สสว. หนุน “SME” เข้า THAI SME-GP เพิ่มช่องทางสร้างรายได้

07 มิ.ย. 2564 | 07:19 น.

มาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ได้ให้สิทธิประโยชน์กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ที่ขึ้นทะเบียนรายชื่อและรายการสินค้าและบริการ ไว้กับ สสว. ในระบบ THAI SME-GP หรือ www.thaismegp.com

มาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่ง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดำเนินการร่วมกับ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ภายใต้กฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ได้ให้สิทธิประโยชน์กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ที่ขึ้นทะเบียนรายชื่อและรายการสินค้าและบริการ ไว้กับ สสว. ในระบบ THAI SME-GP หรือ www.thaismegp.com

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. ปิดเผยว่า มาตรการนี้ กำหนดให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงสถาบันการศึกษาและสถานพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ ฯลฯ ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง สินค้าและบริการจากผู้ประกอบการ SME ที่ขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP ของ สสว. ในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างรายได้ให้กับ SME ทั่วประเทศคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 4 แสนล้านบาท

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว.

สิทธิประโยชน์ที่ SME ได้รับ จากการขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP จะครอบคลุมการจัดซื้อจัดจ้างใน 2 วิธี คือ 

วิธีคัดเลือก กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐฯ ซื้อหรือจ้าง SME ในพื้นที่ตั้งของหน่วยงานก่อน โดยหน่วยงานค้นหารายการสินค้าของ SME ในระบบ THAI SME-GP ในพื้นที่จังหวัด ไม่น้อยกว่า 3 ราย หากไม่ครบจึงเลือกจากบัญชีทั่วประเทศ เพื่อเชิญชวนให้เข้าร่วมเสนองาน และทำการคัดเลือกตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งวิธีนี้จะสร้างโอกาสให้ SME ในพื้นที่ก่อน

วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ที่ใช้เกณฑ์ราคาต่ำสุด จะให้แต้มต่อด้านราคาแก่ SME ไม่เกินร้อยละ 10 ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาส SME ในการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือผู้ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนในระบบฯ ได้มากขึ้น

สำหรับผู้ประกอบการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรการ THAI SME-GP จะครอบคลุมทั้งกลุ่มผู้ค้ากับภาครัฐเดิม หรือเป็นผู้ที่ลงทะเบียนในระบบ e-GP ของกรมบัญชีกลางไว้แล้ว และกลุ่มที่ยังไม่เคยค้าขายกับภาครัฐ ที่มีรูปแบบตั้งแต่ นิติบุคคล บุคคลธรรมดา หรือวิสาหกิจชุมชน มีคุณสมบัติเป็นตามนิยามของ สสว. คือ

ผู้ประกอบการในภาคการผลิต ต้องมีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี

ผู้ประกอบการในภาคการค้าและภาคบริการ ต้องมีรายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ดีเมื่อประมวลถึงสิทธิประโยชน์ที่ SME ได้รับจากการขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP จะมีตั้งแต่

1. โอกาสได้รับการซื้อหรือจ้างจากหน่วยงานของรัฐในจังหวัดเดียวกันก่อนผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดอื่น

2. สามารถแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้น ด้วยแต้มต่อในการประมูลงานด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) โดยเสนอราคาได้สูงกว่าราคาต่ำสุดไม่เกินร้อยละ 10 จะเป็นผู้ชนะการประกวดราคา

3. สามารถเข้าถึงตลาดภาครัฐที่มีมูลค่าสูงกว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี

4. ได้รับการพัฒนาจาก สสว. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้เข้าถึงตลาดภาครัฐ เช่น การพัฒนาคุณภาพ/มาตรฐานสินค้าหรือบริการ การสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการทั้งก่อนและหลังการส่งมอบสินค้า/บริการ ฯลฯ

5. สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ

THAI SME-GPสร้างโอกาส SME  ไทย เข้าถึงตลาดภาครัฐ  ผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถขึ้นทะเบียนได้ด้วยตัวเองทาง www.thaismegp.com