สสว.ดัน “SME” เข้าตลาดภาครัฐเพิ่มช่องทางสร้างรายได้

10 มิ.ย. 2564 | 03:49 น.

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และกรมบัญชีกลาง ได้ร่วมกันจัดทำมาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

ตลาดภาครัฐ หมายถึง ตลาดที่มีผู้ซื้อคือหน่วยงานภาครัฐ และผู้ขาย คือผู้ประกอบการ ซึ่งมีทั้งรายใหญ่ และ SME ที่เป็นนิติบุคคล บุคคลธรรมดา หรือวิสาหกิจชุมชน ฯลฯ ดำเนินการซื้อ จ้าง เช่า แลกเปลี่ยน ฯลฯ ผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ซึ่งหน่วยงานที่จะเป็นผู้ซื้อ หรือผู้ขายกับภาครัฐ จะต้องขึ้นทะเบียนในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Thai Government Procurement: e-GP)  กับกรมบัญชีกลาง

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยจัดซื้อสินค้าและบริการของผู้ประกอบการ มีกระจายครอบคลุมทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นส่วนราชการ รองลงมาคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หน่วยงานอื่นของรัฐที่จัดตั้งโดยกฎหมายเฉพาะ สถาบันการศึกษาและสถานพยาบาลของรัฐ ฯลฯ ตลาดนี้จึงมีขนาดใหญ่และยังกระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

นายวีระพงศ์ มาลัย

ทั้งนี้ จากสถิติการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของกรมบัญชีกลาง ในปี 2562 พบว่า สินค้าที่ภาครัฐนิยมซื้อในลำดับต้นๆ มีตั้งแต่อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์  เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ด้านงานบ้านงานครัว อุปกรณ์กีฬา เครื่องดนตรี และงานเหมาบริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทำความสะอาด รักษาความปลอดภัย ดูแลต้นไม้-สนามหญ้า ฯลฯ ขณะเดียวกันยังมีสินค้าที่เป็นโอกาสสำหรับ SME รายเล็ก ๆ ที่หลายหน่วยงานมีความต้องการอยู่เสมอ เช่น อาหารสดและวัตถุดิบปรุงอาหาร ข้าวสาร ผ้าห่ม เสื้อกันหนาว ถุงยังชีพ สมุนไพรนวดสปา ยาหม่อง จ้างปรุงอาหาร จ้างเก็บขยะ ฯลฯ จึงเห็นได้ว่าตลาดภาครัฐ สามารถสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการในทุกขนาดธุรกิจ

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SME ที่ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และกรมบัญชีกลาง จึงได้ร่วมกันจัดทำมาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ภายใต้กฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมสนับสนุน ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2563) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2563 เป็นต้นมา กำหนดให้ผู้ประกอบการ SME ทุกราย แม้จะเคยขึ้นทะเบียนเป็นผู้ค้ากับภาครัฐในระบบ e-GP มาแล้ว จะต้องขึ้นบัญชีรายการสินค้าและบริการ และบัญชีรายชื่อผู้ประกอบการกับ สสว. ใน www.thaismegp.com หรือ THAI SME-GP เพื่อรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว

THAI SME-GP จึงทำหน้าที่เป็นทั้งระบบทะเบียนผู้ประกอบการและรายการสินค้า และเป็นระบบกลางสำหรับหน่วยงานภาครัฐ ในการสืบค้นรายการสินค้าหรือบริการและรายชื่อผู้ประกอบการ เพื่อเชิญชวนเข้าร่วมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตามวิธีการที่กำหนด โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME ขึ้นทะเบียนได้ง่ายๆ ด้วยตนเองทาง www.thaismegp.com

สำหรับระบบ THAI SME-GP มีการพัฒนาเมื่อปลายปี 2563 ปัจจุบันมีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนในระบบเพิ่มขึ้นต่อเนื่องรวมกว่า 20,000 ราย มีรายการสินค้ารวมกว่า 45,000 รายการ ภาคธุรกิจที่มีการขึ้นทะเบียนมากที่สุด คือ ภาคบริการ ส่วนสินค้าที่ขึ้นทะเบียนมากในลำดับต้นๆ เช่น เครื่องใช้และอุปกรณ์สำนักงาน เฟอร์นิเจอร์และเครื่องตกแต่ง รับเหมาก่อสร้าง ชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้าและแสงสว่าง เทคโนโลยีและสารสนเทศ การสื่อสารและโทรคมนาคม บริการด้านการก่อสร้างและบำรุงรักษาอาคาร ฯลฯ ส่วนจังหวัดที่มีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และเชียงใหม่

THAI SME-GP” สร้างโอกาส SME  ไทย เข้าถึงตลาดภาครัฐ ผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถขึ้นทะเบียนได้ด้วยตัวเองที่ www.thaismegp.com”   

สสว.ดัน “SME” เข้าตลาดภาครัฐเพิ่มช่องทางสร้างรายได้