ไขข้อสงสัยข้อห้าม-ใครไม่ควรฉีดวัคซีนโควิด-การเตรียมตัว เช็กที่นี่

24 พ.ค. 2564 | 01:40 น.

หมอยงไขข้อสงสัยข้อห้าม ใครไม่ควรฉีดวัคซีน และการเตรียมตัว ระบุเหมือนไปฉีดวัคซีนทุกปีป้องกันไข้หวัดใหญ่ พักผ่อนให้พอ  ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น

ดูเหมือนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ การจองคิวฉีดวัคซีน ซึ่งแน่นอนว่ามีหลายแห่งเปิดให้จองคิวเพื่อเข้ารับการฉีด โดยส่วนใหญ่คิวจะยาว กว่าจะได้ฉีดเร็วสุดบางรายต้องรอถึงเดือนกรกฏาคม ล่าสุด "ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" ออกมาระบุว่า คิวฉีดวัคซีนเต็มถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 64 ไปแล้ว เป็นต้น ส่วนอีกหนึ่งปัญหาก็คือความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่จะเกิดจากการฉีดวัคซีน ซึ่งก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องของลิ่มเลือดอุดตัน เช่น กรณีของประเทศฝรั่งเศสที่สั่งชะลอการฉีดวัคซีนออกไปด้วยสาเหตุดังกล่าว
    ล่าสุด ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า
    โควิค 19 วัคซีน ข้อห้ามหรือใครไม่ควรรับวัคซีน และการเตรียมตัว
    ยง ภู่วรวรรณ
    มีคำถามเข้ามามากจริงๆ จะรับวัคซีนได้ไหม
    ขอชี้แจงเลยว่าข้อห้ามสำหรับผู้ที่ไม่ควรรับวัคซีน
    1.ผู้ที่รับวัคซีนแล้วเกิดแพ้วัคซีนอย่างรุนแรง ถึงขั้นช็อก (Anaphylaxis) วัคซีนนี้เป็นวัคซีนใหม่ถ้าให้เข็มแรกก็คงไม่มีใครรู้ ทุกคนจึงไม่อยู่ในข้อนี้ แต่ถ้าให้เข็มแรกแล้วแพ้รุนแรง เข็ม 2 ให้ไม่ได้แน่นอน ต้องเปลี่ยนชนิดวัคซีน ผู้ที่รู้ว่าแพ้ส่วนประกอบในวัคซีน ก็ไม่สมควรให้ 
    ในทางปฏิบัติก็คงเป็นการยากพอสมควรที่แพ้ส่วนผสมในวัคซีน วัคซีนทั้งหลายขณะนี้ไม่มียาปฏิชีวนะ ไม่มีส่วนผสมของไข่  ดังนั้นผู้ที่แพ้ยา อาหาร หรือภูมิแพ้ต่างๆไม่ได้เป็นข้อห้ามแต่อย่างใด แต่ผู้ที่เคยแพ้อย่างรุนแรง หลังฉีดก็เฝ้าดูอาการอาจจะนานกว่าคนธรรมดาสักหน่อยก็ได้ 

 ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ
    2.ผู้ที่เจ็บป่วย มีไข้ หรือเป็นโรคปัจจุบันที่ต้องการการรักษา ผู้ป่วยวิกฤต ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้ายของโรค และผู้ป่วยที่รักษา โดยเฉพาะนอนในโรงพยาบาล ก็ให้เลื่อนไปก่อน จนกว่าทุกอย่างอยู่ในสภาพคงที่แล้ว และกลับบ้านแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราจะเห็นว่าจะมีข้อห้ามเด็ดขาดน้อยมาก 
    ดังนั้นผู้ที่มีโรคประจำตัว และดูแลรักษาอยู่มีภาวะคงที่ ถึงจะกินยาประจำ ก็สามารถให้วัคซีนได้ เช่นเดียวกับการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ถ้าทุกปีเราสามารถให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ ก็ไม่ได้มีข้อห้าม 
    เบาหวาน ความดัน ก็สามารถฉีดวัคซีนได้ ถ้ารักษาและดูแลอยู่ตลอดอยู่แล้ว ยกเว้นเสียแต่ความดันที่ไม่สามารถควบคุมได้ หรือเบาหวานที่ยังควบคุมไม่ได้มีน้ำตาลสูงมาก ขนาดมีอาการที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลก็ให้เลื่อนไปก่อน 
    โรคประจำตัว โรคพันธุกรรมต่างๆ เช่นธาลัสซีเมีย ก็ไม่ได้เป็นข้อห้าม ยาที่รับประทานประจำ ก็ให้คงรับประทานยานั้นเหมือนปกติ ไม่มีความจำเป็นต้องงดยาก่อนฉีดวัคซีน
การกินยากดภูมิต้านทาน ก็ไม่ได้เป็นข้อห้าม แต่ให้รู้ว่าถ้าฉีดวัคซีนภูมิต้านทานจะขึ้นได้ไม่ดี ถ้าจะหยุดยาก่อนควรปรึกษาแพทย์เพราะในบางครั้งถ้าหยุดยาแล้วโรคกำเริบก็ไม่ควรหยุด ฉีดไปดีกว่าไม่ฉีดถึงแม้ภูมิจะต่ำ ก็สามารถไปฉีดเพิ่มทีหลังได้ วัคซีนที่ฉีดทุกตัวเป็นเชื้อตายหรือแบ่งตัวไม่ได้อยู่แล้ว
    ผู้ป่วย  HIV ก็สามารถฉีดได้ ยกเว้นเสียแต่ว่ากำลังมีอาการ หรือ cd4  น้อยกว่า 200  ก็ควรจะรักษาเสียก่อน ให้ทุกอย่างดีขึ้นแล้วรีบฉีดวัคซีน 
    ผู้ที่กินยาละลายลิ่มเลือด ก็ให้กินต่อไป แต่หลังฉีดวัคซีน จะต้องกดรอยฉีดให้นาน 5-10 นาทีเพื่อป้องกันเลือดออกง่าย
    ใครทานกาแฟอยู่เป็นประจำทุกวัน ก็ทานไป ถ้าใครทานนานๆครั้ง ก็ไม่ควรทานกาแฟวันที่ฉีดวัคซีน หรือใครไม่ทานก็ไม่ควรทานวันฉีดวัคซีน เพราะจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว   และบีบเส้นเลือด ความดันจะขึ้นสูง คนที่ทานประจำ  ร่างกายปรับตัวได้อยู่แล้ว ถ้าหยุดทานกาแฟ จะรู้สึกหงุดหงิด และปวดหัวเอาได้ง่ายๆ ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ว่า ผู้ที่ทานกาแฟเป็นประจำทุกวันต้องหยุดกาแฟ 
    ผู้ที่ทานยาบีบเส้นเลือดเช่นยารักษาปวดหัวไมเกรน ถ้าหยุดได้ก็ควรจะต้องหยุด ถ้าปวดหัววันนั้นและหยุดไม่ได้ ก็เลื่อนวันฉีดออกไป 
    วันฉีดวัคซีนไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ รับประทานอาหารให้เต็มที่แบบปกติ แต่ก็ไม่ต้องถึงกับกินน้ำหลายๆ ลิตรอย่างที่มีการพูดกัน ให้มั่นใจว่าร่างกายเราไม่ได้ขาดน้ำ ถ้าอย่างที่ส่งต่อกันให้กินวันละ  5 - 6 ลิตร ไม่แน่ใจว่าสถานที่ฉีด จะมีห้องน้ำให้เข้าเพียงพอหรือเปล่า ดูก็แล้วกันว่าถ้าสถานที่ไม่มีที่ปรับอากาศอากาศร้อนก็ทานน้ำให้มาก ถ้าอยู่ในห้องแอร์ที่เย็น ก็อย่าให้ขาดน้ำก็แล้วกันคงไม่ต้องถึงกับกินมากอย่างที่บอกในสื่อต่างๆ 
    การเตรียมตัวฉีดวัคซีน ก็เหมือนอย่างที่เราไปฉีดวัคซีนกันทุกปีป้องกันไข้หวัดใหญ่ พักผ่อนให้พอ  ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ผ่อนคลาย เพราะสภาพที่เป็นอยู่ตอนนี้ หลายคนเดินเข้ามาก็เกิดความกลัว วัดความดันก็พุ่งสูงกันหมด และหลังฉีดก็มีการเป็นลมได้ เหมือนกับที่เราพบบ่อยกับการเจาะเลือด แล้วหลายคนเป็นลม การเป็นลมดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการแพ้ยาฉีดแต่อย่างใด หน้าซีดจนหลายคนกลัว ที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่เราเห็นกันบ่อยๆ ไม่มีอันตรายอย่างใดเลย 
    ชีวิตทุกคนต้องเดินหน้า การฉีดวัคซีนก็ให้คิดว่าเหมือนอยู่ในภาวะปกติ ที่เราให้วัคซีนกันในชีวิตประจำวัน แล้วทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี
    #หมอยง
    ขณะที่พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความว่า 
    วัคซีนโควิด-19 กับผู้ที่มีโรคประจำตัว
       ผลการศึกษาในต่างประเทศพบว่าผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพียง 11% ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ที่ดูแลตัวเองเกี่ยวกับการรับวัคซีน Covid-19 มีถึง 36% ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะรับวัคซีนโควิค-19 ดีหรือไม่ โดยมีเหตุผลสำคัญในเรื่องผลข้างเคียง ความปลอดภัย ผลกับโรคของตนเอง และประสิทธิภาพของวัคซีน แล้วยังพบว่า 44% มีน้ำหนักเพิ่มขั้น 30% หยุดออกกำลังกาย 22% พบว่ามีปัญหาด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น และ 33% ปัญหาโรคเรื้อรังแย่ลงระหว่างการระบาด ผลสำรวจนี้คงไม่แตกต่างจากเมืองไทยสักเท่าไหร่  
    วันนี้เลยขอเอาประเด็นการรับวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวมาเขียนให้ดูกันครับ
      ทำไมผู้ที่มีโรคประจำตัวจึงควรได้รับวัคซีนโควิด-19
        ผู้ที่มีโรคประจำตัว มักมีอาการรุนแรงเมื่อเป็น Covid-19 รวมทั้งอาจมีการกำเริบของโรคที่เป็นอยู่เมื่อมีการติดเชื้อ ทำให้อาการยิ่งรุนแรงขึ้น และทำให้เสียชีวิตมากกว่าผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว  ถึงแม้การศึกษาทางคลินิกของวัคซีนทุกตัวในปัจจุบัน มีผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวร่วมในการศึกษาไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในบุคลากรทางการแพทย์หรือประชาชนทั่วไป 
    ข้อมูลที่มีอยู่แสดงว่าวัคซีนอาจมีประสิทธิภาพลดลงในผู้ที่มีโรคประจำตัวบางโรค โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ  แต่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกก็แนะนำให้ผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากผลดีจากวัคซีนในการลดความรุนแรงของโรคจะมากกว่าผลเสียที่เกิดขึ้นจากวัคซีน เช่นเดียวกับผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว

พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์
    ผู้ที่มีโรคประจำตัวจะเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากวัคซีนโควิด-19 มากขึ้นไหม
    เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรง เช่น อาการปวดบริเวณที่ฉีด อาการไข้ อาการปวดเมื่อยตามตัว ไม่ได้เพิ่มขึ้นในผู้มีโรคประจำตัวเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว  และรายงานการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง เช่นภาวะหลอดเลือดดำอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำหลังการฉีดวัคซีนที่มีรายงานในต่างประเทศประมาณ 1 ในแสนราย ส่วนใหญ่กลับพบในคนอายุน้อยที่ไม่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีปัญหาหลอดเลือดอุดตันมาก่อนจึงสามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้ หรือปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับความเครียด (ISRR) จากการฉีดวัคซีนกับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งทำให้มีอาการชา อ่อนแรง คลื่นไส้ วิงเวียน เป็นลม ตามัว พูดไม่ชัด เกร็ง ก็มักเป็นในผู้หญิงอายุน้อย เป็นกลุ่มก้อน โดยไม่พบความผิดปกติของสมอง ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือลมชัก ก็สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้  
    ผู้ที่มีโรคประจำตัวได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วโรคที่เป็นจะแย่ลงไหม
    ยังไม่มีข้อมูลรายงานว่าเมื่อผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคภูมิแพ้ โรคเอชไอวี โรคไทรอยด์ โรคผิวหนัง และโรคอื่น ๆ จะมีอาการแย่ลงหรือกำเริบหลังได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19  แต่มีข้อระมัดระวังสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวในการรับวัคซีนคือ ในช่วงที่รับวัคซีนจะต้องไม่มีการกำเริบของโรค เช่น ผู้ป่วยโรคหอบหืดมีอาการหอบมากขึ้นก่อนฉีด ผู้ป่วยโรคหัวใจมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกหรือเหนื่อยหอบ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการเฉียบพลัน ผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังอยู่ในช่วงได้รับเคมีบำบัดหรือมีไข้ก่อนให้วัคซีน และผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ความดันโลหิตสูงขั้นวิกฤติ  ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและมีอาการกำเริบของโรคเหล่านี้ ควรได้รับการดูแลรักษาจนอาการกำเริบดีขึ้นแล้ว จึงสามารถฉีดวัคซีนได้
    หากมีข้อสงสัยว่ามีข้อห้ามในการให้วัคซีนหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลรักษานะครับ
    อย่างไรก็ดี "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมข้อมูลจากกรมควบคุมโรค  กระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-22 พ.ค. 64 พบว่า มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 2,865,019 โดส ประกอบด้วย เข็มที่ 1 จำนวน 1,898,332 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 966,759 ราย