“ธนกร”ป้องนายกฯรัฐจัดสรรงบ สอดคล้องแก้โควิด

02 มิ.ย. 2564 | 07:15 น.

“ธนกร”ป้องนายกฯ จัดสรรงบด้านสาธารณสุขสอดคล้องกับการแก้ปัญหาโควิด เทียบยุค “ยิ่งลักษณ์” กู้เฉลี่ยต่อปีมากกว่าเป็นเท่าตัว ต้องแบ่งเงินไปใช้หนี้ทุจริตจำนำข้าว

วันที่ 2  มิ.ย. 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ใช้เงินกู้ทุกบาททุกสตางค์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อดูแลประชาชนทุกระดับอย่างเท่าเทียม รวมทั้งใช้เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคม

 ทั้งหมดก็เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน อย่างไรก็ตาม เงินที่รัฐบาลกู้มาตั้งแต่ปี 57 จนถึงปี 64 รัฐบาลชำระหนี้เงินกู้ไปแล้ว 2.53 ล้านล้านบาท โดยเงินที่รัฐบาลกู้มาถูกนำไปใช้ในการดูแลด้านสาธารณสุข การจัดหาวัคซีน การคัดกรอง การรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด การเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันและค้นหา ตรวจคัดกรองโรค การจัดหาครุภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงค่าตอบแทนเสี่ยงภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ อสม. นอกจากนี้ ยังนำไปใช้ดูแลพี่น้องประชาชนและผู้ประกอบการผ่านโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ โครงการ ม.33 เรารักกัน โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มกว่า 50 ล้านคน
 

ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลมีการลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไปกว่า 2.1 ล้านล้านบาท จำนวน 162 โครงการ ซึ่งกว่า 70% เป็นการกู้เพื่อใช้ในการลงทุน วงเงินประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อสร้างการเจริญเติบโตของประเทศ ส่งเสริมการจ้างงานและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น โครงการรถไฟฟ้าสีต่างๆ ใน กทม. และปริมณฑล โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนามบิน และรถเมล์ NGV โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าลงเป็นสายใต้ดิน โครงการขยายเขตระบบไฟฟ้าให้ในครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ โครงการก่อสร้างระบบจำหน่ายด้วยสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะต่างๆ

โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย โครงการจัดทำระบบประปาหมู่บ้านและระบบชลประทานเพื่อการเก็บกักน้ำ โครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ซึ่งดำเนินการในทุกภูมิภาค และโครงการบ้านอาคารพักอาศัย โดยเคหะชุมชน หรือเคหะดินแดง ซึ่งจะเห็นได้ว่า เงินกู้ที่รัฐบาลกู้มาล้วนแต่ส่งผลดี เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน

 ขณะที่ข้อสงสัยเรื่องการจัดสรรวงเงินที่ใช้ในการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 นั้น ในช่วงปีงบประมาณ 2563 – 2564 รัฐบาลจัดสรรทั้งวงเงินงบประมาณ และเงินกู้สำหรับแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุขไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 87,862 ล้านบาท เพื่อจัดสรรเป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานภาคสนาม และ อสม. 22,146 ล้านบาท จัดซื้อจัดหาครุภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ 1,824 ล้านบาท ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด 29,304 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายด้านวัคซีน ทั้งการวิจัยพัฒนาในประเทศ ทำความร่วมมือวิจัยร่วมกับต่างประเทศ จัดซื้อจัดหา นำมาใช้ในประเทศ รวมไปถึงค่ารักษากรณีอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีน 21,134 ล้านบาท การเฝ้าระวัง ควบคุม ติดตามการระบาด ป้องกันและค้นหาเชิงรุก 6,483 ล้านบาท การจัดตั้งสถานกักตัวของรัฐ (State Quarantine - SQ) และสถานที่กักกันโดยองค์กรต่าง ๆ (Organizational Quarantine - OQ) 6,452 ล้านบาท และการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน 519 ล้านบาท
 

“รัฐบาลเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาโควิด จึงจัดทำ พ.ร.ก.เงินกู้ขึ้นมาอีกฉบับ ซึ่งเป็นการวางแผนล่วงหน้า เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อใช้ในการดูแลด้านสาธารณสุข เยียวยา และการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการใช้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้จะทำได้เร็วกว่า และทันสถานการณ์มากกว่าการรอใช้จาก พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 ที่กว่าจะประกาศใช้ก็ประมาณ ตุลาคม 2564 

นอกจากนี้ หากเทียบจำนวนหนี้ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ กับ พล.อ.ประยุทธ์ ระหว่างเป็นนายกฯ นั้นจะเห็นได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกฯ 3 ปี ก่อหนี้ 950,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมการกู้มาบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท และการกู้ที่ขัดรัฐธรรมนูญอีก 2 ล้านล้านบาท รวมเป็น 3,300,000 ล้านบาท ซึ่งเฉลี่ยแล้วตกปีละ 1,100,000 ล้านบาท ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ 7 ปี ก่อหนี้ 4,285,000 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 612,142 ล้านบาทเท่านั้น น้อยกว่าสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นเท่าตัว ที่สำคัญ ยังต้องนำเงินไปใช้หนี้ทุจริตโครงการจำนำข้าวอีกด้วย นอกจากนั้นเป็นการกู้เงินมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทุกบาททุกสตางค์ไม่ใช่กู้มาโกงเหมือนบางคน”นายธนกรกล่าว