อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ 31.12 บาท/ดอลลาร์

15 มิ.ย. 2564 | 00:49 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ จากแรงขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ หลังการแจกจ่ายวัคซีนในไทย เริ่มมีปัญหาขาดแคลนวัคซีน

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.12 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.13 บาทต่อดอลลาร์- มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.05-31.20 บาท/ดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท  เรามองว่า เงินบาทยังคงมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways เนื่องจากบนภาพเงินดอลลาร์ ผู้เล่นในตลาดก็รอคอยผลการประชุม FOMC อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ จากแรงขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ หลังการแจกจ่ายวัคซีนในไทย เริ่มมีปัญหาขาดแคลนวัคซีน ซึ่งอาจส่งผลต่อการคุมสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 รวมถึง การทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.05-31.20 บาท/ดอลลาร์

สำหรับตลาดการเงินโดยรวมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-On) ท่ามกลาง มุมมองของผู้ในเล่นตลาดส่วนใหญ่ที่คลายความกังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น และมองว่า ในการประชุม FOMC ที่จะถึงนี้ เฟดจะยังคงมุมมองไม่เร่งรีบปรับลดการทำคิวอี ภาพดังกล่าว ได้หนุนให้ หุ้นสหรัฐฯในกลุ่มเทคฯ (Apple +2.46%, Adobe +2.9%, Bilibili +3.63%)ปรับตัวขึ้นโดดเด่น ทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด +0.74% ส่วน ดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวขึ้น 0.18% ขณะที่ ดัชนี Dowjones ปิดลบ -0.25% กดดันโดยแรงเทขายทำกำไรหุ้นในกลุ่ม Cyclical

 

ส่วนในฝั่งยุโรป บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ได้ช่วยหนุนให้ ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นราว +0.14%  โดยส่วนหนึ่งมาจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มเทคฯ SAP +1.55%, Infineon Tech. +0.74%, ASML +0.71%

 

ทางด้านตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกว่า 3bps สู่ระดับ 1.49% จากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดที่ได้หนุนให้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรบอนด์ระยะยาวออกมาบ้าง หลังจากที่ในสัปดาห์ก่อนหน้า บอนด์ระยะยาวปรับตัวขึ้นโดดเด่นจากการที่ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงหนัก ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดบอนด์ต่างรอคอยผลการประชุม FOMC ในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ นี้ ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนสถานะถือครองอีกครั้ง

 

ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ โดยรวมทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 90.51 จุด ซึ่งเรามองว่า เงินดอลลาร์ก็มีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปจนกว่าจะทราบผลการประชุม FOMC อย่างไรก็ดี ส่วนต่างระหว่างยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ กับ ยีลด์ 10ปี ญี่ปุ่น ที่เพิ่มสูงขึ้น ได้หนุนให้ เงินเยน (JPY) อ่อนค่าลง สู่ระดับ 110.08 เยนต่อดอลลาร์

 

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดการเงินจะมีแนวโน้มกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่มองว่า เฟดจะยังไม่ส่งสัญญาณปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่องหรือลดการทำคิวอี ก่อนงานสัมมนาประจำปีของเฟดที่ Jackson Hole ในช่วงเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ดี การเปิดรับความเสี่ยงของตลาด อาจเป็นภาพหุ้นในกลุ่มเทคฯ ที่มีแนวโน้มผลกำไรเติบโตได้ดี สามารถปรับตัวขึ้นโดดเด่นกว่าหุ้นในกลุ่มอื่นๆ หลังจากที่ราคาปรับตัวลดลงหนักในช่วงที่บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ เร่งตัวสูงขึ้น แต่ทว่า เราก็อาจเห็นแรงเทขายทำกำไรหุ้นในกลุ่ม Cyclical ออกมาบ้าง หลังจาก หุ้นกลุ่ม Cyclical ปรับตัวขึ้นไปมากจากช่วงต้นปี

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า  อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (15 มิ.ย.) ปรับตัวอยู่ในกรอบแคบๆ ที่ระดับประมาณ 31.10-31.12 บาทต่อดอลลาร์ฯ ใกล้เคียงระดับปิดตลาดวานนี้ 31.13 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ รอปัจจัยกระตุ้นใหม่ๆ เนื่องจากแม้ตลาดจะประเมินว่า เฟดยังไม่น่าจะส่งสัญญาณถอยออกจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในการประชุมรอบนี้ แต่ก็จะติดตามท่าทีเชิงนโยบายการเงินจากผลการประชุมนโยบายการเงิน Dot Plot และประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชุดใหม่ 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 31.05-31.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยติดตามจะอยู่ที่สัญญาณฟันด์โฟลว์ สถานการณ์โควิด 19 แผนการจัดหาและการกระจายจัดสรรวัคซีนของไทย ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้ผลิต การรผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. ผลสำรวจกิจกรรมการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนมิ.ย.