กลุ่มทุนกำเงิน ซื้อกิจการ ลุ้นโมเดลซิตี้กรุ๊ปกว่า 7หมื่นล้านในไทย

29 พ.ค. 2564 | 04:46 น.

กลุ่มทุนกำเงิน ซื้อกิจการ ต่อยอดธุรกิจ ลุ้นโมเดลซิตี้กรุ๊ป ลดพอร์ตธุรกิจ หรือเซ็กกระแสขายสินเชื่อรายย่อยในกว่า 7หมื่นล้านบาทในไทย

หลังจาก“ซิตี้กรุ๊ป” ธนาคารใหญ่อันดับ 3สัญชาติสหรัฐ ปรับกลยุทธ์มุ่งเน้นธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง(เวลธ์)มากขึ้น พร้อมประกาศแผนขายธุรกิจบุคคลธนกิจ(Consumer Banking) ส่วนใหญ่ในเอเชียและยุโรปตะวันออก 13แห่ง อาทิ  ออสเตรเลีย, บาห์เรน, จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, โปแลนด์, รัสเซีย, ไต้หวัน, ไทย และเวียดนามนั้น สร้างปรากฎการณ์ กลุ่มทุนกำเงิน ซื้อกิจการ ต่อยอดธุรกิจ ลุ้นโมเดลซิตี้กรุ๊ป ลดพอร์ตธุรกิจ หรือเซ็กกระแสขายสินเชื่อรายย่อยในกว่า 7หมื่นล้านบาทในไทย

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินระบุว่า  ซิตี้กรุ๊ปประกาศลดพอร์ตในหลายประเทศรวมทั้งในไทย  เป็นเพียงการเรียกแขกที่ค่อนข้างได้ผล เพราะมีผู้เล่นแสดงความสนใจ  ส่วนใหญ่สนใจซื้อไส้ในทรัพย์สิน (ทั้งทรัพย์สินถาวรและไม่ถาวร) หรือระบบไอที และระบบปฏิบัติการ เช่น  สินเชื่อ  เงินฝาก  หากอาจจะมีหนี้สินติดมาด้วย  โดยเฉพาะซิตี้กรุ๊ปมีพอร์ตลูกค้าบริการจัดการด้านการเงิน(Cash Management)  ถ้าใครประมูลได้ก็มีโอกาสได้รับดอกเบี้ยฟรีระหว่างที่เงินสดไหลเข้ามาพัก และส่วนใหญ่เป็นบัญชีเงินฝากกระแสรายวันซึ่งไม่มีภาระดอกเบี้ยจ่าย แถมยังได้ฐานลูกค้าบริษัทต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ทรัพย์สินต่างๆ  ซึ่งซิตี้กรุ๊ปได้มีการลงทุน เช่น อาคารที่ดินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการปรับโครงสร้างหนี้  เหล่านี้ ถือสภาพคล่องในอนาคตได้  รวมถึงพอร์ตสินเชื่อปกติ ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต  สินเชื่อส่วนบุคคล หรือสินเชื่อที่มีหลักประกัน  อย่างไรก็ตามในส่วนหนี้เสีย(เอ็นพีแอล) นั้น ปกติมักจะอยู่ที่ 3-5%ของพอร์ตสินเชื่อรวม

“ ขณะนี้ต้องรอความชัดเจนจากซิตี้กรุ๊ป  เพราะการประกาศแผนยังไม่มีความชัดเจนเป็นเพียงการเช็กกระแส เพื่อดึงผู้เล่นเข้ามา แข่งขัน  ซึ่งก็ได้ผล เพราะมีผู้เล่นทั้งหน้าเดิมและหน้าใหม่ให้ความสนใจ รวมถึงแบงก์ใหญ่ ที่สนใจจะซื้อระบบเทคโนโลยีของซิตี้กรุ๊ป  นับเป็นความฉลาดของซิตี้กรุ๊ป ในการทำราคา  แต่ที่สำคัญจนถึงเวลานี้ ซิตี้กรุ๊ปยังไม่มีข้อสรุปออกมาอย่างเป็นทางการ ว่าจะมีการขายสินเชื่อยกพอร์ต หรือแยกพอร์ตแต่อย่างใด”

ที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยยอมรับว่า การเข้าซื้อธุรกิจหรือกิจการของบริษัทอื่นนั้น เป็นแนวทางหนึ่งในการดำเนินธุรกิจที่ทำกันเป็นปกติทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อเป็นช่องทางการขยายหรือสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น  แต่การจะพิจารณาเข้าซื้อหรือร่วมประมูลหรือไม่ ยังต้องมีขั้นตอนและรายละเอียดที่มากพอสมควรเพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินธุรกิจของธนาคารที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนมาตลอด ดังนั้น ณ ขณะนี้ธนาคารกสิกรไทยยังไม่ได้มีการตัดสินใจใด ๆ เกี่ยวกับการเข้าซื้อหรือประมูลธุรกิจลูกค้าบุคคลของซิตี้แบงก์ในประเทศ

ส่วนบริษัท บัตรเครดิตกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ระบุว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาพอร์ตสินเชื่อรายย่อยของซิตี้แบงก์ มูลค่ารวมประมาณ 7.7หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย  สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และ ไพรเวทแบงก์  เพราะมีฐานลูกค้าที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับฐานลูกค้าของเคทีซีโดยสามารถเสริมศักยภาพกันได้หากได้มาในราคาที่เหมาะสม

นายสุทธิรักษ์  ตรัยชิรอาภรณ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส(JMT) กล่าวว่า ยังไม่มีข้อเท็จจริงว่ากระบวนการขายจะเริ่มเมื่อไรหรือในรูปแบบไหน ดังนั้น บริษัทถือเป็นบุคคลที่ 3 ในฐานะผู้สนใจ จึงต้องรอความชัดเจนจากซิตี้กรุ๊ป ไม่ว่าในแง่ของของรูปแบบการขายยกพอร์ต หรือแยกบางส่วนของธุรกิจและโมเดลที่จะออกมา

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ CHAYOกล่าวว่า ชโยสนใจซื้อทรัพย์ใน 2ส่วนคือ หนี้เสีย และทรัพย์สินของบริษัทถ้ามีมูลค่า   ส่วนเงินฝากกับสินเชื่อเป็นฐานใหญ่เกินสำหรับชโย  อย่างไรก็ตาม มาจนถึงตอนนี้ ทางซิตี้กรุ๊ปยังไม่มีการออกหนังสือหรือเอกสารกำหนดขอบเขตและรายละเอียด (TOR)เกี่ยวกับประเภททรัพย์ที่จะนำออกขายหรือรูปแบบการขายแต่อย่างใด  แต่การทำตลาดของซิตี้กรุ๊ปเนื่องจากมีซัพพลายจำนวนหนึ่งแต่สามารถสร้างดีมานด์โดยดึงผู้เล่นสร้างความน่าสนใจ และราคาก็จะดีขึ้น   

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

"ซิตี้กรุ๊ป"เลิกธุรกิจลูกค้ารายย่อยใน 13 ประเทศรวมไทย 

กสิกรไทยแจงอยู่ระหว่างการศึกษา