G7 เปิดตัวโครงการใหม่ "Build Back Better World" ท้าชนอิทธิพลจีน

13 มิ.ย. 2564 | 20:36 น.

โครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน ที่เดิมรู้จักกันในนามโครงการ 1 แถบ 1 เส้นทาง หรือเส้นทางสายไหมยุคใหม่ กำลังจะมีโครงการคู่แข่งที่ริเริ่มโดยกลุ่มประเทศมหาอำนาจโลกตะวันตก G7

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (12 มิ.ย.) ที่ประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ที่พบปะกันแบบตัวตนจริง ๆ ไม่ใช่การประชุมออนไลน์ ครั้งแรกใน ยุคโควิด-19 แพร่ระบาด บรรดาผู้นำเห็นพ้องกันว่าจะ เปิดตัวโครงการใหม่ในชื่อ "Build Back Better World" เพื่อจัดหา เงินทุนสนับสนุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ นอกเหนือจากโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน

การบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับโครงการ "Build Back Better World" ดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้นำจากอังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (อียู) ได้หารือกันโดยการประชุมครั้งนี้ เห็นชัดว่าประเด็นสำคัญเน้นไปที่เรื่องของบทบาทและอิทธิพลของจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเป็นคู่แข่งของสหรัฐ

ขอบคุณภาพจากสำนักข่าวBBC

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า โครงการดังกล่าวนั้น ทางภาครัฐจะร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อจัดหาเงินทุนหลายแสนล้านดอลลาร์ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางตลอดหลายปีข้างหน้า

เจ้าหน้าที่จากสหรัฐเปิดเผยว่า โครงการใหม่นี้ไม่เพียงเป็น “ทางเลือกใหม่” นอกเหนือจากโครงการ BRI ของจีน แต่ยังจะ "เอาชนะ" โครงการ BRI ด้วยการนำเสนอทางเลือกที่มีคุณภาพสูงกว่า นอกจากนั้นยังจะครอบคลุมทั่วโลก ตั้งแต่ลาตินอเมริกา แคริบเบียน แอฟริกา ไปจนถึงประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

ผู้นำกลุ่ม G7 ยังออกแถลงการณ์เมื่อวันอาทิตย์ (13 มิ.ย.) วิพากษ์วิจารณ์จีนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง ฮ่องกง และไต้หวัน ทั้งยังเรียกร้องให้มีการสืบสวนหาต้นตอที่แท้จริงของไวรัสโควิด-19 ที่มีต้นทางการแพร่ระบาดจากประเทศจีน อย่างละเอียดต่อไป โดยระบุว่า “เราขอเรียกร้องให้จีนเริ่มการศึกษาต้นตอของไวรัสโควิด-19 เฟสที่ 2 ร่วมกับองค์การอนามัยโลก อย่างโปร่งใส่ ถูกกาลเทศะ นำโดยผู้เชี่ยวชาญ และอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์”

แถลงการณ์ของกลุ่ม G7 ระบุด้วยว่า  ทางกลุ่มเน้นย้ำถึงความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน และขอสนับสนุนให้ทุกฝ่ายหาทางแก้ปัญหาอย่างสันติ

ทั้งนี้ การที่จีนก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของโลก เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ทางรัฐภูมิศาสตร์ที่มีนัยสำคัญที่สุดในยุคปัจจุบัน เทียบเท่ากับการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 2534 การผงาดของจีนสร้างความไม่สบายใจให้กับสหรัฐ โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน กล่าวว่า จีนเป็นคู่แข่งหลักทางยุทธศาสตร์ และเขาก็ให้คำมั่นว่าจะเผชิญหน้ากับการคุกคามทางเศรษฐกิจของจีน และจะต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีนด้วย

ท่าทีของกลุ่มผู้นำ G7 ที่ชัดเจนว่า เห็นจีนเป็นคู่แข่งและต้องการคานดุลอำนาจของจีนนั้น ทำให้โฆษกสถานทูตจีนในกรุงลอนดอน ต้องออกโรงเตือนว่า ยุคสมัยที่กลุ่มประเทศจำนวนน้อยไม่กี่ประเทศ เป็นผู้ตัดสินชะตากรรมของโลกนั้น ได้จบลงไปนานแล้ว

“เราเชื่อเสมอว่า ประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก แข็งแกร่งหรืออ่อนแอ ยากจนหรือร่ำรวย ต่างมีความเท่าเทียมกัน และเรื่องสำคัญระดับโลก ก็จำเป็นต้องมีการหารือกันกับทุก ๆประเทศ”โฆษกสถานทูตจีนกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง