อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 31.47 บาท/ดอลลาร์

21 มิ.ย. 2564 | 00:20 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่า- ระวังถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดสายกลาง(Neutral) ที่อาจเริ่มมาสนับสนุนนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น (Hawkish)

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.47 บาทต่อดอลลาร์“อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า  ที่ระดับ 31.45 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับประมาณการเศรษฐกิจดีขึ้นและมองว่าจะขึ้นดอกเบี้ยราว 50bps (หรือ 2 ครั้ง) ได้ในปี 2023

 

สำหรับสัปดาห์นี้ ควรติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน พร้อมทั้งติดตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพุธ

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

 

ฝั่งสหรัฐฯ – เศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงเดินหน้าฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หนุนโดยการแจกจ่ายวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรราว 50% ทำให้ทั้งภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการยังคงขยายตัวต่อเนื่องในเดือนมิถุนายนจากความต้องการบริโภคหลังมาตรการ Lockdown ผ่อนคลายลง สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการโดย Markit (Manufacturing & Services PMIs) ที่ระดับ 61.5จุด และ 70 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึงการขยายตัว) ขณะเดียวกันตลาดแรงงานก็ฟื้นตัวดีขึ้น โดยยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) จะลดลง สู่ระดับ 3.8 แสนราย หนุนโดยการทยอยยุติเงินช่วยเหลือผู้ตกงานเพิ่มเติมในหลายรัฐ ทั้งนี้ ภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นและระดับฐานราคาสินค้าในปีก่อนหน้าที่ต่ำไปมากในช่วงวิกฤติ COVID-19 จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (PCE) เดือนพฤษภาคม พุ่งขึ้นสู่ระดับ 3.9% อย่างไรก็ดี การเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้ออาจเป็นปัจจัยเพียงชั่วคราว สะท้อนจากมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งยังไม่กังวลต่อทิศทางเงินเฟ้อมากนัก ทั้งนี้ ตลาดจะติดตาม มุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดถึง 4 ท่าน อาทิ Williams, Daly (วันอังคาร) และ Bowman, Bostic (วันพุธ)

 

ทางด้านฝั่งยุโรป – เศรษฐกิจยุโรปยังคงส่งสัญญาณฟื้นตัวที่ดีขึ้น หลังการแจกจ่ายวัคซีนคืบหน้ามากขึ้น (ครอบคลุมประชากรราว 36%) โดยทั้งฝั่งภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการยังมีการขยายตัว ชี้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการที่ระดับ 62.1 จุด และ 57.9 จุด ตามลำดับ นอกจากนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจที่สดใสจะช่วยหนุนให้ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) เดือนมิถุนายน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 100.6 จุด ทั้งนี้ ในฝั่งอังกฤษ ยังคงต้องติดตามการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่อาจกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจได้ หากการระบาดทวีความรุนแรงมากขึ้นและควบคุมไม่ได้ ซึ่งปัญหาการระบาดดังกล่าวจะกดดันให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Bank Rate) ที่ระดับ 0.10% และเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการซื้อสินทรัพย์ (QE) เพื่อหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ แม้การแจกจ่ายวัคซีนจะครอบคลุมประชากรถึง 55%

 

ในฝั่งเอเชีย – ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึง Semiconductor Chip จะช่วยหนุนให้ยอดการส่งออกเกาหลีใต้ในช่วง 20 วันแรกของเดือนพฤษภาคม อาจโตกว่า 50%y/y อนึ่ง แม้ว่าเศรษฐกิจในหลายประเทศจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ธนาคารกลางของทุกประเทศในเอเชียจะเลือกเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป โดยเฉพาะการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยในฝั่งจีน PBOC จะคงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Loan Prime Rate) อายุ 1 ปี และ 5 ปี ที่ระดับ 3.85% และ 4.65% ตามลำดับ ส่วนในฝั่งของธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ก็จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Overnight Rate) ที่ 2.00% หลังเศรษฐกิจยังคงซบเซาจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 และการแจกจ่ายวัคซีนที่ล่าช้า

 

และในฝั่งไทย – ภาคการส่งออกยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงบอบช้ำจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 โดยตลาดมองว่ายอดการส่งออก (Exports) เดือนพฤษภาคม อาจโตขึ้นกว่า 35%y/y หนุนโดยจากความต้องการสินค้าทั่วโลก ขณะที่ยอดการนำเข้า (Imports) จะโตกว่า 53%y/y ตามการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและยังคงเผชิญปัญหาการระบาดของ COVID-19 จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% และเน้นช่วยเหลือภาคธุรกิจรวมถึงครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบหนักผ่านมาตรเร่งรัดกระจายสินเชื่อหรือ Soft Loans มากกว่าที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง นอกจากนี้ เรามองว่า ธปท. อาจปรับลดประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจแย่ลงจากประมาณการในเดือนมีนาคม หลังการระบาดของ COVID-19 ยังไม่มีแนวโน้มสงบลง และ การแจกจ่ายวัคซีนก็ล่าช้ามาก (ครอบคลุมประชากร 5.4%)

 

ส่วนแนวโน้มของค่าเงินบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวอ่อนค่าลง โดยในส่วนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่านั้นอาจมาจากทั้ง เงินดอลลาร์ โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำของบรรดาผู้เล่นในตลาดทองคำที่รอ Buy on Dip และ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยเรามองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อในระยะสั้น หลังผู้เล่นในตลาดทยอยลดสถานะ “Short” อนึ่ง ต้องระวังถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดสายกลาง(Neutral) ที่อาจเริ่มมาสนับสนุนนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น (Hawkish)

 

ในส่วนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เรากังวลว่า หากการแจกจ่ายวัคซีนในไทยยังไม่สามารถเร่งตัวขึ้นมากกว่านี้ได้ อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยได้ กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง จนกว่าการแจกจ่ายวัคซีนจะเร่งตัวขึ้นได้ดีขึ้น (อย่างน้อยเฉลี่ยวันละ 5 แสนโดสขึ้นไป หากต้องการให้ถึงเป้าหมายสร้างภูมิคุ้มกัน 50% ของประชากรภายในปีนี้)

 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะฝั่งผู้ส่งออกก็ทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 31.50-31.60 บาทต่อดอลลาร์ อีกทั้ง เราคาดว่า หากเงินบาทอ่อนค่าลงไปมากในระยะสั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีโอกาสทยอยขายเงินดอลลาร์ เพื่อลดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (FX Reserves) ออกมาบ้าง ซึ่งจะช่วยลดโอกาสถูกสหรัฐฯ มองว่า ประเทศไทยมีการแทรกแซงค่าเงินบาทในทิศทางเดียว ทำให้เงินบาทยังคงแกว่งตัวในกรอบไม่เกิน 31.60 บาทต่อดอลลาร์

 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 31.20-31.60 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.40-31.55 บาท/ดอลลาร์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (21 มิ.ย.) อ่อนค่าผ่านแนว 31.50 มาแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือนที่ 31.52 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากระดับปิดตลาดปลายสัปดาห์ก่อนที่ 31.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงท่ามกลางทิศทางที่แข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ หลังประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เขาเป็น 1 ใน 7 กรรมการเฟดที่มองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ควรขยับขึ้นในปีหน้าเพื่อสกัดแรงกดดันเงินเฟ้อ

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 31.45-31.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญวันนี้ยังคงอยู่ที่การตอบรับสัญญาณคุมเข้มทางการเงินของเฟด รวมไปถึงทิศทางฟันด์โฟลว์ของต่างชาตอ สถานการณ์และแผนการกระจายวัคซีนต้านโควิด 19 ในประเทศ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: