เอกชนยังไม่มั่นใจเศรษฐกิจจะฟื้น 13 กลุ่มอุตฯคำสั่งซื้อลดลง

01 พ.ค. 2559 | 08:00 น.
ภาคอุตสาหกรรมยังไม่เชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2 จะฟื้นได้ ผลสำรวจ ส.อ.ท.ใน 3 เดือนข้างหน้า ชี้ให้เห็นผู้ประกอบกังวลกับความผันผวน จากปัจจัยเศรษฐกิจโลก ปัญหาภัยแล้ง การชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภค และการส่งออก ส่งผลกระทบกับยอดคำสั่งซื้อ เผยมี 13 กลุ่มอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากยอดคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศลดลง

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงทิศทางภาวะเศรษฐกิจภายหลังเข้ารับตำแหน่งว่า หากพิจารณาจากผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ยังไม่มีความเชื่อมั่นว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ จะฟื้นตัวได้ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้กัน เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ในระดับ 98.3 ลดลงจากที่ได้ทำการสำรวจไว้ก่อนหน้าที่ 100.1

โดยในส่วนของอุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 95.8 จากการสำรวจก่อนหนาอยู่ที่ 96 อุตสาหกรรมขนาดกลาง ปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 99.1 จากที่สำรวจก่อนหน้าที่ 99.6 และอุตสาหกรรมขาดใหญ่ ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 99.4 ลดลงจากการสำรวจก่อนหน้าที่ 104.1

ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงกังวลกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจ ที่มาจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก ปัญหาภัยแล้ง การระมัดระวังในการใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศ ต้นทุนประกอบการปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของประเทศลดลงจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค ซึ่งจะมีผลต่อยอดคำสั่งซื้อสินค้าปรับตัวลดลง

นายเจน กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ หากพิจารณาความเชื่อมั่นของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงจะอยู่ใน 13 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม หนังและผลิตภัณฑ์หนัง รองเท้า แก้วและกระจก เซรามิก เครื่องจักรกลการเกษตร พลังงานทดแทน เยื่อกระดาษ การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ หัตถอุตสาหกรรม การจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีชีวภาพ

โดยในส่วนของอุตสาหกรรมรองเท้าที่ปรับตัวลดลง เช่น รองเท้าแตะและส่วนประกอบของรองเท้ากีฬา มียอดการส่งออกไปตลาดเอเชีย สหรัฐอเมริกา และยุโรป ลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่รองเท้าแฟชั่น รองเท้ากีฬา มียอดขายในประเทศลดลง ส่วนหัตถอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าทอมือ ผ้าลูกไม้ ผ้าบาติก มีการส่งออกลดลง เนื่องจากจีนชะลอการสั่งซ้อ ขณะที่ผ้าพันคอ กระเป๋าผ้า ของที่ระลึกต่างๆ มียอดขายในประเทศลดลง ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ประเภทเส้นใยเรยอน เส้นด้าย ผ้ายืด มียอดการส่งออกลดลงจากตลาดเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง และผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าดิบ เส้นด้าย มียอดคำสั่งซ้อในประเทศลดลง

ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เช่นเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีการส่งออกไปตลาดอาเซียนลดลง เนื่องจากประเทศคู่แข่งทั้งอินโดนีเซียและจีนมีต้นทุนผลิตต่ำกว่า นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเซรามิก ที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อเครื่องใช้บนโต๊อาหาร เช่น จาน ชาม ถ้วยเซรามิก ลดลงจากตลาดอาเซียน ขณะที่ยอดสุขภัณฑ์ และกระเบื้องปูพื้นมียอดขายในประเทศลดลง อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น อะไหล่รถขุด รถลาก มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ เช่น ผลิตภัณฑ์กระดาษคราฟต์มียอดคำสั่งซื้อจากตลาดสหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป ลดลง เป็นต้น

ในขณะที่ความเชื่อมั่นของกลุ่มพลังงานทดแทนปรับตัวลดลงนั้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์แผงโซลาร์เซลล์ มียอดขายลดลงประกอบกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,152 วันที่ 28 - 30 เมษายน พ.ศ. 2559