เรียก บิ๊ก อ.ส.ค.สอบ หลังโควตานมโรงเรียน ยอดหด สูงสุดประวัติศาสตร์

08 มิ.ย. 2564 | 12:45 น.

วงการโคนมสะพัด "มนัญญา" เต้นเรียก "บิ๊ก" อ.ส.ค.สอบ หลังโดนปรับลดโควตา "นมโรงเรียน” ยอดหด สูงสุดประวัติศาสตร์ เจอโรงงานนม 5 ตัน แผลงฤทธิ์ ด้าน 4 ราย อกหัก ร้องไม่เป็นผล

โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ปีการศึกษา 2564 ร้อนระอุ โดยเฉพาะพื้นที่เขต3 กลุ่ม(เขต 4) ประกอบด้วย จ.อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย กาฬสินธุ์  เลย นครพนม มหาสารคาม หนองบัวลำภู สกลนคร มุกดาหาร บึงกาฬ ร้อยเอ็ด และขอนแก่น มีผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่นเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ เพิ่งปิดฉากแบ่งเค้ก “นมโรงเรียน”  ไปเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา มีความคืบหน้าตามลำดับ

 

แหล่งข่าวผู้ประกอบการนมโรงเรียนในกลุ่มพื้นที่ 3 เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ผลพวงการออกแบบหลักเกณฑ์นมโรงเรียนใหม่ ประจำปี 2564 ทำให้สหกรณ์/โรงนมเอกชน แตกสาขา โรงงานละ 5 ตัน/วัน จะเข้าโครงการนมโรงเรียนโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องไปหารยาว แล้วจะให้เครดิตกับกลุ่มนี้เป็นลำดับแรก ผลการจัดสรรในรอบดังกล่าวนี้ทำให้ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ถูกปรับลดโควตา ยอดหด ต่ำสุดประวัติศาสตร์ เฉพาะพื้นที่เขต 3 โควตา นมโรงเรียนโดนปรับลด หายไป 95,994 ถุง/กล่อง/วัน  (อินโฟกราฟฟิก)

 

โดน โรงงาน 5 ตัน/วัน แผลงฤทธิ์

 

จากกรณีดังกล่าวนี้ ทำให้นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำกับ อ.ส.ค. เรียกผู้บริหาร อ.ส.ค. ไปต่อว่า ว่าทำอย่างไรให้โควตานมโรงเรียนหลุดโดนปรับลดยอดหาย สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ ยังไม่นับรวมพื้นที่เหลืออื่นอีก

 

ปีนี้จบแล้ว อย่างไรก็ดี ต้องลุ้นว่ากติกา ปีหน้า จะยังคงเดิม หรือเปลี่ยนเปลงหรือไม่ ต้องลุ้นกันเป็นปีต่อปี ส่วนผู้ที่ร้องเรียน 4 ราย (สหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด,บริษัททุ่งกุลาแดรี่ฟูดส์ จำกัด (บจก.), บจก.อุดรแดรี่ฟู้ดส์ และสหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จำกัด) ก็ไม่เป็นผลเพราะตอนที่ไปยื่นศาลปกครอง ความเสียหายยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่ได้อยู่ในสถานะเป็นผู้เสียหายเลย แนะเวลาเล่น ควรจะไปเล่น การประกาศหลักเกณฑ์ออกโดยมิชอบ คราวที่แล้ว 5 ตัน/วัน ให้ผู้ประกอบการรายเดิม แต่รอบนี้คำว่า “รายเดิม” ถูกตัดออก ไม่มี ควรจะเล่นประเด็นนี้

 

 

บรรยากาศในห้อง

 

ส่วนการตัดสินของผู้บริหารจังหวัดขอนแก่น ในฐานะประธานอนุกรรมการฯ อธิบายดี มีขั้นตอนที่มาของน้ำนมดิบ 5 ตัน/วัน มาอย่างไร และอำนาจหน้าที่ทำได้ขนาดไหน เพราะในหลักเกณฑ์ไม่ได้ระบุไว้ว่าให้ตรงกับเอ็มโอยู แล้วไม่ได้ให้อำนาจไว้ ให้ดูเฉพาะแค่พันธสัญญาเท่านั้น เข้าใจได้ว่าอำนาจมีไม่ถึงเรื่องเอ็มโอยู ซึ่งหลักเกณฑ์ในกลุ่มที่3 ใช้ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ไม่ได้อิงกลุ่มอื่น

 

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า กติกาต้องชัดหากใช้หลักเกณฑ์เช่นปีนี้ เชื่อว่าทุกคนจะต้องสร้างโรงงาน 5 ตัน ออกมาเป็นลักษณะนี้ เพราะหากยิ่งเกิดโรงงาน 5 ตัน/วัน เพิ่มขึ้น ต่อไปในอนาคตนมเกษตรกรจะขายไม่ได้ แล้วเกษตรกรจะอดโอกาสในการขายน้ำนมดิบเพิ่ม แล้วปัญหาจะหนักขึ้นไปเรื่อย

 

ส่วนอีกกลุ่มเห็นช่องโอกาส ที่จะได้เพิ่มโควตา นมโรงเรียน หากไปสร้างโรงงานเพิ่ม ขึ้นเพราะคิดว่าจะได้สิทธิพิเศษแบบปีนี้ อีก แต่หากหลักเกณฑ์ไม่เหมือนปีนี้ จะเสี่ยงอีก ดังนั้นหลักเกณฑ์ต้องชัดเจน ว่าจะเป็นรูปแบบไหน

อนึ่ง นมโรงเรียน 1.4 หมื่นล้าน ตามมติ ครม. ให้จัดสรรแบ่งโควตา 5 ภาค 

 

กลุ่ม 1 จะประกอบ จ.อยุธยา นนทบุรี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี สระบุรี ลพบุรี และปทุมธานี ในคณะดังกล่าวนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีเป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดสระบุรีเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ



กลุ่ม 2 (เขต 2 และ 3 ) ประกอบด้วย จ.นครนายก ปราจีนบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา จันทบุรี สมุทรปราการ สระแก้วระยอง ชลบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และสุรินทร์ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมาเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

 

กลุ่ม 3 (เขต 4) ประกอบด้วย จ.อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย กาฬสินธุ์  เลย นครพนม มหาสารคาม หนองบัวลำภู สกลนคร มุกดาหาร บึงกาฬ ร้อยเอ็ด และขอนแก่น ซึ่งคณะนี้จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่นเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ


 

กลุ่มที่ 4 (เขต 5,6) พื้นที่ภาคเหนือทั้งหมด ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ พะเยา น่าน สุโขทัย กำแพงเพชร อุทัยธานี พิษณุโลก ตาก อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ



กลุ่มที่ 5 (เขต 7,8,9 ) ประกอบด้วย จ.กาญจนบุรี เพชรบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี ราชบุรี กระบี่ นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง พัทลุง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีเป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดราชบุรีเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

 

สำหรับหลักการของก็ให้แต่ละกลุ่มไปพิจารณาพื้นที่ของตนเองมีน้ำนมดิบปริมาณเท่าไร หากไม่เพียงพอ ก็ให้มองเขตใกล้เคียง หรือ กลุ่มไหนที่มีน้ำนมดิบเกิน ก็ให้ประสานไปที่กลุ่มข้างเคียงเช่นเดียวกัน โดยหลักให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นประธานในแต่ละคณะให้ประสานกันได้ ส่วนกลางจะออกแค่หลักเกณฑ์อย่างเดียวเท่านั้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง