ค้าปลีกอ่วม! ชง 4 ข้อเสนอช่วยด่วน

04 มิ.ย. 2564 | 02:20 น.

ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาคค้าปลีกทรุดอีก พิษโควิด ระลอก 3 สมาคมค้าปลีกชง 4 มาตรการเอื้อผู้ประกอบการ

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีกและการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคไทยประจำเดือนพ.ค 2564 ในระหว่างวันที่ 17-25 พ.ค. 2564

พบว่า แนวโน้มผู้บริโภคไทยยังคงระวังระมัดการจับจ่าย มีผลต่อยอดซื้อต่อบิล (purchasing per basket) และความถี่ในการจับจ่าย (Frequency visit) ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดขึ้นในทุกภูมิภาคและเกือบทุกช่องทางของร้านค้าปลีก

ทั้งนี้เกิดจากหลายปัจจัยทั้งกำลังซื้อที่ลดลงและยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงความถี่ในการจับจ่าย ซึ่งลดลงจากมาตรการควบคุม กำหนดเวลาการให้บริการในศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงร้านอาหารที่ให้ปิดในเวลา 21.00 น. โดยพบว่า ยอดขายของร้านสาขาเดิมที่เปิดให้บริการลดลง 30-35% เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่ร้านสะดวกซื้อกำหนดให้เปิดบริการในช่วง 04.00-23.00 น. ซึ่งการปิดให้บริการในช่วง 23.00-04.00 น. ส่งผลให้ยอดขายร้านสะดวกซื้อหายไป 20-25%

ค้าปลีกอ่วม! ชง 4 ข้อเสนอช่วยด่วน

“ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากทุกปัจจัยและทุกภูมิภาค ถือว่าสอดคล้องกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงต่อเนื่องจากเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะที่ความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งกระจายแผนการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ดี ผลจากการระบาดที่รุนแรงและยืดเยื้อ จะส่งผลต่อรายได้ที่ลดลงและการจ้างงานที่ลดลงกว่า 25%”

สำหรับความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่คาดว่าจะดีกว่าปัจจุบัน เป็นผลมาจากแผนการฉีดวัคซีนของรัฐบาลที่เริ่มเป็นรูปธรรม รวมถึงมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะ “ช้อปดีมีคืน” ที่ภาครัฐมุ่งเน้นการจับจ่ายในห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก

อย่างไรก็ดียังมีร้านค้าปลีกในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ตกแต่งและซ่อมบำรุง ที่พบว่ามีความเชื่อมั่นลดลงเล็กน้อย ซึ่งเกิดจากปัจจัยด้านราคาเหล็กที่สูงขึ้น ทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างปรับขึ้นตาม รวมถึงมาตรการ WFH ทำให้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยต่อเนื่อง

กลุ่มที่น่าจับตามองคือ ผู้ประกอบการร้านอาหาร ภัตตาคารและเครื่องดื่ม ซึ่งพบว่า ความเชื่อมั่นในเดือนพ.ค. ต่ำกว่าร้านค้าประเภทอื่นๆ เป็นผลมาจากมาตรการของภาครัฐที่ควบคุมการระบาดสูงสุด โดยกำหนดให้ร้านค้าสามารถบริการให้นั่งทานในร้านได้แค่ 25% และบริการได้ถึง 21.00 น. ส่งผลกระทบทำให้ยอดขายหายไป ขณะที่การแพร่ระบาดที่ยังมีต่อเนื่อง และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย ทำให้ยังขาดความมั่นใจต่อเศรษฐกิจโดยรวม

ค้าปลีกอ่วม! ชง 4 ข้อเสนอช่วยด่วน

นายฉัตรชัย กล่าวว่า ข้อเสนอแนะที่ผู้ประกอบการค้าปลีกมีต่อภาครัฐ ประกอบด้วย

1.การกระตุ้นการจับจ่ายให้ต่อเนื่องและครอบคลุมทุกภาคธุรกิจ รวมถึงเพิ่มช่องทางการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและเงินสนับสนุนจากภาครัฐ

2. การเยียวยาช่วยจ่ายค่าแรงพนักงาน 50% หรือผ่อนผันค่าใช้จ่ายประกันสังคม 3 เดือนให้แก่ร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

3. ภาครัฐควรสนับสนุน Soft Loan ที่เข้าถึงง่ายต่อผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมต่างๆ 

4. ควรอนุญาตให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” สามารถใช้บัตรเครดิตในการจับจ่ายเพิ่มเติมจาก G-Wallet เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มนี้นิยมจับจ่ายด้วยบัตรเครดิตมากกว่าเงินสด

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,685 วันที่ 6 - 9 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :