อัยหยา! “ฉ้อโกง-เลี่ยงภาษี” ปปง.ยึดทรัพย์ไม่ได้“ขัดรธน.”

16 มิ.ย. 2564 | 05:15 น.

อัยหยา! “ฉ้อโกง-เลี่ยงภาษี” ปปง.ยึดทรัพย์ไม่ได้“ขัดรธน.” : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3688 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 17-19 มิ.ย.2564 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ขออนุญาตนำทุกท่าน มาติดตามปัญหาข้อกฎหมายในเรื่อง การยึดทรัพย์ในคดีดัง “บริษัท โอเอฯ ทัวร์ศูนย์เหรียญ” กับความอีนุงตุงนังอันต่อนะครับ

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากระบุว่า “การนำประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี มาใช้ในการอายัดทรัพย์ นายสุระพงษ์ พิพัฒน์พัลลภ ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกรวม 22 ราย ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 37 วรรคหนึ่งและวรรคสอง”

การขัดหรือแย้งในความหมายของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล 

ส่วนที่ว่าขัดกับ รัฐธรรมนูญ มาตรา 37 วรรคหนึ่งและวรรคสองนั้น เกี่ยวข้องกับสิทธิ ในทรัพย์สิน และการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

มติเสียงข้างมากของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ จึงกลายเป็นเรื่องยุ่งในข้อกฎหมายและการปฏิบัติในการยึดอายัดทรัพย์โดยใช้ประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาจนปัจจุบัน 

ประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรีว่าอย่างไร....มาตรา 37 ตรี นี้บัญญัติว่า  “ความผิดตามมาตรา 37 มาตรา 37 ทวิ หรือมาตรา 90/4 ที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากร และเป็นความผิดที่เกี่ยวกับจำนวนภาษีอากรที่หลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงตั้งแต่สิบล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป หรือจำนวนภาษีอากรที่ขอคืนโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน ตั้งแต่สองล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป และผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรดังกล่าวได้กระทำในลักษณะที่เป็นกระบวนการหรือเป็นเครือข่าย โดยสร้างธุรกรรมอันเป็นเท็จหรือปกปิดเงินได้พึงประเมินหรือรายได้ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีอากร และมีพฤติกรรมปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อมิให้ติดตามทรัพย์สินนั้นได้ ให้ถือว่าความผิดดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เมื่ออธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองความผิดทางภาษีอากรที่เข้าข่าย ความผิดมูลฐานส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแล้ว ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต่อไป

คณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ประกอบด้วยอธิบดี รองอธิบดีและที่ปรึกษากรมสรรพากรทุกคน” (พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 45) พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ 2 เม.ย. 2560 เป็นต้นไป )

ผมสอบถามเหตุผลของคำวินิจฉัยของศาลพบว่า เสียงส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี บัญญัติขึ้นมาใหม่ในปี 2560 จึงเป็นการบัญญัติโทษอาญาย้อนหลังคดี จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ 

ประการต่อมา ศาลเห็นว่า การจะใช้มาตรการทางแพ่งได้ ต้องมีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินที่มีโทษทางอาญาก่อน จึงจะยึดทรัพย์ได้ เมื่อลงโทษในความผิดฐานฟอกเงินไม่ได้ ก็จะยึดทรัพย์ไม่ได้.....

สุดท้ายศาลบางท่านเสนอความเห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี เป็นกฎหมายที่มีจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินแก่เหตุซ้ำไป 

ผมว่าเรื่องนี้ยุ่งแน่ๆ เพราะศาลจะต้องเรียกคู่ความมานัดฟังคำวินิจฉัย และประกาศคำวินิจฉัยในราชกิจจานุเบกษาใน 30 วัน นับตั้งแต่มีคำวินิจฉัย...แล้วปัญหาจะตามมาทันที....

อันดับแรก ปปง.จะต้องคืนทรัพย์สินที่อายัดไว้ทั้งหมดของ นายสุระพงษ์ พิพัฒน์พัลลภ ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกรวม 22 ราย ในจำนวนนั้นมี นายธงชัย เจ้าของตัวจริงเสียงจริงอยู่ด้วยรวม   8,317,935,329  บาท  

อันดับต่อมา “มาตรา 37 ตรี จะหมดสภาพการบังคับใช้ในทางกฎหมายไปทันที” เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าขัดกับขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 37 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

อันดับสุดท้าย เมื่อบทบัญญัติของมาตรา 37 ตรี ตกไป.....เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ และหมดสภาพบังคับใช้ทางกฎหมายไป เท่ากับว่า ไม่สามารถเอาผิดกับผู้ที่หลีกเลี่ยง ฉ้อโกง ใช้กลยุทธ์ในการขอคืนภาษีตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายฟอกเงินได้อีก

ดังนั้น นายสุระพงษ์ พิพัฒน์พัลลภ, น.ส.วีญาฎา พิพัฒน์พัลลภ, น.ส.ปิยมา สิงคารวานิช, นายพรชัย โรจน์รุ่งรังสี, ด.ช.ธันยวิทย์ โรจน์รุ่งรังสี, นายอำนาจ อำนวยบริสุทธิ์, น.ส.ใหม่ พิพัฒน์พัลลภ นายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี,  นางนิสา โรจน์รุ่งรังสี, นายชาติชัย โรจน์รุ่งรังสี, นายวสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี, น.ส.สายทิพย์ โรจน์รุ่งรังสี, นายโอฬาร โรจน์รุ่งรังสี 

กลุ่มบริษัทในเครือไล่ตั้งแต่บริษัท ภูเก็ต เจมส์ พาวิลเลี่ยน จำกัด หรือ บริษัท รอยัล พารากอน เจมส์ จำกัด หรือ บริษัท รอยัล เจมส์ พาวิลเลี่ยน จำกัด, บริษัท รอยัล เจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท บางกอก แฮนดิคราฟท์ เซ็นเตอร์ จำกัด,

บริษัทโอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด บริษัท รอยัล ไทย เฮิร์บ จำกัด, บริษัท รอยัล พาราไดซ์ จำกัด, บริษัท รอยัล ดรากอน ทรานสปอร์ต จำกัด, บริษัท รอยัล พารากอน ทรานสปอร์ต จำกัด, บริษัท วสุรัตน์ อาร์. โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท ออล สตาร์ ทรานสปอร์ต จำกัด, บริษัท อาร์ จี ทรานสปอร์ต จำกัด, บริษัท เอเซียวิชั่น ทราเวิล จำกัด ร้องไชโยโห่ฮิ้วกันก่อนปีใหม่ได้เลย

ข้อหาอันฉกาจฉกรรจ์ว่า “นายธงชัย นายสุระพงษ์ พิพัฒน์พัลลภ เป็นเจ้าของธุรกิจทัวร์ศูนย์เหรียญ มีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงและฉ้อโกงภาษีอากร ได้กระทำในลักษณะที่เป็นกระบวนการ หรือที่เป็นเครือข่ายโดยสร้างธุรกรรมอันเป็นเท็จ หรือปกปิดเงินได้พึงประเมิน หรือรายได้เพื่อหลีกเลี่ยง หรือฉ้อโกงภาษีอากร และมีพฤติกรรมปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เพื่อมิให้ติดตามทรัพย์สินนั้นได้”อาจยังมีอยู่แต่กฎหมายตาม มาตรา 37 ตรี บังคับใช้ไม่ได้แล้ว เพราะกฎหมายตกไป
ทรัพย์ที่ถูกยึดมาต่างกรรมต่างวาระ  เช่น เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร สลากออมสิน โฉนดที่ดิน บ้าน อาคารชุด เงินสด ทอง เพชร  อาคาร รถยนต์ ราว 8,300 ล้านบาท จากที่สืบทรัพย์กันจำนวน 12,300 ล้านบาท จะต้องได้รับคืน! 

แต่ปัญหาคือ ไม่รู้ว่า ปปง.จะคืนทรัพย์อย่างไร เพราะถึงตอนนี้ทรัพย์ทั้งหมดที่ยึดไว้บางรายการเสื่อมโทรมหนักมาก

หลายคนไม่ทราบที่มาของมาตรานี้...สาระสำคัญที่มีการแก้ไขกฎหมาย และประกาศใช้เมื่อ 20 เมษายน 2560 เพราะต้องการจัดการกลุ่มขบวนการฟอกเงิน การโกง การหลบเลี่ยงภาษี และการขอคืนภาษี เป็นกรณีพิเศษ จึงกำหนดว่า “ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากร ทำความผิดที่เกี่ยวกับการหลีกเลี่ยง หรือฉ้อโกงตั้งแต่ 10 ล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป การขอคืนภาษีโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดตั้งแต่ 2 ล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป ไม่ว่ากระทำเป็นส่วนตัว กระบวนการ เครือข่าย  การปกปิดเงินได้พึงประเมินกลวิธีอุบายใดๆ ถือว่า เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน”

และหากติดใครตรวจสอบคำตัดสินของคณะกรรมการธุรรกรม ปปง.ตัดสินเวลายึดทรัพย์ นายสุระพงษ์ นายธงชัย กับพวก อย่างน้อย 3 ครั้ง ล้วนอ้างถึงการกระทำผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ทั้งสิ้น ไม่ว่า คำสั่งที่ ย.1/2561 คำสั่งที่ ย.25/2561 และคำสั่งที่ 77/2561 ให้อายัดทรัพย์สิน นายสุระพงษ์ นายธงชัย กับพวก เพราะปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า ทรัพย์สินที่ ได้มา มีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงและฉ้อโกงภาษีอากร ได้กระทำในลักษณะที่เป็นกระบวนการ หรือที่เป็นเครือข่ายโดยสร้างธุรกรรมอันเป็นเท็จหรือปกปิดเงินได้พึงประเมินหรือรายได้เพื่อหลีกเลี่ยง หรือฉ้อโกงภาษีอากร และมีพฤติกรรมปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด 

เฉพาะกรณีนี้ เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 2,180,121,957  บาท เบี้ยปรับ 4,360,246,915  บาท เงินเพิ่ม 1,247,993,274  บาท เมื่อวินิจฉัยว่ามาตรา 37 ตรี ขัดกับรัฐธรรมนูญข้อหาผิดทางภาษี ก็ เอวัง ก็มี ด้วยประการะฉะนี้แล!

ส่วนจะมีการเอาคืน “บิ๊กโจ้ก” พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา (สบ9) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) อดีต รักษาการแทนรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว (รรท.รอง ผบช.ทท.) ในฐานความผิด 157 เพราะเป็น 1 ในเจ้าหน้าที่ลบุยปราบยึดอายัดทรัพย์ในเครือทั้งหมดหรือไม่ ระทึกยิ่งกว่า หุหุ!