วิจัยกรุงศรี เผยอุตฯเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยเนื้อหอม คาดปี 64 -66 เติบโต 2-4 %

31 พ.ค. 2564 | 14:10 น.

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยไทยปี 64 -66 แนวโน้มรุ่ง "วิจัยกรุงศรี"คาดเติบโตเฉลี่ย 2 - 4 % อานิสงค์จากเศรษฐกิจ - อสังหาในประเทศเริ่มฟื้น ส่วนตลาดส่งออกสบช่องนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐ - จีน ทำให้สินค้าไทยได้โอกาสยกทัพไปตลาดอเมริกามากขึ้น

วิจัยกรุงศรี เปิดเผยบทวิเคราะห์เรื่องแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยประเมินว่าปริมาณการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยในปี 2564-2566 คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 2.0-4.0% ต่อปี  เนื่องมาจากความต้องการในประเทศมีปัจจัยหนุนจากภาวะเศรษฐกิจและตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ทยอยฟื้นตัว 


ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น การขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) และจำนวนชนชั้นกลางในตลาดอาเซียน รวมถึงผลบวกจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนอาจเอื้อโอกาสให้เครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภทของไทย อาทิ เครื่องปรับอากาศ และตู้เย็น สามารถส่งออกไปสหรัฐฯ ได้มากขึ้น

 

ขณะที่ปริมาณความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 2.0-3.0% โดยมีปัจจัยดังนี้


(1) ตลาดที่อยู่อาศัยคาดว่าจะกระเตื้องขึ้นในปี 2565-2566 ตามทิศทางการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจ


(2) การทำตลาดของเครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญด้านสุขภาพมากขึ้น (ระบบฟอกอากาศและกำจัดแบคทีเรีย/ไวรัส เพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่น PM2.5 และป้องกันโรคระบาด) อาทิ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เครื่องฟอกอากาศ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่มีการพัฒนาความสามารถควบคุมการทำงานผ่านการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต 


(3) สภาพอากาศในปี 2565-2566 คาดว่าอุณหภูมิจะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจากสภาวะโลกร้อน ช่วยหนุนความต้องการเครื่องปรับอากาศ 


(4) การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านการทำตลาดสินค้าออนไลน์ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลและตัดสินใจซื้อได้สะดวกมากขึ้น

 

ขณะที่มูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 3.0-4.0% โดยมีปัจจัยหนุน ได้แก่


 (1) มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงยืดเยื้อน่าจะเอื้อโอกาสในการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภทของไทยไปยังสหรัฐฯ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากจีน โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ และตู้เย็น (ปี 2563 สัดส่วนส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ สำหรับเครื่องปรับอากาศอยู่ที่ 11.5% และตู้เย็นที่ 15.4% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดในแต่ละผลิตภัณฑ์ เพิ่มขึ้นจาก 5.5% และ 4.1% ตามลำดับ ในปี 2560)


(2) การส่งออกเครื่องซักผ้าไปยังสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2564 หลังสิ้นสุดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐฯ


(3) ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าในตลาดเอเชีย (สัดส่วนส่งออก19.4% ของมูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด) ยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราการถือครองเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ 


ทั้งนี้เพราะหลายประเทศมีอัตราถือครองต่ำกว่า 20% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดอาทิ อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ กัมพูชา ลาว [ที่มา: The Japan Refrigeration and Air Conditioning Industry Association (JRAIA)] นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของความเป็นเมืองและกลุ่มคนชั้นกลางในภูมิภาคเอเชีย
 

วิจัยกรุงศรีมองว่า ในระยะยาว อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามทิศทางการพัฒนาโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม 5G ที่ครอบคลุมทุกพื้นที่มากขึ้น 


สอดคล้องกับแนวโน้มความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่เป็นพื้นที่นำร่องการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคตที่เน้นการใช้เทคโนโลยีสูงตามยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม 4.0 ของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทย โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้ากลุ่มที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภททำความเย็น และเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน

 

ส่วนปัญหาขาดแคลนแผงวงจรไฟฟ้า (IC) หรือ Chips ที่เกิดขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ปลายปี 2563 ผลจากการผลิต IC ไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องสื่อสารทางไกลจากการทำงานและเรียนที่บ้าน ท่ามกลางมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ส่งผลกระทบลุกลามในอุตสาหกรรมการผลิต อาทิ 


รถยนต์ Smartphones Personal computers Notebooks Tablets Game console รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่พึ่งพาเทคโนโลยีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความล้ำสมัยสามารถเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค


โดยรายงานของ New Delhi Television (NDTV) เปิดเผยว่า โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า Whirlpool ในจีน ได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลน Microcontrollers (MCUs) และ Power Management Integrated Circuit (PMICs) เนื่องจากจำนวนที่ผู้ผลิตส่งมอบยังน้อยกว่าคำสั่งซื้อประมาณ 10% ในเดือนมีนาคม 2564 กระทบการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิ ไมโครเวฟ ตู้เย็น และเครื่องซักผ้า 


ส่งผลให้การส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปยังทวีปยุโรป และอเมริกา ลดลงประมาณ 25% และจำเป็นต้องเลื่อนการเปิดตัวเครื่องดูดควันรุ่นใหม่ออกไปอีกอย่างน้อย 4 เดือน อีกทั้ง ยังเผชิญกับปัญหาขาดแคลน Display driver chip ทำให้จอ LCD ขาดแคลน กระทบสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภทที่มีจอ LCD เป็นส่วนประกอบโดยเฉพาะโทรทัศน์ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าระดับไฮเอนด์ที่มีจอ LCD ประมวลผล อาทิ ตู้เย็น 


นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลน IC ยังส่งผลให้ราคา IC และจอ LCD ปรับตัวสูงขึ้นผลักดันต้นทุนการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย 


อย่างไรก็ตาม วิจัยกรุงศรีคาดว่าปัญหาขาดแคลน IC จะเริ่มเห็นสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เนื่องจากผู้ผลิต IC ในหลายประเทศเริ่มขยายกำลังการผลิต นอกจากนี้ ในช่วงต้นปี 2564 รัฐบาลของประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ จีน ไต้หวัน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ต่างเร่งสนับสนุนการลงทุนเพื่อขยายการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และ IC ภายในประเทศ

บทสรุปสำหรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมนี้ในมุมมองวิจัยกรุงศรี คาดว่ารายได้ของผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2564-2566 จะทยอยปรับตัวดีขึ้น โดยมูลค่าส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และโอกาสของไทยในตลาดสหรัฐฯ มีมากขึ้นจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน 


ส่วนตลาดในประเทศคาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของกำลังซื้อผู้บริโภค ขณะที่ผู้จำหน่ายกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยกลยุทธ์การเปิดตัวสินค้าใหม่ และการขยายตลาดผ่านช่องทางจำหน่ายออนไลน์


-ในแง่ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าทำความเย็น: คาดว่ารายได้จะทยอยเติบโต การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะหนุนความต้องการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่น่าจะยังคงมีอยู่จะเป็นโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นไปยังสหรัฐฯ ทดแทนจีนได้เพิ่มขึ้น (สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย)


เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกมีศักยภาพในการแข่งขัน และสามารถผลิตตู้เย็นขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่นิยมในตลาดสหรัฐฯ ได้ นอกจากนี้ อุณหภูมิที่คาดว่าจะสูงขึ้นจากสภาวะโลกร้อนน่าจะเอื้อให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภททำความเย็นเติบโตได้


-ในแง่ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนประเภทอื่นๆ: รายได้โดยรวมมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยการส่งออกเครื่องซักผ้าไปยังสหรัฐฯ (ตลาดส่งออกเครื่องซักผ้าอันดับหนึ่งของไทย) มีโอกาสฟื้นตัวได้ตั้งแต่ปี 2564 หลังสิ้นสุดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐฯ สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น การส่งออกยังเผชิญภาวะการแข่งขันสูง โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนซึ่งมีราคาถูกกว่า และมีการพัฒนาคุณภาพสูงขึ้นเป็นลำดับ 


ส่วนความต้องการใช้ในประเทศมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น โดยเฉพาะเครื่องซักผ้า เครื่องฟอกอากาศ (จากความกังวลปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดบ่อยขึ้นและมีระยะเวลานานขึ้นจนอาจส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ) และเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนขนาดเล็ก อาทิ หม้อหุงข้าว เครื่องดูดฝุ่น ไมโครเวฟ เป็นต้น (จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มฟื้นตัว) แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มภาพและเสียงมีทิศทางลดลงจากการเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพา อาทิ สมาร์ทโฟน แท็บแล็ต โน๊ตบุ๊ค เป็นต้น


-ในแง่ของผู้จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า: ร้านค้าสมัยใหม่รายใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ได้อานิสงส์จากแนวโน้มการเติบโตของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิ Power Buy, Power Mall ซึ่งมีความได้เปรียบด้านเงินทุน ความหลากหลายของสินค้า สาขาที่มีจำนวนมาก รวมทั้งกลยุทธ์การตลาดและราคาที่จูงใจ 
แต่ร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไปซึ่งมีจำนวนมากและส่วนใหญ่มีการบริหารธุรกิจแบบดั้งเดิมอาจมีความเสี่ยงด้านผลประกอบการ เนื่องจากเผชิญการแข่งขันรุนแรงขึ้นจากรายใหญ่และร้านค้าปลีกสมัยใหม่บางประเภทที่มีการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิ HomePro, homeWorks, TESCO Lotus, Big C เป็นต้น 


รวมทั้งการเข้ามาแข่งขันทำตลาดของผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้าจากจีนที่มีจุดเด่นด้านราคาและเทคโนโลยีที่ทันสมัย นอกจากนี้ยังมีร้านค้าสมัยใหม่ผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ ซึ่งเข้ามามีบทบาทและเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไปได้มากขึ้น