วัคซีน "Sinovac" ลดการตายได้ 95% ที่บราซิล "หมอเฉลิมชัย" ชี้เป็นข่าวดีที่ไทยมี "ซิโนแวค"

03 มิ.ย. 2564 | 02:25 น.

หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลวัคซีน Sinovac ลดการตายได้ 95% ที่บราซิล ลดอัตราการป่วยหนัก ได้ 86% ระบุเป็นข่าวดีของไทยที่มีวัคซีน ซิโนแวค

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยระบุข้อความว่า
    บราซิล ทดลองฉีดวัคซีน Sinovac ให้เมืองขนาด 45,000 คนครอบคลุม 75% ของประชากรทั้งหมด ได้ผลดีมาก ลดอัตราการเสียชีวิตจากโควิดได้ถึง 95%
    รายงานข่าวจากบราซิล ที่เมือง Serrana ซึ่งอยู่ห่างจากเซาเปาโลไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 315 กิโลเมตร เป็นเมืองขนาดเล็ก ที่มีประชากร 45,000 คน ทางการบราซิลได้ระดมฉีดวัคซีน Sinovac ของจีน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเชื้อตาย ให้กับประชาชนกว่า 75% ของเมือง (หรือ 95% ของผู้ใหญ่อายุเกิน 18 ปี) ทั้งนี้เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
    เพียงห้าสัปดาห์ หลังการฉีดวัคซีนเข็มสอง พบอัตราการเสียชีวิตจากโควิดลดลงถึง 95%
    อัตราการป่วยหนักจนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลลดลง 86% 
    อัตราการป่วยแบบมีอาการลดลง 80%
    R.Palacios ผู้อำนวยการวิจัยสถาบัน Butantan ของบราซิลได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นี่เป็นครั้งแรกของโลก ที่มีการระดมฉีดวัคซีนทั้งเมือง และดูว่าจะต้องฉีดร้อยละเท่าใด ของจำนวนพลเมือง จึงจะมีผลสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ตัวเลขที่เป็นหลักฐานครั้งนี้คือ 75% ของจำนวนพลเมือง 
    นอกจากนั้น พบว่าวัคซีน Sinovac ยังได้ผลดีในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์บราซิล ที่เรียกว่า P.1 หรือสายพันธุ์แกมมาอีกด้วย

Sinovac ลดการตายได้ 95% ที่บราซิล
    นับเป็นอีกข่าว ที่ทำให้วัคซีน Sinovac ได้รับความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ข้อมูลก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่าวัคซีนมีประสิทธิผล 50-90% ในหลากหลายประเทศ ตั้งแต่ บราซิล อินโดนีเซีย และตุรกี
ขณะนี้ ยังมีอีกหนึ่งเมืองชื่อ Botucatu ซึ่งมีประชากร 148,000 คน กำลังระดมฉีดวัคซีนทำนองเดียวกัน แต่เป็นของ AstraZeneca (แอตร้าเซนเนก้า) คงจะทราบผลในไม่ช้านี้
    เมื่อไม่นานมานี้ ที่อินโดนีเซียได้มีการฉีดวัคซีนของ Sinovac ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ 130,000 คน
    เมื่อวานนี้องค์การอนามัยโลก ก็อนุมัติให้ Sinovac อยู่ในบัญชีการฉีดแบบฉุกเฉิน (EUL) สามารถเข้าโครงการ COVAX ซึ่งมี 92 ประเทศฐานะยากจน นำไปฉีดให้กับประชาชนในประเทศของตนเองได้เลย
    ตัวเลขออกมาคล้ายกับที่บราซิลคือลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ 98% 
    ลดการนอนโรงพยาบาลได้ 96% 
    ลดการติดเชื้อแบบมีอาการได้ 94%
    ตัวเลขของการมีประสิทธิผลในโลกแห่งความเป็นจริง (Real world)ของ Sinovac ดีกว่าตัวเลขประสิทธิผลของอาสาสมัครในการทดลองมากทีเดียว
    จึงเป็นอีกหนึ่งข่าวดีสำหรับประเทศไทย เนื่องจากขณะนี้วัคซีนที่ใช้เป็นหลักสองชนิดได้แก่ วัคซีน Sinovac ของประเทศจีน และวัคซีน AstraZeneca ของประเทศอังกฤษ
    โดยประเทศไทยได้รับวัคซีน Sinovac มาแล้วทั้งสิ้น 6,000,000 เข็ม โดยจัดซื้อมา 5.5 ล้านเข็ม และทางการประเทศจีนบริจาคให้ในฐานะเป็นมิตรประเทศกันอีก 500,000 เข็ม
    Reference
    https://www.bbc.com/news/world-latin-america-57309538
    https://www.hindustantimes.com/world-news/sinovac-vaccine-controlled-covid-19-in-brazil-town-study-finds-101622479316860.html
    https://www.straitstimes.com/world/sinovac-shot-controls-covid-19-in-brazilian-town-after-75-covered
    อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ หมอเฉลิมชัย ได้เคยนำเสนอบทความโดยระบุว่า วัคซีน Sinovac (ซิโนแวค)มีประสิทธิผล ลดการตายได้ 97%  จากการฉีดที่อุรุกวัยกว่า 712,000 ราย
    ประเทศอุรุกวัย ซึ่งมีประชากร 3.5 ล้านคน ในช่วงแรกมีการติดเชื้อที่ไม่ระบาดรุนแรง จึงไม่มีการล็อกดาวน์ แต่ในระยะหลัง มาตรการและวินัยตามปกติ ไม่สามารถรับมือกับการระบาดของโควิดได้ทำให้เป็นประเทศที่มีอัตราผู้เสียชีวิตต่อจำนวนประชากรสูงในลำดับต้นต้นของโลก 
    อุรุกวัยจึงเร่งฉีดวัคซีนขนานใหญ่ ช่วงที่ผ่านมาฉีดไป 862,000คน เป็นวัคซีน Sinovac 712,000 คนวัคซีนไฟเซอร์ 150,000 คน ทำให้เกิดการรวบรวมตัวเลขว่าประสิทธิผลในการป้องกันในโลกแห่งความเป็นจริง (Effectiveness)ของวัคซีนสองชนิดนี้เป็นอย่างไร
    ได้ตัวเลขออกมาที่น่าสนใจดังนี้
    วัคซีน Sinovac ลดการเสียชีวิตได้ 97% 
    ลดการป่วยที่มีอาการหนักได้ 95% และลดการติดเชื้อทั่วไปได้ 57%
    ในขณะที่วัคซีนของบริษัท Pfizer ลดการเสียชีวิตได้ 80%
    ลดการป่วยที่มีอาการหนักได้ 99% และลดการติดเชื้อทั่วไปได้ 75%

    แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขอุรุกวัยก็ได้ออกมาเตือนว่า ไม่สามารถจะนำตัวเลขสองชุด ของสองบริษัทมาเปรียบเทียบกันได้ เพราะวัคซีนของ Sinovac นั้นฉีดในประชาชนกลุ่มที่มีความเสี่ยงของโรคน้อยกว่า ส่วนวัคซีนของ Pfizer จะฉีดในประชาชนกลุ่มเสี่ยงมากกว่าโดยเฉพาะผู้สูงอายุ จึงทำให้ตัวเลขดังกล่าวเปรียบเทียบโดยตรงไม่ได้
    สำหรับประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 (Covid-19) ใปประเทศจากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 28 ก.พ.-1 มิ.ย. 64 พบว่า มีการฉีดวัคซีนไปแล้วจำนวน 3,753,718 โดส ประกอบด้วย เข็มที่ 1 สะสมอยู่ที่จำนวน 2,591,372 ราย และเข็มที่ 2 สะสมอยู่ที่จำนวน 1,162,346 ราย 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :