คำต่อคำ ผ่าปม "เลื่อนฉีดวัคซีน" เกาเหลา หรือติดที่หน่วยงานไหน

14 มิ.ย. 2564 | 09:32 น.

สาธารณสุข-กทม.-ศบค. ยันไม่มีปีนเกลียว ไร้ปมขัดแย้ง ปัญหาการเลื่อนฉีดวัคซีน เกิดจากผู้ผลิตทยอยส่งมอบคลาดเคลื่อน-ล่าช้า ทำให้ต้องปรับแผนการฉีดวัคซีน ขอโทษประชาชนทำให้ต้องถูกเลื่อนนัด   

พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) เปิดเผยวันนี้ (14 มิ.ย. ) ในการแถลงข่าวชี้แจงกรณีการจัดสรรวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มี ปัญหาต้องเลื่อนนัดฉีดวัคซีน ผู้ที่ลงทะเบียนระหว่างวันที่ 15-20 มิ.ย. นั้น เนื่องมาจากตามแผนการฉีดวัคซีนที่ ศบค. ได้หารือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศให้วันที่ 7 มิ.ย.เป็น วาระแห่งชาติในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชน โดยในเดือนแรกคือเดือนมิ.ย.ตั้งเป้าหมายจะมีการฉีดวัคซีนประมาณ 6 ล้านโดส และเดือนถัด ๆไปจะฉีดเดือนละประมาณ 10 ล้านโดส เป็นอย่างน้อย เพื่อให้ไทยสามารถฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชน 50 ล้านคนได้ภายในประมาณเดือนกันยายนหรืออย่างช้าเดือนต.ค. ปีนี้นั้น

พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์

ในสถานการณ์จริงก็คือ การส่งมอบวัคซีนซึ่งภายในเดือนมิ.ย.ตั้งเป้าไว้ 6 ล้านโดสนั้น เป็นการทยอยส่งมอบ ซึ่งวัคซีนไม่ได้มาครั้งเดียว 6 ล้านโดสตั้งแต่ต้นเดือน แต่มีความคลาดเคลื่อนทำให้เกิดความล่าช้าและส่งผลกระทบต่อแผนการฉีดวัคซีนที่วางไว้    

ผู้อำนวยการ ศบค.ยืนยันว่าที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกส่วนราชการที่ทำงานร่วมกัน มีการประชุมหารือกันตลอด  การทำงานประสานสอดคล้องกันด้วยดี ไม่มีปัญหาขัดแย้งอย่างที่หลายฝ่ายตั้งข้อกังขา 

สธ.ยันแม้การส่งมอบล่าช้าแต่ยังอยู่ในสัญญา

ด้าน นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาการส่งมอบวัคซีนคลาดเคลื่อนว่า สธ.ได้ดำเนินการตามที่รัฐบาลกำหนดในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้กับคนไทยอย่างน้อย 50 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของประชากรในแผ่นดินไทยเพื่อที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ให้ได้เร็วที่สุด โดยอย่างน้อยจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2564

 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนก.พ.ที่ผ่านมา มีการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 แล้วจำนวน 8.1 ล้านโดส แบ่งเป็นวัคซีนของแอสตร้าฯ 2.1 ล้านโดส และวัคซีนของซิโนแวค 6 ล้านโดส ปัจจุบันมีการฉีดสะสมแล้วทั้งหมด 6,188,124 โดส นับถึงวันที่ 13 มิ.ย. โดยจำนวนฉีดสูงสุดอยู่ในพื้นที่กทม. 1,716,394 โดสหรือคิดเป็นร้อยละ 27.7 ของจำนวนวัคซีนที่มีทั้งหมด โดยแบ่งเป็นวัคซีนเข็มที่หนึ่ง 1จำนวน 1,346,993 โดส และเข็มที่สอง 369,401 โดส ส่งผลให้พื้นที่กทม.มีประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วอย่างน้อย 1 เข็มในสัดส่วนร้อยละ 17.5

“แต่อย่างที่เราทราบกันก็คือโดยธรรมชาติของการผลิตวัคซีน ซึ่งเป็นชีววัตถุจะมีความไม่แน่นอนในการผลิตค่อนข้างสูง ไม่เหมือนกับยาที่ใช้สารเคมีตั้งต้นซึ่งจะควบคุมได้ดีกว่า ฉะนั้นการผลิต การตรวจสอบคุณภาพของวัคซีนจะมีมาตรฐานสากลที่เราจะต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะในเรื่องของหน่วยงานควบคุมคุณภาพที่เรียกว่า quality assurance ทั้งในประเทศและต่างประเทศ”

นพ.โอภาสกล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 ยังเป็นวัคซีนที่ใช้ในกรณีฉุกเฉิน ไม่ใช่เป็นวัคซีนที่มีอยู่ในท้องตลาดที่จะสามารถไปสั่งซื้อ ฉะนั้น การสั่งซื้อ-การจองจึงต้องมีการผลิตและส่งทันที เพื่อให้วัคซีนถึงประชาชนได้เร็วที่สุด บริษัทวัคซีนที่ได้กำหนดทำสัญญากันไว้นั้น จะทยอยผลิตส่งเป็นงวด ๆ ภายในสัญญาที่กำหนดไว้

อธิบดีกรมควบคุมโรคยังเปิดเผยว่า มีการวางแผนการกระจายวัคซีนในเดือนมิ.ย.ไว้อย่างน้อย 2 งวด เพื่อครอบคลุมการฉีดในระยะ 2 สัปดาห์ โดยงวดแรกวันที่ 7-20 มิ.ย. จะมีการส่งวัคซีนไปประมาณ 3 ล้านโดส เป็นวัคซีนของซิโนแวค 1 ล้านโดส และของแอสตร้าเซนเนก้า 2 ล้านโดส มีการจัดส่งไปยังกทม.แล้ว 5 แสนโดส ประกอบไปด้วยวัคซีนแอสตร้าฯ 3.5 แสนโดส และของซิโนแวค 1.5 แสนโดส นอกจากนี้ ยังมีของสำนักงานประกันสังคมส่งไปอีก  3 แสนโดส ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการฉีดในกทม. รวมถึงกลุ่มมหาวิทยาลัย 11 แห่งของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยอีก 1.5  แสนโดส ก็จะฉีดในกทม.เป็นหลัก ส่วนกลุ่มที่ลงทะเบียนหมอพร้อมใน 76 จังหวัด ได้มีการส่งวัคซีนไป 1.1 ล้านโดส จุดฉีดต่าง ๆสำหรับองค์กรภาครัฐ เช่นกลุ่มขนส่งสาธารณะ กลุ่มทหารตำรวจที่ต้องดำเนินการในการกักกันผู้ป่วยติดเชื้อ ก็ส่งไปอีก 1 แสนโดส นอกจากนี้ ยังมีการจัดเตรียมวัคซีนไว้สำหรับรองรับการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ เช่นที่เพชรบุรี เป็นต้น เหล่านี้คือสิ่งที่สธ.ได้กระจายออกไปในงวดแรก

ส่วนงวดที่สองซึ่งตามกำหนดจะต้องกระจายไปอย่างช้าที่สุดคือในวันที่ 21 มิ.ย. – 2 ก.ค. อีก 3.5 ล้านโดส ก็จะเป็นวัคซีนของซิโนแวค 2 ล้านโดส และของแอสตร้าฯ ประมาณ 1.5 ล้านโดส รวมจำนวนทั้งหมดก็จะเป็นไปตามเป้าหมายการกระจายวัคซีน 6 ล้านโดสภายในเดือนมิ.ย. 2564 ซึ่งแม้จะมีความล่าช้าไปบ้างแต่ยังอยู่ภายในสัญญาที่ตกลงกันไว้  

ผู้ว่ากทม.ย้ำได้วัคซีนเมื่อไหร่ ผู้ถูกเลื่อนนัดจะได้สิทธิ์ก่อน

พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยืนยันอีกคนว่า ไม่มีปัญหาใด ๆในการทำงานบูรณาการกับศบค. และสธ. ที่ผ่านมา ได้รับความช่วยเหลือจากสธ.ด้วยดีในการจัดสรรวัคซีนให้ รวมทั้งการประสานหน่วยงานอื่นให้มาช่วยกทม.ในการให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนด้วย

พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง

“ ในงวดแรกนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งวัคซีนให้กทม.แล้ว 5 แสนโดส แยกเป็น 2 ชนิด คือแอสตร้าเซนเนก้า 3.5 แสนโดส และซิโนแวค 1.5 แสนโดส โดยซิโนแวคนั้น กทม.จะนำมาใช้ฉีดเป็นเข็มที่สองหลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ฉีดเข็มแรกไปแล้ว โดยกทม.จะต้องใช้วัคซีนฉีดเป็นเข็มที่สองในช่วงนี้ 126,000 โดส และอีก 24,000 โดสจะสำรองไว้สำหรับการควบคุมหรือแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่วนวัคซีนแอสตร้าฯ ที่ได้รับมา 3.5 แสนโดสนั้น กทม.ก็จะแจกจ่ายไป” ผู้ว่ากทม. ระบุ และยอมรับว่า ตอนแรกกทม.คาดหวังว่าจะได้วัคซีนมาก่อนวันที่ 14 มิ.ย. แต่อาจจะขัดข้องทางเทคนิคของบริษัทผู้ผลิต ก็เลยยังไม่ได้รับวัคซีน ทำให้กทม.ต้องแจ้งไปยังผู้ที่ลงทะเบียนไว้ตั้งแต่วันที่ 15-20 มิ.ย.ว่าขอเลื่อนนัดการฉีดวัคซีนออกไปก่อน โดยตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.เป็นต้นไป ทางกทม.จะหยุดฉีดวัคซีน แต่หากได้รับมอบวัคซีนมาเมื่อไหร่ ก็จะเริ่มจัดฉีดครั้งใหม่ให้เร็วที่สุด

“ถ้าได้รับวัคซีนมาวันไหน วันรุ่งขึ้นก็จะฉีดให้ประชาชนเลย ส่วนผู้ที่เสียสิทธิ์ไม่ได้ฉีดระหว่างวันที่ยกเลิกไปนั้น ถ้าหากได้วัคซีนมากลุ่มนี้ก็จะได้รับสิทธิ์ก่อนเลย ไม่ต้องวนไปต่อท้ายแถว ไม่ต้องรอถึงเดือนสิงหาคม” ผู้ว่ากทม. กล่าว ทั้งนี้ ย้ำว่ากทม. ได้รับความอนุเคราะห์จากสธ.ด้วยดี เช่นการฉีดวัคซีนให้ผู้ประกันตน ก็ได้กระทรวงแรงงานมาให้บริการ ส่วนบุคลากรในระบบขนส่งสาธารณะก็ได้กระทรวงคมนาคมมาดูแลจัดจุดฉีดวัคซีนให้ที่สถานีกลางบางซื่อ เหล่านี้นับเป็นการแบ่งเบาภาระของกทม.ไปด้วย เพราะด้วยศักยภาพของกทม.เอง ยอมรับว่า การตั้งเป้าฉีดวัคซีนเดือนละ 2.5 ล้านโดส เป็นเรื่องยากมาก 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง