ตัดงบประมาณกันแบบนี้ ลืมยุทธศาสตร์ชาติไปเลย!

02 มิ.ย. 2564 | 06:00 น.

ตัดงบประมาณกันแบบนี้ ลืมยุทธศาสตร์ชาติไปเลย! : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3684 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 3-5 มิ.ย.2564 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ในรัฐสภาวาระแรก ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่เป็นตัวแทนประชาชนรอบนี้ผมถือว่า เป็นความท้าทายชีวิตของคนไทยมาก

เพราะงบปี 2565 ครั้งนี้ถือว่า เป็นความท้าทายต่อชีวิต ความเป็นอยู่ของคนไทยทุกคนเป็นอย่างมาก

ความอยู่รอดของผู้คนในประเทศนี่แหละครับ ที่เป็นโจทย์ใหญ่ให้บรรดา ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ ที่เราเลือกไปจะต้องใช้สติปัญญาในการทำหน้าที่อย่างหนักในการพิจารณาทักท้วง เสนอแนะ

หาไม่แล้วประชาชนคนไทย จะถูกลากถูไปกับขบวนที่อาศัยพวกมากลากไปขึ้นเขาลงห้วยก็เอาไป...

ทำไมเป็นเช่นนั้น! ลองพิจารณาข้อคิดนักเศรษฐศาสตร์ข้างถนนแบบผมที่อาศัยครูพักลักจำกันดูครับ!

ในปี 2563-2564 ขนาดเศรษฐกิจของประเทศไทยทรุดตัวลงหนักมาก “ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ : GDP” หดตัวลงจาก 16.9 ล้านล้านบาท เหลือเพียง 15.68 ล้านล้านบาท เม็ดเงินในระบบหายไปราว 1.2-1.3 ล้านล้านบาท

มาถึงปี 2565 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งงบประมาณไว้ 3,100,000 ล้านบาท คิดเป็น 17.87% ของ จีดีพี ลดลงจากปีก่อน 185,962 ล้านบาท คิดเป็น 5.66% โดยรัฐบาลประมาณการรายได้ไว้ที่ 2,400,000 ล้านบาท และกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณไว้ 700,000 ล้านบาท คิดเป็น 4.04% ของจีดีพี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัว 4-5%

              ตัดงบประมาณกันแบบนี้ ลืมยุทธศาสตร์ชาติไปเลย!        

                ตัดงบประมาณกันแบบนี้ ลืมยุทธศาสตร์ชาติไปเลย!

การตั้งเป้าหมายที่สูงเกินจริงแบบนี้แหละครับที่อันตราย ถ้าเศรษฐกิจจะโตได้ขนาด 4-5% หมายถึงว่า ขนาดเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 15.68 ล้านล้านล้านบาท มาอีกประมาณ 6.27-7.84 แสนล้านบาท

มันจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อคุณปรับลดงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐที่เป็นหัวรถจักรขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเพียงตัวเดียวในขณะนี้ลงไปราว 1.85 แสนล้านบาท.... คำตอบคือ ไม่มีทาง!

อันนี้ผมนำความเสี่ยงจากวิกฤติการระบาดของโควิดเข้าไปผสมปนเปว่า ภายในเดือนตุลาคม 2564 ยังไม่รู้ว่าเราจะเปิดประเทศและเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะได้หรือไม่...

ประการต่อมาผมไปพิจารณารายละเอียดงบประมาณแล้วพบว่า การจัดทำงบประมาณขาดยุทธศาสตร์ ไม่มีการตอบโจทย์หลักของประเทศที่เราจะเดินหน้าให้ฟื้นขึ้นมาจากหลุมและดินโคลนแห่งโรคร้ายได้เลย

ทำไมเป็นเช่นนั้น....เพราะงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 รอบนี้ “ลุงตู่” เล่นบทตึ๋งหนืด ขี้เหนียว เยี่ยวไม่สุด

งบรายกระทรวงถูกตัดลงไปหมดรวม 29 หน่วยงาน ไม่เว้นแต่ “ส่วนราชการในพระองค์” ก็ถูกปรับลดงบลงราว 200 ล้านบาทเศษ

                                                    ตัดงบประมาณกันแบบนี้ ลืมยุทธศาสตร์ชาติไปเลย!

การตัดงบแบบนี้ล่ะครับที่ ชาดา ไทยเศรษฐ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยออกมาพูดกลางสภาว่า “ผมอยากให้สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และสำนักงบประมาณ ไปโรงพยาบาลรัฐบ้างว่าวันนี้ยังขาดแคลนอะไรบ้าง ในสถานการณ์โควิดท่านยังตัดแม้แต่งบแพทย์ปฐมภูมิ ที่ต้องดูแลประชาชนโดยตรง...

“ท่านตัดตรงนี้ถือว่า ใจดำมาก ผมอยากให้สภาพัฒน์พิจารณา และดูบทบาทหน้าที่ตัวเองใหม่ เพราะแทนที่ท่านจะทำหน้าที่วิเคราะห์แนะนำรัฐบาล แต่กลับมาพิจารณางบเสียเอง  หรือสำนักงบประมาณคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกฯ จะไม่รักนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เสียแล้ว ท่านถึงได้ตัดงบประมาณแบบนี้ ผมก็อยากจะบอกว่า หัวหน้าครับถ้าเขาไม่รักก็กลับบ้านเราเถอะ” นายชาดา กล่าว

ตลกร้ายสุดอีกคือ กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานที่ถูกตัดงบมากที่สุด ท่ามกลางภาวะคนตกงานมากที่สุด โดยถูกตัดงบลง 28.7% รองลงมาคืองบจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่ลดลง 24.7% งบกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) ถูกตัดไป 15.9% ทั้งๆ ที่โลกกำลังเดินหน้าไปสู่การค้าขายออนไลน์ และโลกกำลังเดินไปสู่ดิจิทัล

ในยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ ถ้าเราจะสร้างคนให้ค้าขายทำธุรกิจกับโลก เราจะตัดโอกาสทองแบบนี้ออกไปมั้ย ในภาวะแบบนี้เราควรที่จะทำงบเพื่อสร้างคนของเราให้เรียนรู้การทำการค้าโลก ใครทำได้รัฐบาลหนุนเติมทุนให้เอาไปเลยรายละล้าน ใส่เงินให้เขาไปต่อยอด ทำได้มั้ย

ถ้าทำไม่ได้ ลองไปจัดทำสลากการกุศลเอาเงินมาอุดหนุนบรรดารายย่อยที่อยากค้าขายดิจิทัล ใครสามารถสร้างยอดขายทำรายได้ สร้างเงิน สร้างคนงานได้รายละ 10-20 คน ร้างรายได้ 0-20 ล้านบาทใน 1 ปี รัฐบาลเติมเงินให้จากสลากการกุศลคนละ 1-2 ล้านบาท เอาไปเลยไหวมั่ย!

                                                          ตัดงบประมาณกันแบบนี้ ลืมยุทธศาสตร์ชาติไปเลย!

แม้ว่าเราจะไม่มีเงินในมือ แต่เรากลับตุนเงินก้อนโตไว้รองรับการจ่ายเงินเดือน การขึ้นเงินเดือนให้กับบุคลากร แต่ตัดงบที่เป็นโอกาสของประเทศ มันถูกมั่ยละ

มาดูกันใหม่งบกระทรวงเกษตรที่เป็นอาหารโลกทั้งโลกเจอโรคร้ายต้องกินต้องใช้ไทยประกาศเป็น “อาหารไทยอาหารโลก” กลับตัดโอกาสไปเพราะ “รายได้ไม่พอรายจ่าย” เสมือนเป็นการลืมว่า “แกนของประเทศไทยอยู่ตรงไหน”

ใช่....การส่งออกรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ หรือ การส่งออกอาหารของโลกที่ทำให้ผู้คนอยู่ดีกินดี!

งบก้อนต่อมาที่ต้องพิจารณากันในรายละเอียดว่า ตอบโจทย์หรือไม่ รัฐบาลได้ตั้งงบตามแผนงานบูรณาการ 11 แผนงาน งบประมาณรวม 208,177 ล้านบาท 

หนึ่งในตัวเป้ง ตัวพ่อ เหมือนเดิมที่เสมือนเป็น “ประเพณีปฎิบัติ” คือ รัฐบาลยังคงทุ่มงบไปกับการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์แบบทุกปีที่ผ่านมา วงเงินรวม 110,415 ล้านบาท 

งบบูรณาการถนน โลจิสติกส์นั้นคิดโครงการง่ายครับเป็น “งบล่ำซำ งบตัดแปะ” แค่ขึ้นโครงการ รัฐบลงทุนเพื่อการเดินทางความสะดวกแก่ประชาชน แต่ถ้ารัฐบาลมีสติลองให้สำนักงบประมาณ กระทรวงคมนาคม ไปทำข้อมูลมาดูและวัดค่าสัมประสิทธิ์ที่สะท้อนประสิธิภาพออกมาดูก็จะพบว่า งบถนนที่รัฐลงทุนสร้างลงไปในระยะ 10-20 ปีที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านถนนหนทางดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย

แต่เชื่อหรือไม่ว่า งบลงทุนด้านถนนนั้น มีค่าสูญเสียโอกาสมากที่สุด เพราะทุ่มงบลงไปสร้างถนน ให้ประชาชนซื้อรถยนต์มาใช้ถนน แล้วก็ตั้งงบประมาณมาซ่อมถนน ซ่อมไหล่ทาง และไร้ซึ่งการดูแลทัศนียภาพ นับพันนับหมื่นสายทางสร้างแล้วทิ้ง และแต่ละปีก็ตั้งงบสร้างถนนใหม่เป็นแบบนี้เรื่อยไป

อันดับต่อมาคือ งบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 63,251  ล้านบาท งบเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 12,275  ล้านบาท ขณะที่งบขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกปรับลดลงเหลือ 7,144 ล้านบาท

                                                   ตัดงบประมาณกันแบบนี้ ลืมยุทธศาสตร์ชาติไปเลย!

ประการต่อมาที่อยากให้ทุกคนโฟกัสไปดูคือ งบปี 2565 กำหนดวงเงินกู้ชดเชยการขาดดุลที่ 7 แสนล้านบาท ถือเป็นปีที่ 8 ของจัดทำ ‘งบประมาณแบบขาดดุล’ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หลังจากเริ่มจัดทำงบประมาณฉบับแรกในปีงบ 2558 ส่งผลให้ขณะนี้รัฐบาลไทยจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลติดต่อกันมาแล้ว 16 ปี รวมขาดดุลไป 6.63 ล้านล้านบาท

และปีนี้มีการกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลไว้ 7 แสนล้านบาท คิดเป็น 4% ของ GDP เรียกว่ากู้จนเต็มกรอบวงเงินสูงสุด ที่กู้ได้ตามมาตรา 21 ของพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

                                                   ตัดงบประมาณกันแบบนี้ ลืมยุทธศาสตร์ชาติไปเลย!

ผมทำนายไว้เลยว่า หากเกิดปรากฏการณ์พิเศษที่ทำให้การจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานภาษีไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้คือ 2.4 ล้านล้านบาท จะทำให้รัฐบาลไม่สามารถกู้เงินชดเชยได้อีก และอาจต้องหาแหล่งเงินจากช่องทางอื่นๆ เพื่อให้รายรับของรัฐบาลเพียงพอกับรายจ่าย...อันนี้จะเกิดปัญหาแน่

ต่อมาในงบกลางที่ตั้งไว้ 571,047 ล้านบาท แม้จะลดลงจากปีก่อน 43,568  ล้านบาท หรือลดลง 7.1% แต่ถ้าพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 8-9 % ถือเป็นรายการควรทบทวนให้มีความเหมาะสมหรือไม่ในขณะที่ประชาชนคนไทยจนลง

นอกจากนี้ถ้าใครติดตามการใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หลายโครงการเป็นการดำเนินการตามปกติของรัฐบาล ไม่ได้เป็นโครงการฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนแม้แต่น้อย แต่อยู่ในมือของ“นายกฯ” 

อันนี้ถือว่าอันตรายในการใช้งบประมาณ ถ้านายกรัฐมนตรีลุแก่อำนาจ เห็นแก่พรรค-พวก! เราก็จะเห็นงบแบบกระจุกในบางพื้นที่แน่ๆ

                                         ตัดงบประมาณกันแบบนี้ ลืมยุทธศาสตร์ชาติไปเลย!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง