จับตาประเด็นเศรษฐกิจเวทีหาเสียง ศึกตัวแทนชิงตำแหน่งปธน.สหรัฐฯ (ตอนจบ)

01 พ.ค. 2559 | 11:00 น.
ขณะที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจากพรรคเดโมแครตซึ่งเป็นพรรครัฐบาลปัจจุบันเน้นนโยบายการค้าแบบการค้าเสรี หรือ free trade ผู้สมัครจากพรรคฝ่ายค้านคือรีพับลิกันหันมาเน้นชูนโยบาย fair trade หรือการค้าที่เป็นธรรม เป้าหมายเพื่อโจมตีฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันว่า นโยบายบุกทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับนานาประเทศนั้นสุดท้ายแล้วอาจไม่เป็นธรรมสำหรับอุตสาหกรรมและผู้ใช้แรงงานในสหรัฐฯ เพราะถูกถล่มด้วยสินค้านำเข้าราคาถูกกว่า อีกทั้งการผลิตในประเทศยังแข่งขันกับการผลิตในต่างแดนไม่ได้ ทำให้หลายโรงงานต้องปิดตัวลงเพื่อไปลงทุนผลิตในประเทศที่ต้นทุนแรงงานถูกกว่าและชาวอเมริกันต้องสูญเสียตำแหน่งงานไป

[caption id="attachment_48910" align="aligncenter" width="500"] usa usa[/caption]

ทั้งนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานบริษัททรัมป์ออร์กาไนเซชั่นจากนิวยอร์ค และนายเท็ด ครูซ วุฒิสมาชิกจากรัฐเท็กซัส คู่แข่งจากพรรคเดียวกัน (รีพับลิกัน) ออกตระเวนหาเสียงโดยชูประเด็นการเพิ่มศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อดึงการจ้างงานกลับสู่สหรัฐอเมริกาหลายล้านตำแหน่ง "การจ้างแรงงานจะกลับคืนจากจีนและเม็กซิโก สู่สหรัฐอเมริกา" นายครูซกล่าวขณะขึ้นเวทีหาเสียงที่โรงงานผลิตแห่งหนึ่งเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่นายทรัมป์ซึ่งกวาดชัยชนะจากการเลือกตั้งขั้นต้นระดับตัวแทนพรรคมาหลายพื้นที่รวมทั้งรัฐมิชิแกนซึ่งเป็นที่ตั้งอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ ประกาศว่า เขาคือผู้ที่เข้าใจถึงปัญหาของอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯได้ดีที่สุด ทั้งยังระบุว่า ความเสียเปรียบทางการค้า (ของสหรัฐฯ)ได้ก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจอื่นๆตามมา และส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน

อย่างไรก็ตาม นายเอสวาร์ ปราสาท นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ให้ความเห็นว่า การหาเสียงในลักษณะนี้เป็นรูปแบบเดิมๆที่นักการเมืองพรรคไหนก็ตามนิยมใช้เพื่อนำมาเป็นข้ออ้างที่ง่ายที่สุดเวลามีปัญหาทางเศรษฐกิจภายในประเทศก็จะมักจะโทษว่าเพราะได้รับการปฏิบัติทางการค้าไม่เป็นธรรม (จากประเทศคู่ค้า) "การโทษเรื่องประเด็นการค้าเป็นข้ออ้างง่ายๆที่จะเบี่ยงเบนความสนใจไปจากปัญหาทางเศรษฐกิจภายในประเทศ"

จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวอเมริกันโดยหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์และสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสนิวส์เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า 61% ของประชาชนที่ตอบแบบสอบถาม ต้องการให้มีข้อจำกัดการค้าเพิ่มมากขึ้นเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศของสหรัฐฯเอง มีการตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่จะตอบคำถามลักษณะนี้เหมือนๆกันทุกปีที่การเลือกตั้ง คือ ต้องการให้มีข้อจำกัดทางการค้าเพิ่มมากขึ้น และผู้ตอบแบบสอบถามส่วนหนึ่งก็ต้องการให้มีการกลับไปทบทวน เจรจา และแก้ไขข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือนาฟต้า ที่สหรัฐอเมริกาทำไว้กับแคนาดาและเม็กซิโก เนื่องจากมองว่า ข้อตกลงดังกล่าวทำให้สหรัฐอเมริกาเสียเปรียบ และแรงงานสหรัฐฯก็ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก

นายชาร์ลส์ แชงก์ เป็นผู้ให้การสนับสนุนพรรครีพับลิกันคนหนึ่งจากรัฐเพนซิลวาเนีย ที่ออกมาให้ความเห็นว่า ในการเลือกตั้งปีนี้ เขาจะเลือกใครก็ตามที่สัญญาว่าจะกลับไปเจรจากับบรรดาประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ เพื่อเจรจาทบทวนข้อตกลงการค้าเสรีที่เคยทำกันไว้ "ผมเชื่อว่าข้อตกลงเหล่านี้มาจากความคิดที่ดีและความตั้งใจที่ดี แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือ โรงงานของเราอยู่ไม่ได้ ต้องปิดตัวหลายแห่ง ซึ่งหากเป็นแบบนี้ก็หมายความว่ามันมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นในระบบที่เราใช้อยู่" อย่างไรก็ตาม เขายอมรับข้อดีของข้อตกลงการค้าเสรีที่ทำให้สินค้าหลายอย่างในชีวิตมีราคาถูกลงเพราะนำเข้ามาจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า

ขณะเดียวกัน ลินดา ยังก์ ซึ่งสูญเสียงานในโรงงานเมื่อปี 2541จากผลพวงของข้อตกลงนาฟต้า และกลายมาเป็นเจ้าของร้านอาหารในปัจจุบัน เปิดเผยว่า เธอตัดสินใจลงคะแนนให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ลงสมัครเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งขั้นต้นในรัฐจอร์เจียเมื่อเร็วๆ นี้ เพราะนโยบายด้านการค้าของเขา ที่ต้องการตอบโต้ประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ และปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ ด้วยการตั้งกำแพงภาษีสินค้าราคาถูกจากจีนและเม็กซิโกในอัตราสูง นอกจากนี้ยังจะดึงการผลิตกลับสู่สหรัฐฯ ด้วยการเรียกเก็บภาษีอัตราสูงจากบริษัทอเมริกันที่ออกไปตั้งโรงงานผลิตนอกประเทศและตั้งภาษีอัตราสูงเมื่อบริษัทเหล่านี้นำสินค้ากลับมาจำหน่ายในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม จุดยืนของนายทรัมป์เกี่ยวกับประเด็นการค้าเรียกเสียงวิจารณ์ขรมจากนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากที่มองว่า นโยบายแบบนี้จะสร้างผลเสียให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯมากกว่าผลดีเพราะแต่เพียงประกาศในเวทีหาเสียง ก็ถูกประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีนตอกกลับมาแล้ว ด้านหอการค้าอเมริกัน ได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องนี้มาเช่นกัน โดยระบุว่า หากสหรัฐฯนำนโยบายการค้าของนายทรัมป์มาใช้อาจทำให้เศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ภายในเวลา 1 ปีเนื่องจากจะถูกประเทศคู่ค้าใช้มาตรการทางภาษีตอบโต้เช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,152 วันที่ 28 - 30 เมษายน พ.ศ. 2559