อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 31.90 บาท/ดอลลาร์

25 มิ.ย. 2564 | 00:24 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท จับตาแนวต้านสำคัญที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ -3ปัจจัยกดดัน “ผู้ติดเชื้อรายวันสูงขึ้นไม่มีทีท่าจะลดลง -แผนแจกจ่ายวัคซีนล่าช้าอาจไม่ทันรับมือกับสายพันธุ์เดลต้า -นักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายสินทรัพย์ โดยเฉพาะหุ้นไทย”

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.90 บาทต่อดอลลาร์“อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.87 บาทต่อดอลลาร์-

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าตลาดการเงินโดยรวมกลับมาเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) อีกครั้ง ส่งผลให้ ดัชนี Dowjones ปรับตัวขึ้นกว่า 0.95% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.58% ขณะที่ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ก็สามารถปรับตัวขึ้นราว +0.69% ท่ามกลางความหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ หลังประธานาธิบดี โจ ไบเดน บรรลุข้อตกลงกับร่างงบประมาณเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Bill) วงเงินกว่า 5.79 แสนล้านดอลลาร์ที่นำเสนอโดย สมาชิกวุฒิสภา นอกจากนี้ ตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มการเงิน หลังธนาคารใหญ่กว่า 23 แห่งในสหรัฐฯ สามารถผ่านผลการทดสอบ Stresst Test ของธนาคารกลางสหรัฐฯได้ เปิดทางให้ธนาคารสามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลและซื้อหุ้นคืนได้อีกครั้ง

 

ส่วน ทางตลาดหุ้นในฝั่งยุโรป บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดได้ช่วยให้ ดัชนี STOXX50 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นกว่า +1.14% นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มเทคฯ อาทิ Adyen +5.67%, ASML +2.05% และ Infineon Tech. +1.7% ส่วนหุ้นสถานบันการเงินโดยรวมก็ปรับตัวขึ้นโดยเฉลี่ยมากกว่า 1% ตามหุ้นกลุ่มการเงินในฝั่งสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงประธานเฟด ที่ส่วนใหญ่ออกมาในเชิงว่าเฟดจะยังไม่เร่งรีบใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ย ได้ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ทรงตัวใกล้ระดับ 1.49% ซึ่ง เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะยังแกว่งตัวในกรอบต่อไป เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านข้อมูลการจ้างงานและเงินเฟ้อ รวมถึงตลาดจะรอการส่งสัญญาณการปรับนโยบายการเงินของเฟดที่อาจเกิดขึ้นในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของเฟดที่ Jackson Hole

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ เคลื่อนในกรอบ Sideways โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 91.80 จุด หลังตลาดการเงินโดยรวมยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ทำให้ความต้องการสินทรัพย์หลบความผันผวนมีไม่มาก แต่เงินดอลลาร์ก็ยังมีแรงหนุนจากแนวโน้มเฟดทยอยใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับหลายธนาคารกลางอื่นๆ ในขณะนี้ ที่ยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอยู่ ดังจะเห็นได้จากการที่ เงินปอนด์ (GBP) อ่อนค่าลงแตะระดับ 1.392 ปอนด์ต่อดอลลาร์ หลังธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ยืนกรานคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.10% พร้อมเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการทำ QE ด้วยวงเงินกว่า 8.95 แสนล้านปอนด์ เพื่อหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ยังคงเผชิญปัญหาการระบาดของ COVID-19

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะจับตาการรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อที่เฟดติดตามอย่างใกล้ชิด (PCE) โดยตลาดมองว่า ภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นและระดับฐานราคาสินค้าในปีก่อนหน้าที่ต่ำไปมากในช่วงวิกฤติ COVID-19 จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (PCE) เดือนพฤษภาคม พุ่งขึ้นสู่ระดับ 3.9% อย่างไรก็ดี การเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้ออาจเป็นปัจจัยเพียงชั่วคราว สะท้อนจากมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งยังไม่กังวลต่อทิศทางเงินเฟ้อมากนัก ทำให้หากเงินเฟ้อ PCE ไม่ได้เร่งตัวขึ้นไปมาก และปัจจัยหนุนการเร่งตัวขึ้นล้วนเป็นปัจจัยชั่วคราว ก็อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินมากนัก นอกจากนี้ ตลาดจะรอติดตาม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ในเดือนมิถุนายน ที่ตลาดคาดว่า จะปรับตัวสูงขึ้น สู่ระดับ 86.4 จุด สะท้อนความเชื่อมั่นการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังสามารถคุมการระบาด COVID-19 ได้ดี จนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคักอีกครั้ง จากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown

 

ในส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท  ประเด็นสำคัญต่อทิศทางค่าเงินบาท ยังคงเป็นประเด็นความกังวลสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 หลังยอดผู้ติดเชื้อรายวันปรับตัวสูงขึ้นและยังไม่มีทีท่าจะลดลง ขณะเดียวกัน การแจกจ่ายวัคซีนก็ดูจะล่าช้าและแผนการแจกจ่ายวัคซีนอาจไม่สามารถรับมือกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย และกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

 

นอกจากนี้ โฟลว์ธุรกรรมในช่วงปลายเดือนจากฝั่งผู้นำเข้า ที่อาจเริ่มกังวลต่อแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า ก็อาจทำให้ ผู้นำเข้าทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ หนุนให้เงินบาทโดยรวมยังทรงตัวในระดับสูงอยู่

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าในระยะนี้ เงินดอลลาร์ยังมีโมเมนตัมฝั่งแข็งค่าหนุนอยู่ แต่เรายังเชื่อว่า เงินดอลลาร์จะกลับมาอ่อนค่าลงได้ เมื่อทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในฝั่งยุโรปหรือเอเชียจะกลับมาสดใสมากขึ้น ซึ่งต้องจับตาสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในยุโรปและเอเชียอย่างใกล้ชิด

 

ทั้งนี้ ควรจับตาแนวต้านสำคัญของเงินบาทที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ เพราะหากค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญดังกล่าว ในเชิงเทคนิคัล ค่าเงินบาทก็อาจอ่อนค่าต่อถึงระดับ 32.25-32.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ อนึ่ง เรามองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจใช้จังหวะเงินบาทอ่อนค่าลง ในการทยอยลดการถือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (FX Reserves) ลงบ้าง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สหรัฐฯมองว่า ไทยมีการแทรกแซงค่าเงินในทิศทางเดียว หรือ เพื่อให้ FX reserves มีการลดลงบ้าง ซึ่งอาจช่วยคุมไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วเกินไปจนผู้นำเข้าปรับกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงไม่ทัน

 

จากทิศทางค่าเงินบาทที่มีความผันผวนมากขึ้น จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ การใช้ Options เพราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสวนทางกับสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ผู้ประกอบการเองก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์ของ Options หรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าการจอง Forward เพียงอย่างเดียว

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.85-32.00 บาท/ดอลลาร์

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (25 มิ.ย.) ปรับตัวอยู่ใกล้ๆ แนว 31.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ (ฟื้นตัวกลับมาบางส่วนหลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 13 เดือนที่ 31.98 บาทต่อดอลลาร์ฯ เมื่อวานนี้) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 31.87 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นตามทิศทางสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่กรอบการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ เริ่มจำกัดลง เนื่องจากนักลงทุนรอติดตามตัวเลข PCE Price Index และ Core PCE Price Index เพื่อประเมินสัญญาณเงินเฟ้อของสหรัฐฯ

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 31.75-31.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ  ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในประเทศ ตัวเลขเงินเฟ้อที่สะท้อนจากดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE Price Index) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน