เวอร์ชันใหม่ ‘ประเทศไทย 4.0’

30 เม.ย. 2559 | 00:00 น.
เรื่องที่คนไทยควรให้ความสนใจในเวลานี้ก็คือ รัฐบาลประกาศทิศทางของประเทศไทยในอนาคตแล้ว และเรียกว่า "ประเทศไทย 4.0" ตอนนี้อาจจะยังไม่คุ้น แต่ต่อไปเชื่อว่าคนไทยจะต้องคุ้นกับ "ประเทศไทย 4.0" แน่ๆ ปัญหาก็คือว่า ความหมายของ "เวอร์ชัน"ใหม่ของไทยเป็นอย่างไร

เรื่องนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติเฉพาะกิจออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 22 เมษายน 2559 ความว่า ... "คงต้องย้อนกลับไป 1.0 ก่อน คือประเทศไทยมีการพัฒนาตามหลัก 3 ยุค มาแล้ว สังคมแรก ๆ สมัยก่อน ๆ นี้ หลายสิบปีมาแล้วเป็นสังคมเกษตรกรรม บ้านเมืองเป็นเกษตรกรรม แล้วใช้แรงงานอย่างเดียวยังไง ใช้เกษตรกรออกแรง ทำไร่ทำนาอะไรทำนองนี้พอ Thailand 2.0 เริ่มมีภาคอุตสาหกรรมเข้ามาแล้ว เข้ามาอาจจะเป็นอุตสาหกรรมเบาบ้าง อะไรบ้าง อันนี้ก็เอาเครื่องจักรมาช่วยงาน มาช่วยงานเกษตรกร หรือแรงงาน พอมาอีกช่วงหนึ่ง Thailand 3.0 ไปสู่การมีอุตสาหกรรมหนักเข้ามา มีการลงทุนจากต่างประเทศบ้างอะไรบ้าง

วันนี้เจริญเติบโตมาสักเท่าไรล่ะ ถ้าพูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ อยู่ระยะนี้มานานพอสมควร ประมาณสัก 20 ปี ไม่ได้ปรับ ไม่ได้เตรียมมาตรการลดความเสี่ยงจากภายนอก ที่มีเศรษฐกิจโลกตกต่ำอะไรทำนองนี้ เรายังเข้มแข็งไม่พอ เพราะเรายังติดอยู่ตรง 3.0 เพราะฉะนั้นเราต้องก้าวไปสู่ 4.0 ให้ได้ 3.0 นั้นเกิดปัญหาอะไรก็คือว่า เราไปเน้นการพัฒนามิติเศรษฐกิจ มิติสังคมหายไป เสียสมดุล เสียเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ป่าถูกบุกรุกอะไรแบบนี้ เอามาคิดใหม่ทั้งหมดถึงได้ออกมาเป็น 4.0 คือ ยุคต่อไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ ทำอย่างไรประเทศจะพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง อย่างแท้จริง คำว่าปานกลางคือทั้งหมดต้องขึ้น ปานกลางขึ้นมาเฉพาะตรงข้างบน ตรงข้างล่างค่อนข้างจะต่ำอยู่ ผู้มีรายได้น้อย ไปติดกับดักอะไรอีก ความเหลื่อมล้ำ ความไม่สมดุลของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนต่างๆ เกิดขึ้นเร็ว แล้วพังบ้าง อะไรบ้าง ล้มบ้าง ต้องสร้างความเข้มแข็งทุกอันตอนนี้ เพราะฉะนั้นวันนี้ต้องพัฒนารูปแบบของการลงทุน โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยใหม่ ที่เรียกว่า New Economy Model เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ก็คือเราต้องใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือทำอะไรก็ตาม ต้องมีเหตุมีผล มีพอประมาณแล้วมีภูมิคุ้มกันที่ดีภายใต้เงื่อนไข ความรู้ และคุณธรรม คงเข้าใจแล้ว พูดหลายครั้งแล้ว ทำอะไรต้องมีสติ พูดง่าย ๆ ต้องระมัดระวัง ในการลงทุน ในการใช้จ่ายเงินอะไรทำนองนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องประหยัด ไม่ใช้เงินกันเลย ไม่ใช่คนละเรื่องกัน นั่นคือหลักการเรื่องประหยัด เรื่องออม อันนี้เป็นเรื่องของการใช้จ่ายพอตัว เราใช้หลักการของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมานำในการทำงานในวันนี้

เพราะฉะนั้นกระบวนการพัฒนาประเทศไทยภายใต้"ประเทศไทย 4.0"( Thailand 4.0) จะต้องสอดรับกับ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นี่คือความสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะต้องพัฒนา 20 ปีต่อไปแล้ว ที่ผ่านมาเราใช้ 1-2-3 มา 10 ปี 20 ปี มาจากอดีต ย้อนมา วันนี้เราติดอยู่ตรง 3 วันนี้เราต้องคิดว่า 4 จะต้องอยู่อีก 20 ปีต่อไป เพราะไม่ใช่ง่าย ๆ เราเริ่มวันนี้แล้ว ความสำคัญยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แล้วก็แผนการขับเคลื่อนและการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เราใช้แนวทางประชารัฐ ที่ผ่านมารัฐก็เป็นผู้ให้ส่วนใหญ่ ประชาชนก็ไม่ค่อยเข้มแข็ง เพราะว่าเขาเคยชินกับการช่วยเหลือ

วันนี้ต้องสร้างให้เขาคิดเป็น แต่ลำบากเหมือนกัน เพราะว่าชินกับแบบนี้มานาน รัฐบาลก็ต้องอดทน ประชาชนก็ต้องอดทน ประชาชนอาจจะร้องเรียนบ้างอะไรบ้าง เพราะว่าประเทศเราอย่างที่บอก คนประกอบอาชีพรายได้น้อยนี่ 40 ล้านคน เท่ากับประเทศบางประเทศเขามีเลย บางประเทศมีคน 4 ล้าน 5 ล้าน 6 ล้าน 10 ล้าน ประมาณนั้น ประเทศอาเซียนที่รวยที่สุดในอาเซียน มีคน 4-5 ล้านเอง เรามีเกือบ 70 ล้าน ต่างกันตรงนี้ มันทำง่ายทำยาก เพราะฉะนั้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องปฏิรูปทั้งหมด ทั้งโครงสร้าง ทั้งในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นในภาคธุรกิจ เกษตรกร หรืออาชีพอิสระ หรือว่าอื่น ๆ ทั้งหมด ต้องพันไปอีกหลายเรื่อง เรื่องการศึกษา เรื่องแรงงาน มากมายไปหมด ต้องเตรียมการให้พร้อม ไม่เช่นนั้น 20 ปีข้างหน้าเราเดินไม่ได้"...นี่ล่ะครับแนวคิดแบบก้าวหน้าเขาคิดกันอย่างนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,152 วันที่ 28 - 30 เมษายน พ.ศ. 2559