ผลวิจัยจุฬาพบ "วัคซีนโควิด" 2 เข็มต่างยี่ห้อภูมิต้านทานสูงกว่าฉีดของบริษัทเดียวกัน

07 มิ.ย. 2564 | 01:15 น.

หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลเบื้องต้นจากคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าฉีดวัคซีน 2 เข็มสลับยี่ห้อกันภูมิต้านทานขึ้นสูงกว่าฉีดวัคซีนบริษัทเดียวกัน

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยระบุข้อความว่า
    น่าสนใจ !! ข้อมูลเบื้องต้นจากคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าฉีดวัคซีน Sinovac เข็มหนึ่ง ตามด้วยวัคซีน AstraZeneca เข็มสอง หรือสลับกัน พบภูมิต้านทานขึ้นสูงกว่าฉีดวัคซีนบริษัทเดียวกัน
    จากสถานการณ์การระบาดของโควิด ตลอดจนข้อจำกัดของวัคซีนแต่ละบริษัท ซึ่งกระจายไปในแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ทำให้เกิดประเด็นคำถามว่า ถ้ามีเหตุจำเป็น จะฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งและเข็มสองคนละบริษัทกันได้หรือไม่
    ถ้าใช้หลักฐานทางวิชาการเดิม โดยเฉพาะของกุมารแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น การฉีดวัคซีนคอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก ในเด็กห้าเข็มคือ ตอนอายุ 2,4,6,18 เดือน และ 4 ขวบมักจะมีเหตุปัจจัยหลายครั้งหลายหน ที่ทำให้ต้องฉีดวัคซีนกันคนละบริษัท ผลก็คือ เรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาทั้งเรื่องผลข้างเคียง และไม่มีปัญหาเรื่องประสิทธิผลการป้องกันโรค เหตุการณ์นี้ ก็เกิดขึ้นทำนองเดียวกับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ และตับอักเสบบี

วัคซีน 2 เข็มต่างยี่ห้อภูมิต้านทานสูงกว่าฉีดจากบริษัทเดียวกัน
    จึงทำให้กุมารแพทย์และแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ค่อนข้างจะมีความมั่นใจว่า การฉีดวัคซีนโควิดคนละบริษัทกัน สามารถทำได้ แต่เนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่ ทุกอย่างเพื่อความปลอดภัยสูงสุด ก็จำเป็นจะต้องมีงานวิจัย ที่มีจำนวนอาสาสมัครที่ได้ทดสอบให้แน่ใจเสียก่อน ในต่างประเทศเอง ก็เริ่มมีรายงาน แต่ยังเป็นอาสาสมัครจำนวนไม่มากเช่น ที่สเปน 663 คน
    ฉีดเข็ม 1 ด้วยวัคซีน Astra และฉีดเข็ม 2 ด้วยวัคซีน Pfizer ห่างกันแปดสัปดาห์ พบว่าระดับภูมิต้านทานขึ้นสูงน่าพอใจ
    ที่อังกฤษ อาสาสมัคร 830 คน มีฉีดวัคซีนสี่กรณีด้วยกันคือ
    1.เข็มหนึ่งและสอง เป็นวัคซีน Astra
    2.เข็มหนึ่งและสอง เป็นวัคซีน Pfizer
    3.เข็มหนึ่งเป็น Astra เข็มสองเป็น Pfizer
    4.เข็มหนึ่งเป็น Pfizer เข็มสองเป็น Astra
    พบว่า ผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ไม่มีผลแพ้แบบรุนแรง 
    ส่วนในเมืองไทย ยังไม่มีข้อมูลที่จะเปรียบเทียบกันโดยการทดลอง แต่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ เพิ่งรวบรวมคนฉีดวัคซีนด้วยเหตุจำเป็น คือ มีผู้ที่ฉีดวัคซีน Sinovac และ Astra ในคนคนเดียวกันอยู่ห้าราย
    โดยสี่รายแรก ฉีดเข็มหนึ่งเป็น Sinovac เข็มสองเป็น Astra
    ส่วนอีกหนึ่งราย ฉีดเข็มหนึ่งเป็น Astra และเข็มสองเป็น Sinovac พบระดับภูมิต้านทานดังนี้
    1.ฉีดวัคซีน Sinovac สองเข็ม ระดับภูมิต้านทานขึ้น 92.36 หน่วย
    2.ฉีดวัคซีน Astra เข็มเดียว ภูมิต้านทานขึ้น 51.04 หน่วย
    3.ติดเชื้อโดยธรรมชาติจนหายดี ภูมิต้านทานขึ้น 60.86 หน่วย
    4.เข็มหนึ่งฉีด Sinovac เข็มสอง Astra ภูมิต้านทานขึ้น 615 หน่วย
    5.เข็มหนึ่งฉีด Astra เข็มสองฉีด Sinovac ภูมิต้านทานขึ้น 221.1 หน่วย

เปรียบเทียบภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน 1 เดือน
    จะเห็นได้ว่าระดับภูมิต้านทานที่ขึ้น(แม้จำนวนตัวอย่างจะน้อย) แต่ก็สอดคล้องกับความรู้เรื่องวัคซีนที่ฉีดในเด็ก และสอดคล้องกับข้อมูลของสเปนและอังกฤษ
    ขณะนี้ทางจุฬาฯ กำลังจะเริ่มทำการทดลองในอาสาสมัคร ที่จะฉีดวัคซีนสลับกันระหว่าง Sinovac และ Astra
    ถ้าผลออกมาว่า ฉีดสลับกันสองบริษัท แล้วได้ผลดี ไม่มีผลข้างเคียงโดยภูมิต้านทานขึ้นสูงด้วย ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยต่อไป
    Reference
    ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
    ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบครวมข้อมูลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ เกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโรคโควิด-19 (Covid-19)พบว่า
     1.Pfizer มีประสิทธิภาพโดยรวมอยู่ที่ 95% เมื่อฉีดครบ 2 เข็ม
    2.Moderna มีประสิทธิภาพโดยรวมอยู่ที่ 94.1% เมื่อฉีดครบ 2 เข็ม 
       3.AstraZeneca มีประสิทธิภาพโดยรวมอยู่ที่ 79% เมื่อฉีดครบ 2 เข็ม  
     4.Johnson & Johnson มีประสิทธิภาพโดยรวมอยู่ที่ 64-72% เมื่อฉีด 1 เข็ม  
     5.Sputnik V มีประสิทธิภาพโดยรวมอยู่ที่ 92% เมื่อฉีดครบ 2 เข็ม
     6.Sinovac มีประสิทธิภาพโดยรวมอยู่ที่ 51% (เบา-กลาง-หนัก) ,84% (กลาง-หนัก) เมื่อฉีดครบ 2 เข็ม 
     7.Sinopharm  มีประสิทธิภาพโดยรวมอยู่ที่ 79-86% เมื่อฉีดครบ 2 เข็ม 
    8.Novavax    มีประสิทธิภาพโดยรวมอยู่ที่ 89.3% เมื่อฉีดครบ 2 เข็ม 
    อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันอาการหนัก และเสียชีวิตสูงระดับ 100% เท่ากันหมดทุกยี่ห้อ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :