รถไฟทางคู่และรถไฟสายใหม่…เสริมศักยภาพการแข่งขันด้วยการตอบโจทย์การลดต้นทุนขนส่งสินค้าภายในประเทศ

28 เม.ย. 2559 | 10:25 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  ออกบทวิเคราะห์เรื่อง“รถไฟทางคู่และรถไฟสายใหม่…เสริมศักยภาพการแข่งขันด้วยการตอบโจทย์การลดต้นทุนขนส่งสินค้าภายในประเทศ"

ประเด็นสำคัญ

•โครงการรถไฟทางคู่และรถไฟสายใหม่ จะเป็นการพลิกโฉมการขนส่งสินค้าภายในประเทศของไทย จากเดิมที่ต้องพึ่งพิงการขนส่งทางถนนเป็นหลักไปสู่การขนส่งในรูปแบบผสมผสาน โดยการขนส่งทางรางซึ่งมีต้นทุนที่ถูกกว่าทางถนนจะเข้ามาช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าภายในประเทศต่อหน่วยลง

•ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การพัฒนารถไฟทางคู่และรถไฟสายใหม่จะสามารถลดต้นทุนการขนส่งสินค้าลงได้ โดยเมื่อรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 แล้วเสร็จ ในปี 2564 จะสามารถลดต้นทุนการขนส่งสินค้าภายในประเทศลงได้ประมาณร้อยละ 5.7 ต่อปี และเมื่อรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 และรถไฟสายใหม่แล้วเสร็จ ในปี 2567 จะสามารถลดต้นทุนการขนส่งสินค้าภายในประเทศลงได้ประมาณร้อยละ 9.7 ต่อปี

โครงการรถไฟทางคู่ มีความชัดเจนขึ้นหลังจากที่รถไฟทางคู่ระยะที่ 1 ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย เริ่มดำเนินการก่อสร้างได้แล้วเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา นับเป็นโครงการรถไฟทางคู่ช่วงแรกที่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้  ทั้งนี้ โครงการรถไฟทางคู่เป็นการก่อสร้างรถไฟทางใหม่อีก 1 เส้นทางคู่ขนานกับเส้นทางรถไฟเดิม เพื่อแก้ปัญหาความคับคั่งของการเดินรถและลดระยะเวลาสับหลีกขบวนอันเป็นอุปสรรคให้การขนส่งทางรถไฟล่าช้า สืบเนื่องมาจากภาครัฐได้มียุทธศาสตร์ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรถไฟ อันเกิดจากความพยายามผลักดันการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งทางถนนเป็นหลักไปสู่การขนส่งในรูปแบบผสมผสาน ซึ่งมีต้นทุนการขนส่งต่อหน่วยที่ถูกกว่า เพื่อลดต้นทุนโลจิติกส์โดยรวมของประเทศลง เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ของไทยมีสัดส่วนร้อยละ 14.2  ซึ่งนับว่ายังสูงอยู่เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

รถไฟสายทางคู่และรถไฟสายใหม่ปลดล็อกข้อจำกัดรถไฟไทยในการขนส่งสินค้า

การขนส่งภายในประเทศของไทยพึ่งพาการขนส่งทางถนนสูงถึงร้อยละ 90 โดยมีสาเหตุมาจากการมุ่งเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเฉพาะทางถนนเพียงด้านเดียวมาเป็นระยะเวลานาน จนกระทั่งทำให้มีเส้นทางถนนครอบคลุมระยะทางรวมกว่า 115,760 กิโลเมตร และแม้ว่าประเทศไทยจะมีเส้นทางรถไฟครอบคลุมพื้นที่ 47 จังหวัด โดยมีระยะทางรวม 4,035 กิโลเมตร แต่เป็นรถไฟทางเดี่ยวสูงถึงร้อยละ 91.2 ในขณะที่ รถไฟทางคู่และทางสามมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 8.8 ของเส้นทางรถไฟทั้งหมดทั่วประเทศ อีกทั้งหัวรถจักรที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ใช้เดินขบวนขนส่งสินค้าในปัจจุบันมีอายุการใช้งานมานานหลายปีและสามารถทำความเร็วได้เพียง 39 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้การขนส่งทางรถไฟไม่เป็นที่นิยมจนกระทั่งมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.1 ของการขนส่งสินค้าภายในประเทศทั้งหมด โดยประเด็นดังกล่าว สะท้อนได้จากการจัดอันดับโครงสร้างพื้นฐานของ World Economic Forum 2015-16 ที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับโครงสร้างพื้นฐานทางถนนไว้ที่อันดับที่ 51 ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานทางรางเป็นอันดับที่ 78 จะเห็นได้ว่าการมีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานทางถนนเพียงอย่างเดียว ก่อให้เกิดความไม่สมดุลของการขนส่งสินค้าภายในประเทศ ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าโดยรวมสูง เนื่องจากการขนส่งทางถนนนับว่าเป็นการขนส่งที่มีต้นทุนสูงเป็นอันดับสองรองจากการขนส่งทางอากาศ

ทั้งนี้ การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบมีหลักการมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนจากการขนส่งทางถนนไปยังทางราง เนื่องจากมีต้นทุนการขนส่งต่อตัน-กิโลเมตร ที่ต่ำกว่าทางถนนถึงร้อยละ 30 อีกทั้งการขนส่งทางน้ำซึ่งมีต้นทุนต่ำที่สุดโดยถูกกว่าการขนส่งทางถนนถึงร้อยละ 73 ยังมีข้อจำกัดทางด้านภูมิศาสตร์ กล่าวคือ จำเป็นต้องพึ่งพิงแม่น้ำสายหลักของประเทศซึ่งมีเส้นทางไหลผ่านจำกัดเพียงบางพื้นที่เท่านั้น

แนวนโยบายพัฒนารถไฟทางคู่ แบ่งเป็นการพัฒนารถไฟทางคู่ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และการพัฒนารถไฟสายใหม่ 2 เส้นทาง โดยเมื่อโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟสายใหม่แล้วเสร็จ จะทำให้ประเทศไทยมีเส้นทางรถไฟครอบคลุมเพิ่มขึ้นเป็น 54 จังหวัด และมีเส้นทางต่อเนื่องไปยังด่านการค้าชายแดนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากเดิมที่มีเส้นทางรถไฟไปยังด่านปาดังเบซาร์ในภาคใต้เท่านั้น โดยรถไฟไทยจะมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 4,176 กิโลเมตร เป็นรถไฟทางคู่และทางสามคิดเป็นร้อยละ 74.8 ของเส้นทางรถไฟทั้งหมด นอกจากนี้ ยังได้มีโครงการจัดหาหัวรถจักรใหม่อีกประมาณ 100 คัน ซึ่งสามารถทำความเร็วกรณีลากจูงสินค้าได้สูงสุดถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รวมทั้งได้มีโครงการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินรถที่มากยิ่งขึ้น โดยไม่เพียงแต่ภาครัฐที่ได้มีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาการขนส่งทางรางเท่านั้น แต่ได้เริ่มเห็นสัญญาณจากภาคเอกชนบางรายที่มีการร่วมมือกับรฟท. ในการซื้อหัวรถจักรลากจูงมาใช้ในกิจการของตนเองเพื่อนำมาวิ่งขนส่งสินค้าประเภทปูนซีเมนต์บ้างแล้ว