ไทย มาเลเซียจับมือสร้างประวัติศาสตร์ปราบแก๊งค์ค้าไม้พะยูง

27 เม.ย. 2559 | 06:15 น.
นายสมชาย   ชาญณรงค์กุล  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 หน่วยงานฝ่ายปฏิบัติการทางด้านพืชแห่งอนุสัญญาไซเตสประเทศมาเลเซียได้มีจดหมายอิเลคทรอนิกส์มายังกลุ่มวิจัยอนุสัญญาไซเตสทางด้านพืช  สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช  กรมวิชาการเกษตร เพื่อสอบถามถึงกรณีฝ่ายปราบปรามของกรมศุลกากรมาเลเซียได้ดำเนินการจับกุมผู้ลักลอบส่งออกไม้พะยูง ณ ชายแดนมาเลเซีย  โดยพบซุกซ่อนอยู่ในรถบรรทุกซึ่งมีสินค้าอื่นปกปิดไว้ด้านบนจำนวน 158 ท่อน   น้ำหนักประมาณ 5,000 กิโลกรัม  คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,000,000 บาท   แต่หากมีการส่งไปยังประเทศที่มีความต้องการสูงมูลค่าอาจเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า  ซึ่งกรมศุลกากรของมาเลเซียได้ดำเนินคดีกับบริษัทเจ้าของรถบรรทุก  โดยปรับเป็นเงินจำนวน 20,000 ริงกิต หรือประมาณ 160,000 บาท  และในระหว่างดำเนินคดีไม่มีผู้ใดมากล่าวอ้างเป็นเจ้าของไม้พะยูงที่ลักลอบส่งออกดังกล่าว   จึงได้ทำการยึดไม้และส่งให้หน่วยงานปฏิบัติการทางด้านพืชแห่งอนุสัญญาไซเตสมาเลเซียในฐานะฝ่ายปฏิบัติการทางด้านพืชดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ หลังพบไม้พะยูงลักลอบส่งออกดังกล่าวกรมวิชาการเกษตรและและสภาอุตสาหกรรมไม้แห่งประเทศมาเลเซียได้ร่วมมือกันตามบทบัญญัติของอนุสัญญาไซเตสที่ได้กำหนดไว้ว่าให้ประเทศที่ยึดได้ส่งสินค้ากลับคืนประเทศต้นกำเนิด  ซึ่งกรณีไม้พะยูงที่มาเลเซียจับกุมได้ดังกล่าวจัดเป็นไม้อนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืชพ.ศ.2518 ที่อยู่ในความดูแลของกรมวิชาการเกษตร   โดยการส่งออก  นำเข้าหรือนำผ่านจะต้องได้รับหนังสืออนุญาตไซเตสจากกรมวิชาการเกษตร  ดังนั้นการกระทำดังกล่าวจึงผิดกฎหมายในกรณีไม่มีใบอนุญาตตัดและลักลอบส่งออก  ซึ่งไม้พะยูงมีการจับกุมได้  ณ บริเวณชายแดนไทย-มาเลเซียจึงสันนิษฐานว่าไม้พะยูงดังกล่าวมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้หารือกับกรมป่าไม้เพื่อสอบถามความประสงค์ในการรับไม้พะยูงกลับคืน  ซึ่งได้ข้อสรุปร่วมกันว่าให้กรมวิชาการเกษตรในฐานะฝ่ายปฏิบัติการทางด้านพืชแห่งอนุสัญญาไซเตสประเทศไทยเป็นผู้รับมอบไม้พะยูง   กรมวิชาการเกษตรจึงมีหนังสือตอบกลับไปยังประเทศมาเลเซียเพื่อขอรับไม้พะยูงกลับคืน  หลังจากนั้นกรมวิชาการเกษตรได้ทำพิธีส่งต่อไม้พะยูงดังกล่าวให้แก่กรมป่าไม้รับไปดำเนินการเก็บรักษา  เนื่องจากอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการต่อไปเป็นของของกรมป่าไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484

“การรับและส่งมอบไม้พะยูงที่ลักลอบส่งออกระหว่างประเทศไทยและมาเลเซียในครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือมือระหว่างประเทศในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบการค้าพืชที่ผิดกฎหมาย  รวมทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ     ซึ่งไม้พะยูงนอกจากจะจัดเป็นพืชอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 แล้ว  ยังจัดเป็นไม้หวงห้ามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และเป็นไม้หวงห้ามตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ประกาศเพิ่มเติมให้ไม้พะยูงไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดในราชอาณาจักรเป็นไม้หวงห้ามที่จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือได้รับสัมปทานตามกฎหมาย  ซึ่งปัจจุบันไม้พะยูงได้กลายเป็นไม้ที่มีราคาแพงที่สุดชนิดหนึ่งของโลก  ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว