดร่างกฎหมายฟอกเงิน ครม.ไฟเขียว 2 ฉบับรวดหวั่นขึ้นบัญชีดำ

03 พ.ค. 2559 | 02:00 น.
รัฐบาลผ่านกฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงินรวดเดียว 2 ฉบับ ก่อนถูกขึ้นบัญชีดำ เป็นกลุ่มประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของ "คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน" หรือ FATF

[caption id="attachment_49225" align="aligncenter" width="700"] สาระสำคัญกฏหมายฟอกเงิน สาระสำคัญกฏหมายฟอกเงิน[/caption]

โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 เมษายนได้อนุมัติเห็นชอบร่างกฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงินรวม 2 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การทำให้แพร่กระจายซึ่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ.. ซึ่งเสนอโดย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตการฟอกเงิน (ปปง.) อีกฉบับ คือร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. (แก้ไขเพิ่มเติมกรณีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีและฉ้อโกงภาษีตามข้อเสนอ FATF) เสนอโดยกระทรวงการคลัง

"ฐานเศรษฐกิจ" ได้เปิดแฟ้มการประชุม ครม. ปรากฏสาระสำคัญที่น่าสนใจหลายประการ โดยในร่างกฎหมายฉบับแรกนั้น สำนักงาน ปปง.ได้ระบุถึงที่มาของเรื่องว่า มีเหตุผล 3 ประการ คือ

1.ไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการไม่ทำให้แพร่กระจายซึ่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction: WMD) โดยเข้าร่วมในหลักการของการไม่ผลิต ครอบครอง แพร่กระจาย สนับสนุน หรือทดลองเกี่ยวกับ WMD แต่บทบัญญัติของกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่มีมาตรการลงโทษทางการเงินกับบุคคลหรือองค์กรที่เข้าไปมีส่วนร่วม หรือให้การสนับสนุนในการทำให้แพร่กระจายซึ่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เป็นผู้ประกาศรายชื่อบุคคลหรือองค์กรเหล่านี้ภายใต้ชื่อ "บุคคลที่ถูกกำหนด"

2.คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (FATF) ได้กำหนดในข้อแนะนำ สำหรับประเทศสมาชิกในการใช้มาตรการลงโทษทางการเงินต่อบุคคลที่ถูกกำหนดเกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม และสกัดกั้นการแพร่กระจายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง และให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อการแพร่กระจายอาวุธ โดยวิธีการอายัดเงินทุนหรือทรัพย์สินอย่างอื่นของบุคคลหนึ่งบุคคลใด โดยไม่ซัก รวมถึงการกระทำเพื่อประกันว่า ไม่มีการจัดให้มีเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นไม่ว่าโดยทางตรงและทางอ้อม แก่บุคคลหรือหน่วยงานที่ถูกกำหนดโดย UNSC ซึ่งมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1617 ได้เรียกร้องให้รัฐภาคีดำเนินการนำข้อแนะนำมาปรับใช้อย่างเต็มรูปแบบ

และ 3.ปี 2559 ประเทศไทยจะต้องรับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) โดยในครั้งนี้ ผู้ประเมินแจ้งถึงการใช้เกณฑ์การประเมินระดับเข้มข้น คือนอกจากจะพิจารณาถึงความมีอยู่ของบทบัญญัติ หรือมาตรการทางกฎหมายเหล่านั้นไปบังคับใช้ด้วย

หากไทยไม่มีบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวนี้ อาจเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งหรือข้อบกพร่องในการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลที่อาจทำให้ไทยไม่ผ่านการประเมิน อันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบ AML/CFT และภาคการเงินของประเทศได้

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้มีหลักการและสาระสำคัญ ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรการลงโทษทางการเงินกับบุคคลที่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการทำให้มีการแพร่กระจายซึ่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง เพื่อสกัดกั้นมิให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าวสามารถเข้าถึงแหล่งเงิน หรือทุนเพื่อใช้ในการกระทำผิดได้ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และมาตรฐานสากลที่เกี่ยวกับการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การทำให้แพร่กระจายซึ่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

โดยกำหนดวิธีการเกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำความผิดเช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา เห็นว่า หากแก้ไขหรือปรับปรุง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวนี้แล้ว จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามเจตนารมณ์ในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ซึ่งในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) และสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับบทลงโทษผู้กระทำตามกฎหมายฉบับนี้ว่า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากร่างเดิมกำหนดว่า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เพิ่มน้ำหนักอีกฉบับ โดยอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมกรณีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีและฉ้อโกงภาษีตามข้อเสนอ FATF) ซึ่งเสนอโดยกระทรวงการคลัง (กค.) ที่มีสาระสำคัญ กำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร หรือฉ้อโกงภาษีอากร ให้เป็นมูลฐานความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน อันจะทำให้ "อธิบดีกรมสรรพากร" มีอำนาจออกคำสั่งให้ยึด หรืออายัดทรัพย์สินไว้เป็นการชั่วคราวได้ เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า บุคคลใดกระทำผิดฐานหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษี ภาษีมูลค่าเพิ่ม ขอคืนภาษีอากรอันเป็นเท็จ โดยวิธีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินเป็นการชั่วคราวให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ห้ามผู้ใดทำลาย ย้าย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัด

กำหนดให้ "เจ้าพนักงานประเมิน" มีอำนาจประเมินภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า ผู้ใดหลีกเลี่ยงการเสียภาษี มีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้ส่งคืนภาษีอากรที่ได้รับคืนไป เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า ผู้ใดขอคืนภาษีอากรอันเป็นเท็จ มีหน้าที่รวบรวมและจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องไปยังสำนักงาน ปปง.

และให้ "สำนักงาน ปปง." จัดส่งบรรดาข้อมูลซึ่งได้มาตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้แก่กรมสรรพากร รวมถึงได้กำหนดบทลงโทษกรณีความผิดเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือฉ้อโกงภาษีอากรให้เป็นมูลฐานความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ตรงตามสุภาษิตไทยที่ว่า "กันไว้ดีกว่าแก้" นั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,153 วันที่ 1 - 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559