อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “ทรงตัว” ที่ระดับ 31.18 บาท/ดอลลาร์

08 มิ.ย. 2564 | 00:39 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มทรงตัวในกรอบ 31.10 - 31.25 บาทต่อดอลลาร์ แต่ยังมีปัจจัยอาจอ่อนค่า จากแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนต่างชาติในระยะสั้น

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.18 บาทต่อดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า -มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.10-31.25 บาท/ดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท  เรามองว่า เงินบาทยังคงมีแนวโน้มทรงตัวในกรอบ 31.10 - 31.25 บาทต่อดอลลาร์ เพราะแม้ว่า เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลง และมีโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ หนุนให้เงินบาทแข็งค่า แต่ทว่า เงินบาทก็ยังมีปัจจัยอาจอ่อนค่า จากแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนต่างชาติในระยะสั้นที่อาจกลับมาได้อีกครั้ง หลังการแจกจ่ายวัคซีนในไทยก็ดูจะมีปัญหาอยู่ และ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น 

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.10-31.25 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในโหมดระมัดระวังตัว โดยผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างรอคอยการรายงานข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในวันพฤหัสฯ นี้ ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนสถานะถือครองสินทรัพย์อย่างมีนัยยะสำคัญต่อไป ทั้งนี้มีเพียงหุ้นในกลุ่มเทคฯ ที่สามารถปรับตัวขึ้นได้ หลังบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงทรงตัวใกล้ระดับ 1.57% ทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น 0.49% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดลบ 0.08%

 

ขณะที่ ความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปที่สะท้อนผ่าน รายงานความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) ในเดือนมิถุนายน ที่ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 28 จุด สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ก็ได้ช่วยหนุนให้ ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปิดบวกราว 0.20%  ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอคอยติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสฯ นี้เช่นกัน

 

ทางด้านตลาดบอนด์ โดยรวมบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1.57% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงรอจับตารายงานตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) ซึ่ง หากเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นไปมาก ก็อาจทำให้ ความกังวลเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น รวมถึงความกังวลว่าเฟดอาจลดการอัดฉีดสภาพคล่องเร็วขึ้น กดดันให้ ผู้เล่นในตลาดบอนด์ลดสถานะถือครองบอนด์สหรัฐฯ 10ปี ลง และอาจทำให้ ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นได้ไม่ยาก

 

ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่ระดับ 89.96 จุด ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปที่ดูสดใสขึ้น ขณะที่บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ก็ทรงตัวในระดับเดิม โดยล่าสุด เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.2193 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนเงินเยน (JPY) ก็แข็งค่าขึ้น ใกล้ระดับ 109.27 เยนต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ก็ได้กลับมาหนุนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาทองคำ ปรับตัวขึ้นและสามารถยืนเหนือระดับ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้

 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม แนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะช่วยหนุนให้ความต้องการแรงงานยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนผ่าน ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTS Job Openings) ที่อยู่ในระดับสูงถึง 8.4 ล้านตำแหน่ง

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดการเงินยังคงมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปที่ดีขึ้น สะท้อนจาก ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนมิถุนายนก็มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 86 จุด หนุนโดย ภาพเศรษฐกิจเยอรมนีที่ฟื้นตัวดีขึ้น หลังการเร่งแจกจ่ายวัคซีนสามารถคุมการระบาดได้ดีขึ้นและช่วยให้รัฐบาลทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown

 

ขณะที่ในฝั่งเอเชีย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในโซนเอเชียยังคงได้รับแรงหนุนจากภาคการส่งออกเป็นสำคัญ สะท้อนผ่านยอดการส่งออกของหลายประเทศที่โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะไต้หวันที่ยอดการส่งออก (Exports) ในเดือนพฤษภาคมจะโตขึ้นกว่า 30%y/y จากความต้องการชิพและแผงวงจรที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (8 มิ.ย.) เคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ที่ระดับ 31.18-31.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ใกล้เคียงระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 31.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยแม้เงินดอลลาร์ฯ จะยังไม่ฟื้นตัวขึ้น เนื่องจากขาดแรงหนุนใหม่ๆ มากระตุ้น แต่แรงขายเงินดอลลาร์ฯ ก็เริ่มมีสัญญาณชะลอลง โดยนักลงทุนรอติดตามข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ (CPI) เดือนพ.ค. ซึ่งจะรายงานออกมาในวันพฤหัสบดีนี้ โดยตัวเลขคาดการณ์ CPI เดือนพ.ค. ของนักวิเคราะห์อยู่ที่ 4.7% YoY ขยับขึ้นจาก 4.2% YoY ในเดือนเม.ย.

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 31.15-31.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยติดตามจะอยู่ที่สถานการณ์โควิด 19 และแผนการจัดหาวัคซีนของไทย ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนเม.ย. ของสหรัฐฯ และตัวเลข GDP ไตรมาส 1/64 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน