อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “ทรงตัว” ที่ระดับ 31.61 บาทต่อดอลลาร์

22 มิ.ย. 2564 | 00:51 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปัจจัยกดดันการอ่อนค่า อาจมาจากความกังวลสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 และปัญหาการแจกจ่ายวัคซีนในไทยมากกว่าจะมาจากเงินดอลลาร์ ที่อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์เสี่ยงไทย

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “ทรงตัว” ที่ระดับ  31.61 บาทต่อดอลลาร์จากระดับปิดวันก่อนหน้ามองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.55-31.70 บาท/ดอลลาร์-ขณะที่นักลงทุนรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อคณะอนุกรรมการว่าด้วยวิกฤตการณ์โควิด-19 ประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในคืนนี้ 

 

นายพูน   พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท  เรามองว่าปัจจัยกดดันการอ่อนค่าของเงินบาท อาจมาจากความกังวลสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 และปัญหาการแจกจ่ายวัคซีนในไทย ที่อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์เสี่ยงไทย มากกว่าจะมาจากเงินดอลลาร์ หลังจากที่ เงินดอลลาร์ก็เริ่มอ่อนค่าลง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด

 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมากหรืออ่อนค่าต่อเนื่องทะลุระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ เพราะผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ โดยเงินบาทมีแนวต้านสำคัญอยู่ที่ระดับ 31.60-31.70 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรามองว่า โอกาสทะลุระดับดังกล่าวมีไม่มากนัก นอกจากนี้ เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลง เรามองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจใช้จังหวะนี้ทยอยลดการถือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (FX Reserves) ลงบ้าง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สหรัฐฯมองว่า ไทยมีการแทรกแซงค่าเงินในทิศทางเดียว หรือ เพื่อให้ FX reserves มีการลดลงบ้าง 

 

ตลาดการเงินเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง หลังถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell และ เจ้าหน้าที่เฟดที่เป็น Voting member ของ FOMC อย่าง John Williams ต่างมองว่า แนวโน้มเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นแค่ชั่วคราวและมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ตามปัญหาด้านฝั่งการผลิตหรือฝั่ง Supply ที่จะคลี่คลายลง และย้ำว่าข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดยังไม่ถึงระดับที่เฟดจะต้องใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น ทำให้ ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่คลายความกังวลโอกาสที่เฟดจะเร่งรีบใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น  แม้ว่า จะมีเจ้าหน้าที่เฟดถึงสองท่าน (James Bullard และ Robert Kaplan) ออกมาสนับสนุนการทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่อง อย่างไรก็ดี ตลาดก็ดูเหมือนจะไม่ได้กังวลกับถ้อยแถลงดังกล่าวมากนัก เพราะทั้งสองท่านยังไม่ใช่ Voting member ของ FOMC ในปีนี้

การเปิดรับความเสี่ยงดังกล่าวของตลาด หนุนให้ สินทรัพย์ในธีม Cyclical พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้ ดัชนี Dowjones พุ่งขึ้นกว่า +1.76% จากแรงซื้อหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ Financial, Materials และ Industrials เป็นต้น ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.40% ขณะที่ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นเพียง +0.79%

ทางด้านตลาดหุ้นในฝั่งยุโรป ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ได้ช่วยหนุนให้ ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นราว +0.71% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในทุกตลาดประเทศ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปโดยรวมยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Industrials ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออกสินค้า อาทิ ยานยนต์ และ สินค้าแบรนด์เนม หลังจากที่เงินยูโรอ่อนค่าลง ซึ่งส่งผลดีต่อแนวโน้มรายได้ของกลุ่มบริษัทที่มีการส่งออก (Volkswagen +3.61%, Daimler +2.75%, BMW +2.38%, Kering +1.23%)

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าตลาดจะคลายกังวลปัญหาเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วขึ้น แต่ภาพตลาดการเงินที่เฟดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงก็ได้ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว 5bps สู่ระดับ 1.49% ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของยีลด์ระยะยาวอาจไม่ได้เร่งตัวขึ้นไปมาก หากบรรดาผู้เล่นในตลาดยังไม่ได้กังวลต่อการทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องของเฟดมากนัก ซึ่งตลาดจะจับตาแนวโน้มข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง การจ้างงาน รวมถึง อัตราเงินเฟ้อ ก่อนจะปรับสถานะถือครองอย่างชัดเจน ทำให้เรามองว่า ในระยะสั้น บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ก็อาจแกว่งตัว sideways ในกรอบเดิมในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา คือ โซน 1.45%-1.60%

 

ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังตลาดเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นและลดความต้องการสินทรัพย์หลบความผันผวน อย่าง เงินดอลลาร์ลง ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 91.89 จุด หนุนให้สกุลเงินหลัก โดยเฉพาะ เงินออสเตรเลียดอลลาร์ (AUD) แข็งค่าขึ้นราว 0.87% สู่ระดับ 0.753 ดอลลาร์ต่อAUD ซึ่งการแข็งค่าของ AUD ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) สะท้อนผ่านดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดย Bloomberg ที่ปรับตัวขึ้นกว่า 0.69% (ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับตัวขึ้นราว 2.6% สู่ระดับ 74.9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วน ราคาทองคำปรับตัวขึ้นราว 1.1% สู่ระดับ 1,784 ดอลลาร์ต่อออนซ์)

 

สำหรับวันนี้ เนื่องจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจะมีไม่มากนัก ทำให้โฟกัสของผู้เล่นในตลาดการเงินจะอยู่ที่ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ รวมถึง แนวโน้มการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟดในอนาคต ซึ่งตลาดก็สามารถเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อได้ หากเจ้าหน้าที่เฟดที่เป็น Voting member ของ FOMC ต่างยืนกราน ไม่รีบปรับนโยบายการเงินให้ตึงตัวมากขึ้น

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (22 มิ.ย.) เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับประมาณ 31.63 บาทต่อดอลลาร์ฯ (หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 8 เดือนที่ 31.68 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงแรก) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 31.61 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทลดช่วงอ่อนค่าลงมาบางส่วนท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชัน ขณะที่นักลงทุนรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อคณะอนุกรรมการว่าด้วยวิกฤตการณ์โควิด-19 ประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในคืนนี้ 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 31.55-31.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญอื่นๆ วันนี้ ได้แก่ ข้อมูลยอดขายบ้านมือสองเดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ ตลอดจนสถานการณ์และแผนการกระจายวัคซีนต้านโควิด 19 ในประเทศ  
 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 31.61บาท/ดอลลาร์ 

ราคาทองวันนี้ 21 มิ.ย.64 เพิ่มขึ้น 100 บาท ทองคำแท่งขายออก 26,500 บ

หุ้นไทยปิดลบ 11.85 จุด กังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็ว