"เกียรติ สิทธีอมร" จี้รัฐช่วยผู้ประกอบการไม่ให้ล้มละลาย

04 มิ.ย. 2564 | 09:35 น.

"เกียรติ สิทธีอมร" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปปัตย์ จี้รัฐบาลมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไม่ให้ล้มละลาย ในลักษณะ Packing credit

วันที่ 4 มิถุนายน 64 "นายเกียรติ สิทธีอมร" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว Kiat Sittheeamorn เสนอรัฐบาลเร่งดำเนินโยบายที่สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้งบประมาณเพื่อกู้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังได้ผลกระทบอย่างหนักโดยเฉพาะการเผชิญกับสถานการณ์โควิดของประเทศไทย โดยเรื่องที่เสนอ ได้แก่ ส่วนต่างดอกเบี้ย ต้นทุนพลังงาน รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไม่ให้ล้มละลาย

โดยขอให้ปรับนโยบายในการความร่วมมือของรัฐและเอกชนจัดหา Soft loan (สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ) ในลักษณะของ Packing credit/Syndicate loan แทนการที่รัฐบาลจะไปปล่อย Soft loan แข่งกับธนาคารเอกชน เพราะเศรษฐกิจไม่ดีทำให้ธนาคารพาณิชย์มีเงินฝากล้นธนาคารอยู่แล้ว 

 

 

นายเกียรติ กล่าวว่า ได้ทำข้อมูลมาแสดงให้เห็นว่าหากรัฐบาลใช้วิธีนี้ด้วยงบประมาณที่จัดสรรไว้ 250,000 ล้านบาท จะ ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการได้ถึง 1,250,000 ล้านบาท หรือ 5 เท่าตัว ซึ่งการทำนโยบายเช่นนี้ คือตัวอย่างการใช้เงิน น้อยให้ได้ผลมาก

“ผมได้รอฟังว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรกับข้อเสนอนี้ แต่กลับได้รับคำตอบว่าเรื่อง Packaging Financing ทั้งที่ถามเรื่อง Packing credit วันนี้ก็มีการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับกระทรวงการคลัง และธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ในการทำ Factoring หรือการเอาใบสั่งซื้อไปเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ คำตอบเช่นนี้ทำให้งงไปหมด เพราะเป็นคนละเรื่องเลยครับ” 

นายเกียรติ อธิบายว่า Factoring (แฟคเทอริ่ง) เป็นเครื่องมือทางการเงินซึ่งมีมาแล้วไม่น้อยกว่า 20 ปี ไม่ได้ริเริ่มโดย รัฐบาลชุดนี้ โดยบริษัทที่มีโครงการกับภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ สามารถนำใบวางบิลไปขอเงินล่วงหน้าจากธนาคาร โดยเสีย ค่าธรรมเนียมสูงถึง 1-3% ของมูลค่าใบแจ้งหนี้ต่อครั้ง และหน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจจะชำระเงินงวดดังกล่าวตรงไปยัง ธนาคาร ซึ่งก็ไม่ต่างกับการ แลกเช็ค แต่ใช้กับบริษัทเอกชนได้น้อยรายมาก ๆ 

สอดคล้องกับที่ นายเกียรติ เคยให้สัมภาษณ์ทางรายการ New Room ของฐานเศรษฐกิจ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่ามีความกังวลเรื่องการใช้เงินของรัฐบาลที่ใช้เงินมากแต่ได้ผลน้อยและเป็นระยะสั้น คำถามคือทำไมไม่พยายามนึกถึงนโยบายที่ใช้เงินน้อยและได้ผลในระยะยาว

“เวลาผมพูดในสภา ผมพูดชัดเจน ยกตัวอย่างชัด เช่นการจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เราจะไปบอกว่ารัฐบาลเป็นผู้เพื่อขับเคลื่อนไม่ได้ เอางบประมาณทุกปีแต่ละปีมา รัฐและรัฐวิสาหกิจขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้แค่ 20% ที่เหลือคือบทบาทเอกชน ทำไมเราไม่มีโปรแกรมที่จะร่วมมือกับเอกชน คือที่ผ่านมาก็เริ่มร่วมมือพูดพูดคุย แต่คราวนี้ยังไม่ร่วมมือขับเคลื่อน ยกตัวอย่างง่ายๆ ในการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หลายประเทศใช้วิธีที่เรียกว่าแพ็คกิ้งเครดิตคือเอาแบงค์ของรัฐไปร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ ใช้สภาพคล่องในธนาคารพาณิชย์ไปปล่อยกู้ เงื่อนไขที่ทำให้ฟื้นได้ อย่างนี้เรียกร่วมมือกัน"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

อภิปรายงบ 65 เดือด "ภูมิใจไทย" รุมขย่มรัฐบาลลุงตู่