'สุพัฒนพงษ์' สรุป 3 แนวทาง ช่วยเหลือ ผู้ประกอบการ กระทบโควิด19

11 มิ.ย. 2564 | 09:04 น.

ทีมฟื้นฟูเศรษฐกิจรัฐบาล ร่วมหอการค้าไทย เปิดผลประชุม เคาะ 3 แนวทาง ช่วยเหลือ ผู้ประกอบการ ธุรกิจที่กระทบจากโควิด-19 ดันมาตรการเสริมแหล่งเงินทุน หนุนกลุ่มเอสเอ็มอี - ขยายพักหนี้

11 มิถุนายน 2564 - นาย สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ฐานะทีมฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ระบุถึง แนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ผ่านการโพสต์ชี้แจงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ใน 3 แนวทางหลักดังนี้ ....

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ผมได้ประชุมเรื่องแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับกระทบจากโควิด-19 กับ คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เลขาธิการสภาพัฒน์ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีข้อสรุปดังนี้ครับ

'สุพัฒนพงษ์' สรุป 3 แนวทาง  ช่วยเหลือ ผู้ประกอบการ กระทบโควิด19

1. เร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด 

ตอนนี้ทางหอการค้าไทยกำลังเร่งดำเนินนโยบาย Connect the Dots ภารกิจ 99 วันแรกใน 3 ประเด็น ได้แก่ การเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด การช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ โดยภารกิจเรื่องการฉีดวัคซีนได้มีความคืบหน้าไปมาก และกำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผมต้องขอขอบคุณหอการค้าไทยและภาคเอกชนที่ได้เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินงานเรื่องนี้  

2. ช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน
 
ทางหอการค้าไทยเห็นว่าผู้ประกอบการจำนวนมากโดยเฉพาะรายเล็ก ประสบปัญหาสภาพคล่องเป็นอย่างมาก และบางรายต้องพึ่งแหล่งเงินกู้นอกระบบ เพราะไม่สามารถเข้าถึง Soft Loan ของภาครัฐได้ หอการค้าไทยและเครือข่ายจึงได้ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในลักษณะโครงการ Sand Box ต้นแบบ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง KBANK กับ CRC เพื่อสนับสนุนให้ SME รายย่อยที่เป็นคู่ค้ากับ Retailer สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงครอบคลุมทุกจังหวัด เพื่อเสริมสภาพคล่อง ปรับปรุง และขยายธุรกิจ
 
3. ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ 

มาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME แบ่งเป็น 2 ประเด็น ได้แก่ 

3.1 การลดระยะเวลา Credit Term ให้แก่คู่ค้าของบริษัท โดยรายย่อย (เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน บุคคล) เหลือ 7-15 วัน และรายกลาง 30 วัน 

3.2. Digital Factoring Platform ให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยในเฟสแรกซึ่งเป็น Sand Box ต้นแบบ มีผู้สนใจ 6,000 ราย ได้รับอนุมัติ 1,000 ราย วงเงินสินเชื่อรวม 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะขยายผลผ่านสมาคมธนาคารไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และเครือข่ายในระยะต่อไป ตั้งเป้าหมาย SME เข้าร่วม 5 แสนรายทั่วประเทศ รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ภายใน 6 เดือน 

สำหรับโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) ซึ่งเป็นมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้ที่มีหลักทรัพย์หรือหลักประกันให้ไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินชั่วคราว และมีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจได้ในอนาคต ได้ขอการพิจารณาจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในการขยายมาตรการให้ครอบคลุมรวมถึงเงินให้กู้เพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ เช่น 30% ของหนี้เดิม ไม่ว่าจะเป็นการใช้หลักประกันเดิมหรือนำหลักประกันใหม่มาวางประกันเพิ่ม 

ทางด้านแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาคท่องเที่ยวและบริการ หอการค้าไทยกำลังดำเนินโครงการฮักไทย เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และเตรียมเปิดเมืองเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว ชูจุดเด่น กิน เที่ยว ใช้ โดยนำร่อง Phuket Sandbox : HUG THAIS HUG PHUKET ร่วมกับ ททท. สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมศูนย์การค้าไทย สมาคมโรงแรม สมาคมสายการบิน สมาคมร้านอาหาร 

ส่วนประเด็นสุดท้ายที่ได้มีการหารือกันคือเรื่อง พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ (Ease of Doing Business) ซึ่งมีความคืบหน้าทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ สะดวกมากขึ้น (Easier) รวดเร็วขึ้น (Faster) และภาระค่าใช้จ่ายลดลง (Cheaper) 

นอกจากนี้หอการค้าไทยกำลังผลักดันการปรับปรุงกฎเกณฑ์และแก้ไขผลกระทบจากการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรงแรมฯ และการเปลี่ยนแปลงการใช้งานอาคารโรงแรมเป็นอาคารสำหรับกิจการประเภทอื่น ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย และทีมปรับปรุงกฎหมาย เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านการประกอบธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ด้วยครับ

นอกจากเรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ผมยังมีเรื่องที่เป็นห่วงอีกหนึ่งเรื่อง นั่นคือการท่องเที่ยวภายหลังการฉีดวัคซีนแล้วว่าจะมีแนวทางอย่างไร เพื่อกระตุ้นให้คนไทยเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมมาตรการ Co-Payment ในภาคท่องเที่ยวและบริการ 

ผมจึงได้ให้สภาพัฒน์เข้ามาร่วมหารือกับภาคเอกชนในการหามาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งจะต้องช่วยกันคิดให้รอบคอบ เช่น การระบุตัวตนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจะใช้เกณฑ์การพิจารณาอย่างไร เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้นมีทั้งที่อยู่ในระบบและนอกระบบ ซึ่งผู้ที่อยู่นอกระบบจะดำเนินการได้ยากมาก แต่ก็พยายามหาหนทางกับเรื่องเหล่านี้ โดยจะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนและสถาบันการเงินต่างๆ ด้วยครับ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

หอการค้าฯจี้แบงก์ชาติ เพิ่มช่วยเหลือ “พักทรัพย์ พักหนี้”

หอการค้าย้ำ3 ภารกิจหลัก พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย

ธปท. เร่งรัดแบงก์ช่วยลูกหนี้เชิงรุก

ธปท.เผยอนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูแล้วกว่า 8,000ล้าน