เอกชนลุ้นรับยากระตุ้นซ้ำ ชี้ตลาดคอนโดฯ 2 เดือนแรกยอดโอนพุ่ง 45%

28 เม.ย. 2559 | 02:00 น.
เอกชนลุ้นก๊อก 2 มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ชี้ที่ผ่านมาได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ ช่วยสร้างแรงกระตุ้นเร่งโอน กูรูอสังหาฯเปิดยอดโอน 2 เดือนแรกปี 59 พบตลาดคอนโดฯ ได้รับอานิสงส์เต็มที่ ยอดโอนพุ่ง 45% แต่แนวราบยอดโอนกลับลดลง เผยสมาคมภาคอสังหาฯส่งผลที่ได้รับต่อภาครัฐหวังได้ต่อมาตรการ

[caption id="attachment_48250" align="aligncenter" width="700"] หน่วยโอนกรรมสิทธิห้องชุด , บ้านจัดสรรค์ หน่วยโอนกรรมสิทธิห้องชุด , บ้านจัดสรรค์[/caption]

นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เกี่ยวกับยอดการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดและบ้านจัดสรรในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ช่วง 2 เดือนแรก ปี 2559 (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2559) พบว่า ยอดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมกราคมจาก 5,062 หน่วย เป็น 7,001 หน่วย รวม 12,063 หน่วย และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 ก็พบว่ายอดโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันจากเดือนมกราคม 2558 อยู่ที่ 4,124 หน่วย เดือนกุมภาพันธ์ 4,220 หน่วย รวม 8,344 หน่วย หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 45%

ขณะที่ยอดโอนกรรมสิทธิ์บ้านจัดสรร 2 เดือนแรกปี 2559 อยู่ที่ 14,020 หน่วย แบ่งเป็นยอดโอนเดือนมกราคม 6,297 หน่วย เดือนกุมภาพันธ์ 7,723 หน่วย โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่ายอดโอนกรรมสิทธิ์อยู่ที่ 16,404 หน่วย แสดงให้เห็นว่ายอดโอนกรรมสิทธิ์ในกลุ่มสินค้าแนวราบลดลงอย่างเห็นได้ชัด

"ยอดการโอนกรรมสิทธิ์ที่เพิ่มขึ้นของคอนโดมิเนียมเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ที่เห็นผลอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2558 โดยดูได้จากยอดโอนรวมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 อยู่ที่ประมาณ 1.3 หมื่นหน่วย เดือนพฤศจิกายนประมาณ 2.2 หมื่นหน่วย และเดือนธันวาคมประมาณ 2.7 หมื่นหน่วย โดยยอดโอนส่วนใหญ่มาจากกลุ่มคอนโดมิเนียม เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีสต๊อกพร้อมขายจำนวนมาก ไม่เหมือนกับสินค้าประเภทแนวราบที่มีทั้งก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเข้าอยู่ ซึ่งมีจำนวนไม่มาก เพราะโครงการแนวราบส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ก่อสร้างไปขายไป รวมทั้งเป็นยังมีในส่วนของที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และอยู่ในแผนงานก่อสร้าง ซึ่งต้องใช้เวลาในการก่อสร้าง"นายอิสระ กล่าว

ทั้งนี้ จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า มาตรการอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ ด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์จาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% มีส่วนช่วยกระตุ้นการตัดสินใจโอนได้เป็นอย่างมาก โดยหลังจากสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวก็ยังมีโครงการบ้านประชารัฐมาช่วยผู้ต้องการมีบ้านหลังแรกในระดับราคา 1.5 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นตลาดระดับกลาง-ล่างได้อีกทางหนึ่ง

เช่นเดียวกับนายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นอสังหาฯได้ผลค่อนข้างดี ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2558 ตัวเลขการโอนเติบโตแบบก้าวกระโดดเป็น 30% และกลับมาสู่ปกติในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2559 โดยยอดโอนบ้านจัดสรรในกรุงเทพฯ ช่วง 2 เดือนแรกปีนี้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 5 พันหน่วย ลดลงจากปกติ ขณะที่คอนโดมิเนียมยังอยู่ในระดับปกติเฉลี่ย 8 พันหน่วยต่อเดือน

สะท้อนว่ามาตรการกระตุ้นดังกล่าวส่งผลดีต่อภาพรวมธุรกิจอสังหาฯ ป้องกันการลดลงของตลาด เมื่อเปรียบเทียบระหว่างตลาดในกรุงเทพฯและปริมณฑล กับภูมิภาค ถือว่าตลาดในส่วนกลางยังไปได้ เติบโตประมาณ 5% ขณะที่ตลาดภูมิภาคยังลดลงประมาณ 20%

ด้านแหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์กล่าวว่า ขณะนี้ทางสมาคมอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องต่างๆได้มีการรวบรวมผลสรุปยอดโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงที่มีมาตรการกระตุ้นให้กับรัฐบาล เพื่อให้รับทราบว่ามาตรการดังกล่าวมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการตัดสินใจโอนอย่างมาก โดยทางสมาคมที่เกี่ยวข้องก็หวังว่าภาครัฐอาจจะมีมาตรการเช่นนี้ออกมาอีกครั้งในการช่วยกระตุ้นตลาด

นายกิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คาดว่ามาตรการกระตุ้นอสังหาฯของภาครัฐจะช่วยสร้างความคึกคักให้กับตลาดในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดค่อนข้างเงียบได้เป็นอย่างดี โดยดูได้จากยอดโอนของบริษัทที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ สำหรับสินค้าพร้อมโอนของบริษัทในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2.1 พันล้านบาท โดยเป็นสินค้าที่สอดรับกับมาตรการคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1 พันล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแนวราบ 7 โครงการ มูลค่า 350-400 ล้านบาท และโครงการคอนโดมิเนียม เอส9 ประมาณ 750 ล้านบาท

ด้าน ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการและกรรมการบริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นอสังหาฯช่วยกระตุ้นยอดโอนได้จริง แต่ในส่วนของยอดขายใหม่อาจประเมินได้ยากว่ามาจากมาตรการกระตุ้นหรือไม่ โดยกลุ่มสินค้าที่ได้รับอานิสงส์โดยตรงจากมาตรการดังกล่าวคือกลุ่มคอนโดมิเนียม เนื่องจากฐานรายได้ขนาดใหญ่ของประเทศเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่สูงมาก กำลังการซื้อที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท ดังนั้นผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในระดับนี้ที่ต้องการการเดินทางที่สะดวกก็หนีไม่พ้นคอนโดมิเนียม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,152 วันที่ 28 - 30 เมษายน พ.ศ. 2559