อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “ทรงตัว” ที่ระดับ 31.08 บาทต่อดอลลาร์

14 มิ.ย. 2564 | 00:38 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ทั้งจาก เงินดอลลาร์ และ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.08 บาทต่อดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า  มองกรอบสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 30.90-31.30 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.05-31.15 บาท/ดอลลาร์-เงินบาท ทรงตัวอยู่ในกรอบแคบๆ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยบวกจากข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนมิ.ย. ที่ออกมาดีกว่าที่คาด

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มของค่าเงินบาทมีทิศทางเคลื่อนไหวในกรอบ (Sideways) โดยในส่วนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่านั้นอาจมาจากทั้ง เงินดอลลาร์ และ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยเรามองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสผันผวนตามมุมมองของเฟดต่อการปรับลดคิวอี โดย เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบสกุลเงินอื่นๆ หากเฟดมีความมั่นใจต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ และส่งสัญญาณพร้อมลดคิวอี หรือ มีจำนวนคณะกรรมการ FOMC มองการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2022/2023 มากขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ก็อาจได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินปอนด์ จากปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ล่าสุด ที่ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องชะลอการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ออกไป

 

ในส่วนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เรากังวลว่า การแจกจ่ายวัคซีนในไทยอาจมีปัญหาในระยะแรก ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง ตามแรงขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ จนกว่าการแจกจ่ายวัคซีนจะเร่งตัวขึ้นได้ดีขึ้น

 

อย่างไรก็ดี เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะฝั่งผู้ส่งออกก็ทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 31.20-31.30 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ ตลาดอาจกลับมาขายทำกำไรทองคำมากขึ้น หากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้น ใกล้ระดับแนวต้านสำคัญที่ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งทั้งแรงขายดอลลาร์จากผู้ส่งออกและผู้ค้าทองคำ จะช่วยหนุนไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าไปมาก ทำให้เงินบาทยังคงแกว่งตัวในกรอบไม่เกิน 31.30 บาทต่อดอลลาร์

 

สำหรับสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้เงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐฯจะเร่งตัวขึ้นมากกว่าคาด แต่ตลาดก็มองว่าเป็นเรื่องชั่วคราวและคลายกังวลปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลให้ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงหนักและหนุนให้หุ้นกลุ่มเทคฯ ปรับตัวสูงขึ้น

 

สัปดาห์นี้ ควรติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) โดยเฉพาะแนวโน้มการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน พร้อมทั้งจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะ เศรษฐกิจในฝั่งเอเชีย

 

 

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

 

ฝั่งสหรัฐฯ – การทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown และการเร่งแจกจ่ายวัคซีน จะช่วยหนุนแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ตลาดแรงงานฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนผ่าน ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ลดลงต่อเนื่อง สู่ระดับ 3.6 แสนราย ทั้งนี้ การจับจ่ายใช้สอยของคนอเมริกันอาจชะลอตัวลงเล็กน้อย โดยตลาดคาดว่า ยอดค้าปลีก(Retail Sales) เดือนพฤษภาคม อาจหดตัวลง 0.6% จากเดือนก่อนหน้า หลังจากที่พุ่งขึ้นไปมากในช่วงเดือนมีนาคมจากความต้องการบริโภคหลังมาตรการ Lockdown ผ่อนคลายลง (Pent-up demands) ทั้งนี้ การชะลอตัวของการบริโภคเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว เพราะตลาดมองว่า การใช้จ่ายยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อ ตามการจ้างงานที่ดีขึ้น ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวดีขึ้น จะช่วยทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีความมั่นใจต่อแนวโน้มการฟื้นตัวมากขึ้น และอาจะทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินเฟด (FOMC) ปรับประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้าดีขึ้น +0.1% จากประมาณการในเดือนมีนาคม ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องติดตามก็คือ มุมมองของเฟดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน รวมถึง เงินเฟ้อ เพราะทั้งสองปัจจัยจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟด โดยเฉพาะ การปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่องหรือคิวอี (QE Tapering) ซึ่งตลาดคาดว่า เฟดจะเริ่มส่งสัญญาณลดคิวอีในช่วงงานสัมมนาประจำปีเฟดที่ Jackson Hole หรือ ช่วงปลายปีนี้ และจะเริ่มทยอยลดคิวอีได้ในปีหน้า แต่หากเฟดส่งสัญญาณเตรียมลดคิวอีในการประชุมที่จะถึงนี้ อาจทำให้ตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) และผันผวนมากขึ้นได้ ถึงแม้เรามองว่า โอกาสที่จะเกิดภาพดังกล่าวมีไม่มากนัก แต่ทว่าก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ผู้เล่นในตลาดต้องระวัง 

 

ส่วนในฝั่งยุโรป – เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ขยายตัวตามความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น หลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown (Pent-up demands) ดังจะเห็นได้จากยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือนเมษายน ที่จะโตขึ้นกว่า 0.4%จากเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ในฝั่งอังกฤษ การบริโภคในประเทศก็มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนพฤษภาคม ที่จะขยายตัว 1.6% จากเดือนก่อนหน้า หรือ กว่า 27%y/y อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในอังกฤษที่อาจกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจได้ หากการระบาดทวีความรุนแรงมากขึ้นและควบคุมไม่ได้

 

และในฝั่งเอเชีย – ภาคการส่งออกยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในโซนเอเชีย โดยในฝั่งญี่ปุ่น ยอดการส่งออก (Exports) เดือนพฤษภาคม อาจโตขึ้นกว่า 50%y/y หนุนโดยจากความต้องการรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจในประเทศอาจฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากปัญหาการระบาดของ COVID-19 รวมถึงการแจกจ่ายวัคซีนที่ล่าช้าไปมาก ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย อาทิ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Balance Rate) ที่ระดับ -0.10% พร้อมทั้งเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินต่อไป ส่วนในฝั่งจีน ตลาดมองว่า เศรษฐกิจจีนยังคงเดินหน้าขยายตัว สะท้อนผ่านข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในเดือนพฤษภาคม อาทิ ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ที่จะโตกว่า 9.2%y/y ส่วนยอดค้าปลีก (Retail Sales) ที่สะท้อนถึงทิศทางการบริโภคในประเทศ ก็จะขยายตัวกว่า 13%y/y นอกจากนี้ ยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Investment) จะโตขึ้นกว่า 17%y/y สะท้อนการลงทุนในธุรกิจ High Tech. ที่ขยายตัวมากขึ้นตามแผนของรัฐบาลจีน รวมถึงการเดินหน้าลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจ

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ อัตราแลกเปลี่ยนค่า เงินบาทเช้านี้ (14 มิ.ย.) ปรับตัวอยู่ที่ระดับ 31.11-31.12 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวันทำการก่อนหน้าที่ 31.08 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาททรงตัวอยู่ในกรอบแคบๆ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยบวกจากข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนมิ.ย. ที่ออกมาดีกว่าที่คาด ประกอบกับนักลงทุนยังคงรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงิน Dot Plot และประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชุดใหม่ในการประชุมวันที่ 15-16 มิ.ย. นี้

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 31.05-31.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยติดตามจะอยู่ที่สัญญาณฟันด์โฟลว์ สถานการณ์โควิด 19 และแผนการจัดหาวัคซีนของไทย