ผวา! โควิดสายพันธุ์อินเดียครองประเทศ "หมอธีระวัฒน์" จี้เร่งฉีดวัคซีนให้เกิน 70% ใน 2 เดือน

08 มิ.ย. 2564 | 01:25 น.

หมอธีระวัฒน์ห่วงโควิดสายพันธุ์อินเดียกลายเป็นสายหลักในประเทศไทย จี้เร่งฉีดวัคซีนให้เกิน 70% ใน 2 เดือนคุมสายพันธุ์ธรรมดาและอังกฤษ

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha) โดยมีข้อความว่า
    นาทีแรกที่เจอสายพันธุ์ใหม่ในชุมชน ที่ไม่ใช่ที่อยู่ใน กักตัวจาก ตปท จะเรียกว่าเป็น ชนิดสืบสาวราวเรื่องไม่ได้ หรือ untraceable และแสดงว่า “ไปแล้ว” ไม่มีทางคุมได้ ดังที่เกิดครั้งแรกที่ หลักสี่ และเราตรวจคร่าวๆ เท่านั้น จากคัดกรองก็เจอเข่นกันตั้งแต่  2 สัปดาห์ที่แล้ว ตรงตามลักษณะที่ว่าแต่แรก ด้วยความที่แพร่เร็วกว่าธรรมดา
    สายแอฟริกา ที่ตากใบ เป็นลักษณะเดียวกัน และแสดงว่าต้องแพร่หลายแล้วในบริเวณนั้น
    ทั้งหมดเป็นเหตุผลที่ ต้องเร่งฉีดให้เร็วที่สุด คลุมให้ได้ มากที่สุดเกิน 70% ใน 2 เดือน อย่างน้อยก็ยัง กดสายธรรมดาและสายอังกฤษไว้ได้ และจะได้ไม่มีคนป่วย อาการหนักล้นโรงพยาบาล ที่ขณะนี้ที่นี่เต็มแล้ว และจากนั้น สายอินเดีย แอฟริกา และอังกฤษเดิมที่จะมีรหัสผิดเพี้ยนไปอีก จะเข้ามาครองสัดส่วนเป็นสายหลัก แเละอาจทำให้แม้คนที่ได้วัคซีนไปแล้ว อาจมีเล็ดรอด ติดเชื้อได้ เข้าโรงพยาบาลได้ และถ้าเกิดเหตุเช่นนั้น ก็ต้องถึงเวลาฉีดใหม่อีก คราวนี้ อาจต้องเป็นวัคซีนรุ่นใหม่ (ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี)

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
    ทั้งนี้ โควิด-19 (Covid-19) สายพันธุ์อินเดียถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่ต้องระวังเป็นอย่างมาก ด้วยความที่วัคซีนในปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิผลเท่าใดนัก  โดยจะเห็นได้จากก่อนหน้านี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้นำเสนอความคิดเห็นของ น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ซึ่งได้โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยระบุว่า ต้องระวัง พบติดโควิดไวรัสเดลต้าหรือสายพันธุ์อินเดียมากถึง 235 ราย คิดเป็น 6% ใน 10 จังหวัด
    ประเด็นที่ "หมอเฉลิมชัย" กล่าวถึงก็คือ ที่ต้องให้ความสนใจหรือระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะไวรัสสายพันธุ์อินเดียเมื่ออยู่ร่วมกับสายพันธุ์อังกฤษ  จะมีการแพร่ได้เร็วกว่าถึง 40% จึงขยายตัวและครอบครองพื้นที่การติดเชื้อส่วนใหญ่ไว้ได้ ดังที่ปรากฏในประเทศอังกฤษ  ซึ่งเดิมอังกฤษเอง ก็เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมจากจีน ต่อมาเมื่อมีกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งแพร่ได้เร็วกว่า 70% ก็ครอบครองการติดเชื้อของอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีสายพันธุ์อินเดียเข้ามา ก็ครอบครองแทนสายพันธุ์อังกฤษเดิม

    สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ สายพันธุ์เดลต้าดูท่าทางจะไม่ค่อยกลัววัคซีน ทั้งของ Pfizer (ไฟเซอร์)และ AstraZeneca (แอสตร้าเซนเนก้า) จึงทำให้อังกฤษ ซึ่งฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งไปแล้วถึง 60% นั้น ตอนที่เป็นสายพันธุ์อัลฟ่า ก็ทำให้จำนวนติดเชื้อและจำนวนเสียชีวิตลดลง แต่เมื่อผู้ติดเชื้อเริ่มพบเป็นสายพันธุ์เดลต้าหรืออินเดีย ก็เริ่มกลับมามีผู้ติดเชื้อมากขึ้นอีก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :