จับตา คดีโตโยต้าหมื่นล้าน

06 มิ.ย. 2564 | 09:15 น.

จากบทความ ของ เกษมสันต์ วีระกุล นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญ AEC เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564 ซึ่งเผยแพร่ในเฟสบุ๊คส่วนตัว "Kasemsant AEC" ได้เล่าถึงที่มาที่ไปและลำดับเหตุการณ์ ของคดีโตโยต้าประเทศไทย ที่มีการนำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ของโตโยต้ารุ่นพรีอุส มาประกอบเป็นรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศไทย เมื่อปี 2553


เริ่มตั้งแต่...เมื่อเดือนเมษายน ปีที่แล้ว 2563 บริษัทโตโยต้า คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่อยู่ในญี่ปุ่นของโตโยต้าประเทศไทย รายงานต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา ว่ามีความเป็นไปได้ที่บริษัทลูกแห่งหนึ่งของโตโยต้าในประเทศไทย อาจกระทำการละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบนของสหรัฐฯ ซึ่งโตโยต้า คอร์ป เพิ่งจะเปิดเผยการรายงานต่อทางการสหรัฐดังกล่าว ให้สาธารณชนได้รับรู้เมื่อกลางเดือนมีนาคม ปี 2564 นี้เอง

ต่อมาในช่วงปลายเดือนมีนาคม เว็บไซต์ LAW360.com ได้เผยแพร่บทความโดยอ้างว่า ได้สรุปมาจากเอกสารของโตโยต้าคอร์ปว่า ผลการสอบสวนภายในที่ใช้เวลากว่า 6 เดือนนั้น บริษัทต้องการจะสอบสวนว่า ที่ปรึกษาของบริษัทได้มีส่วนในการจ่ายเงินให้กับผู้พิพากษาและรัฐบาลไทย เพื่อแลกกับการไม่ต้องจ่ายภาษีการนำเข้าโตโยต้าพรีอุสคิดเป็นมูลค่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 11,000 ล้านบาท จริงหรือไม่? ซึ่งโตโยต้า คอร์ปนั้น มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้แถลงว่ายินดีร่วมมือกับทางการสหรัฐในการสอบสวนเรื่องนี้

โดนกล่าวหาเช่นนี้ โฆษกศาลของประเทศไทย จึงได้ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2564 ความว่า คดีนี้มีความเป็นมาอย่างไร และคดีนี้ศาลฎีกาจึงยังไม่ได้มีการพิจารณาพิพากษาคดีแต่อย่างใด พร้อมตอบโต้กลับว่า การกล่าวหาว่า อาจมีการจ่ายสินบนให้ผู้พิพากษานั้นเกิดขึ้นอยู่เสมอ อาจไม่มีมูลความจริงอยู่เลย แต่ก็สร้างความเสียหายและความคลางแคลงใจในหมู่ประชาชนทันที ที่มีการออกข่าวหรือแอบอ้างว่ามีการจ่ายและรับสินบน ดังนั้น การให้ข่าวลักษณะนี้ ควรมีการตรวจสอบให้ชัดเจนในระดับหนึ่งก่อน ถ้าหากศาลยุติธรรมได้รับข้อมูลหรือสามารถตรวจสอบได้อย่างแน่ชัดว่า ผู้พิพากษาท่านใดกระทำการอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับการรับสินบนหรือไม่ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมก็จะดำเนินการตรวจสอบและลงโทษอย่างเด็ดขาด กับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา ทำลายความเป็นกลางของศาล และทำให้สังคมไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย ที่ผ่านมา ก็ดำเนินการลงโทษทางวินัยอย่างเด็ดขาดกับกรณีเช่นนี้มาโดยตลอด

เรื่องไม่จบลงแค่นี้ เพราะเมื่อ 26 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา LAW360.com ได้รายงานอีกครั้งว่า ทางการสหรัฐกำลังดำเนินการสอบสวนการกระทำของโตโยต้า คอร์ปว่า ละเมิดกฎหมายต่อต้านการทุจริตในต่างประเทศของสหรัฐหรือไม่? คราวนี้เป็นทางการสหรัฐที่จะสอบสวนแล้วนะครับ 

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยมากยิ่งขึ้น โดยอ้างถึงเอกสารผลการสอบสวนภายในของโตโยต้า คอร์ปว่า โตโยต้าประเทศไทยมีตกลงทำสัญญาจ้างสำนักงานกฎหมายเป็นเงิน 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 850  ล้านบาท ให้ช่วยหาช่องทางพิเศษจ่ายให้กับผู้พิพากษาระดับสูงและอดีตผู้พิพากษาเพื่อทำให้โตโยต้าประเทศไทยชนะคดี

ที่อื้อฉาวและร้อนฉ่าไปทั้งวงการยุติธรรมก็คือ ในการรายงานครั้งล่าสุดนี้ LAW360.com ได้ระบุชื่อผู้พิพากษาระดับสูงจำนวนสามท่าน ระบุชื่อสำนักงานกฎหมายและนักกฎหมายของโตโยต้าประเทศไทยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้พิพากษาทั้งสามท่านที่โดนกล่าวหาก็ได้ดำเนินการฟ้องร้อง LAW360.com ไปแล้ว ส่วนสำนักงานกฎหมายก็ได้ให้สัมภาษณ์ปฏิเสธไปแล้วเช่นกัน

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา โฆษกศาลยุติธรรมก็ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงอีกครั้ง สรุปได้สามข้อดังนี้ คือ หนึ่ง หลังจากมีข่าวในเดือนเมษายน สำนักงานศาลยุติธรรมมิได้นิ่งนอนใจ มีหนังสือไปประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบคดีดังกล่าวจากสหรัฐไปแล้ว ตอนนี้รอการตอบกลับ สอง หากได้รับข้อมูลและตรวจสอบว่ามีมูลเป็นความผิดก็จะดำเนินการตามขั้นตอนทางวินัยต่อไป ซึ่งผ่านมาก็ได้มีการลงโทษอย่างเด็ดขาดสำหรับคนทำผิดมาโดยตลอด และสาม อธิบายถึงรายละเอียดคดีว่า ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาในเนื้อหาหลักแห่งคดีแต่อย่างใด ยังอยู่ระหว่างการขอขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกา ซึ่งศาลอนุญาตให้ขยายได้ถึงวันที่ 13 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ พร้อมกับขอว่า เรื่องนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการเท่านั้น ทั้งในสหรัฐและในไทยเอง จึงอยากขอให้สาธารณชนได้รับฟังข้อมูลด้วยความระมัดระวัง และรอผลการดำเนินการให้เป็นที่ยุติเสียก่อน

ที่มาของคดีนี้ก็คือ โตโยต้าประเทศไทย ได้นำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ของโตโยต้ารุ่นพรีอุส เข้ามาประกอบเป็นรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2553 โดยใช้อัตราภาษีนำเข้าภายใต้ข้อตกลงการค้าไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งโตโยต้าชี้แจงว่าได้เสียภาษีถูกต้องครบถ้วนแล้ว แต่กรมศุลกากรตรวจสอบพบว่ามีการใช้สิทธิไม่ถูกต้อง เพราะถ้าจะได้สิทธิดังกล่าว โตโยต้าต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญๆ ที่ผลิตภายในประเทศไทยด้วย แต่ชิ้นส่วนทั้งหมดที่นำเข้ามานั้น สามารถนำมาประกอบเป็นพรีอุสได้เลย ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศไทยที่ใช้ไม่ได้เป็นชิ้นส่วนสำคัญ โตโยต้าจึงไม่มีสิทธิเสียภาษีในอัตราต่ำ ที่จ่ายแยกตามรายชิ้นส่วนอะไหล่ แต่จะต้องภาษีในอัตราที่สูงกว่าที่ได้จ่ายไปแล้ว ทำให้โตโยต้าจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มอีกกว่า 11,639 ล้านบาท

โตโยต้า ประเทศไทย จึงยื่นฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โตโยต้าเป็นฝ่ายชนะในเดือนมิถุนายน 2560  กรมศุลกากรจึงยื่นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษก็ได้พิพากษากลับให้โตโยต้าแพ้คดี ต้องจ่ายภาษีเพิ่มในเดือนมีนาคม 2562 โตโยต้าจึงยื่นฎีกา ซึ่งศาลก็อนุญาตให้ฎีกาได้เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา และคดียังอยู่ระหว่างการขอขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกา ยังไม่มีการตัดสินคดีแต่อย่างใด

นายเกษมสันต์ ได้สรุปตอนท้ายบทความว่า สรุปเรื่องราวนี้ เพราะมองว่าเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก ที่อาจจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อทั้งโตโยต้าประเทศไทย กระบวนการยุติธรรมไทยและอีกหลายคนที่เกี่ยวข้อง