กลุ่มปตท.เริ่มขยับลงทุนตปท. เร่งพัฒนาแอลเอ็นจีที่โมซัมบิกเดินหน้าปิโตรเคมีที่สหรัฐฯ

01 พ.ค. 2559 | 03:00 น.
ปตท.สผ.เร่งโครงการโมซัมบิกเดินหน้าตามแผนปลายปี 2559 หวังป้อนแอลเอ็นจีให้ไทย 2.6 ล้านตันภายในปี 2563 พร้อมรอความชัดเจนกระทรวงพลังงานสรุปแหล่งบงกชภายในสิ้นปีนี้ หวั่นกระทบการผลิตในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า ขณะที่ "พีทีทีจีซี" เดินหน้าโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐฯ คาดชัดเจนต้นปีหน้า

[caption id="attachment_48897" align="aligncenter" width="375"] สมพร ว่องวุฒิพรชัย  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) สมพร ว่องวุฒิพรชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)[/caption]

นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานว่า ขณะนี้โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน (ปตท.สผ. ถือหุ้น 8.5%) อยู่ระหว่างเจรจารายละเอียดข้อตกลงกับทางภาครัฐโมซัมบิกเพื่อจัดหาก๊าซแอลเอ็นจีป้อนให้กับประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปลายปีนี้ และหลังจากนั้นจะเริ่มผลิตได้ภายในปี 2563-2564 โดยมีทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามข้อตกลง (เอ็มโอยู) เพื่อซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) 2.6 ล้านตันต่อปีแล้ว

ทั้งนี้ แหล่งโมซัมบิกนับว่าเป็นโครงการสำคัญที่จะป้อนแอลเอ็นจีเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาว(พีดีพี 2015) จะมีความต้องการใช้แอลเอ็นจีเพิ่มขึ้น ซึ่งในแผนปลายปี 2579 ต้องนำเข้าแอลเอ็นจี 22 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้หากโครงการมีความชัดเจนด้านการพัฒนา คาดว่าจะเริ่มใส่เงินลงทุนได้ภายในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ.มองว่าราคาแอลเอ็นจีในโครงการโมซัมบิกสามารถแข่งขันกับแหล่งอื่นได้ ปัจจุบันแอลเอ็นจีในตลาดเฮนรี่ฮับอยู่ที่ประมาณ 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันล้านบีทียู

"ปตท.สผ.ยังเน้นลงทุนในประเทศที่มีประสิทธิภาพ อาทิ ไทยและเมียนมา ซึ่งมีโครงการลงทุนประมาณ 70-80% และในส่วนโครงการโมซัมบิกที่จะมีความชัดเจนขึ้น ซึ่งเฟสแรกจะมีกำลังการผลิตรวม 12 ล้านตัน ตอนนี้มีสัญญาขายแอลเอ็นจีแล้ว 80% เป็นของ ปตท. 2.6 ล้านตันเพื่อป้อนในไทย นอกจากนี้ ปตท.สผ.ยังสนใจลงทุนในประเทศอื่นๆ อาทิ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งศึกษาลงทุนโครงการเชลล์ออยและเชลล์แก๊สในสหรัฐฯด้วย"

นายสมพร กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการบงกชในอ่าวไทย ซึ่งจะหมดสัญญาในปี 4-5 ปีข้างหน้า ซึ่งทางภาครัฐอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางบริหารจัดการว่าจะดำเนินการโครงการดังกล่าวอย่างไร ซึ่งควรมีความชัดเจนภายในปลายปีนี้ เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการผลิต หากบริษัทสามารถเดินหน้าโครงการต่อได้ ก็จะลงทุนแท่นขุดเจาะเพิ่มเติม เพื่อรักษาระดับการผลิต ปัจจุบันแหล่งบงกช ผลิตอยู่ที่ 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็นประมาณ 20% ของความต้องการใช้ก๊าซในประเทศทั้งหมดที่ 4.5-5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน อย่างไรก็ตามหากภาครัฐเปิดให้เอกชนเข้าประมูล ปตท.สผ.ก็มีความพร้อม

นอกจากนี้ ปตท.สผ.ได้ปรับลดงบลงทุนในปีนี้ลง 10% จากที่ประกาศไว้ 3.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าราคาน้ำมันจะขยับขึ้นมาเล็กน้อยก็ตามมาอยู่ที่ระดับ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลก็ตามสำหรับในปี 2559 ปตท.สผ. กำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจไว้ 3 ด้าน ได้แก่ 1.RESET ปรับฐานต้นทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแข่งขัน 2.REFOCUS เน้นการลงทุนในพื้นที่ที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อการลงทุนในไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะเมียนมา ลดสัดส่วนการลงทุนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ให้ความสำคัญกับการพิจารณาโครงการโมซัมบิก และ 3.RENEW กำหนดกลยุทธ์เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยร่วมกับ ปตท. ในธุรกิจแอลเอ็นจี สร้างพันธมิตรกับบริษัทน้ำมันในต่างชาติในด้านการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมทั้งศึกษาการลงทุนในพลังงานทางเลือก

ด้านนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีจีซี เปิดเผยว่า สำหรับแผนการลงทุนโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้อีเทนจากเชลล์แก๊สเป็นวัตถุดิบ อยู่ระหว่างการศึกษาด้านวิศวกรรม การหาพันธมิตรและลูกค้า รวมทั้งการจัดหาเงินกู้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการโครงการดังกล่าวหรือไม่ในปลายปีนี้หรือต้นปี 2560 แต่จากการศึกษาเบื้องต้นโครงการดังกล่าวเดินหน้าไปด้วยดี เนื่องจากราคาพลังงานและค่าก่อสร้างลดลง เนื่องจากผู้รับเหมามีงานก่อสร้างน้อย รวมทั้งวัตถุดิบราคาถูก และสภาพคล่องในตลาดการเงินมีมาก จึงไม่มีปัญหาในการจัดหาเงินกู้

ทั้งนี้โครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ที่สหรัฐอเมริกาจะประกอบด้วย โรงงานผลิตเอทิลีนแครกเกอร์ขนาด 1 ล้านตันต่อปี และมีโรงงานต่อเนื่อง ประกอบด้วย โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE) 7 แสนตันต่อปี โรงงานผลิตโมโนเอทิลีนไกลคอล (MEG) 5 แสนตันต่อปี และโรงงานผลิตเอทิลีนออกไซด์ (EO) 1 แสนตันต่อปี เงินลงทุนเบื้องต้น 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,152 วันที่ 28 - 30 เมษายน พ.ศ. 2559