ปี’63 ค่ายญี่ปุ่นกำไรหด โตโยต้าโกย 3.6 แสนล้านบาท นิสสันขาดทุน 7.2 พันล้าน

15 พ.ค. 2564 | 02:35 น.

ส่องผลประกอบการปี 2563 ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นในไทย โตโยต้า กวาดรายได้กว่า 3.6 แสนล้านบาท แต่กำไรลดลงเหลือ 12,486 ล้านบาท ส่วนนิสสัน ยังขาดทุนบักโกรก 7,212 ล้านบาท

อุตสาหกรรมยานยนต์โลกป่วน จากโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยที่เป็นฐานการผลิตสำคัญของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ทั้ง การขายในประเทศ และยอดส่งออกลดลงในปี 2563 ขณะเดียวกัน ยังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียานยนต์ พฤติกรรมผู้บริโภค สภาพแวดล้อมทางการตลาด ทั้งยังโดนคู่แข่งจากจีน และแบรนด์น้องใหม่ที่ไม่เคยอยู่ในธุรกิจรถยนต์มาก่อน ตีตลาด จนทำให้ค่ายรถยนต์ต้องปรับแผนงาน หรือวางแผนโครงสร้างธุรกิจในระดับโลกกันใหม่

ในปี 2563 อุตสาหกรรมยานยนต์เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญคือ เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ถอนการลงทุนจากประเทศไทย และขายโรงงานผลิตรถยนต์ จ.ระยอง ให้เกรท วอลล์ มอเตอร์ ทุนใหญ่จากจีน ตลอดจนการปรับโครงสร้างธุรกิจของนิสสัน และมิตซูบิชิ มอเตอร์ส และฮอนด้า มอเตอร์ (ต้นปี 2564)

ด้านยอดขายในปีปฏิทิน 2563 ตลาดรวมทำได้ 7.9 แสนคัน ลดลง 21% เมื่อเทียบกับปี 2562 เกือบทุกค่ายญี่ปุ่นยอดขายตก ยกเว้น อีซูซุ กับ ซูซูกิ (และค่ายที่ไม่ใช่ญี่ปุ่น คือ เอ็มจี)

สำหรับยอดผลิตรถยนต์ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รวมจากทุกโรงงาน 442,822 คัน ลดลง 22.4% เมื่อเทียบกับปี 2562 และยอดขายในประเทศทำได้ 244,316 คัน ลดลง 26.5% ด้านการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 215,277 คัน ลดลง 18.7%

ปี’63 ค่ายญี่ปุ่นกำไรหด โตโยต้าโกย 3.6 แสนล้านบาท นิสสันขาดทุน 7.2 พันล้าน

สอดคล้องกับงบการเงิน ปี 2563 ที่โตโยต้าแจ้งต่อกระทรวงพาณิชย์ ว่า โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย มีรายได้รวม 368,256 ล้านบาท ลดลง 13.16% ได้กำไรหลังหักภาษี 12,486 ล้านบาท แต่ถ้าเทียบกับผลกำไรปีก่อนหน้า พบว่าร่วงไปถึง 41.82%

บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นในไทย ส่วนใหญ่รายรับเกินหลักแสนล้านบาทต่อปี ทว่าปีนี้ทุกค่ายมีผลประกอบการลดลง เช่น บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด รายได้รวม 206,706 ล้านบาท ตก 13.57% กำไรสุทธิ 11,648 ล้านบาท ตก 8.89%

อีซูซุ แบ่งเป็นโรงงานผลิต บริษัท อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด รายได้รวม 169,450 ล้านบาท ตก 8.19% กำไรสุทธิ 10,375 ล้านบาท ตกลงไป 33.81% ส่วนบริษัทขาย ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ สถานการณ์ดีกว่า ด้วยกำไรสุทธิ 14,118 ล้านบาท ลดลง 10.40% เมื่อเทียบกับปี 2562

บริษัทที่ผลประกอบการยังสาหัส คือ นิสสัน ทำรายได้รวมได้ 108,426 ล้านบาท ติดลบ 21.21% และขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 7,212 ล้านบาท จากปี 2562 ที่ขาดทุน 1,003 ล้านบาท หรือปี 2561 ที่ขาดทุนไป 4,814 ล้านบาท

นิสสัน ยังมีปัญหาการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง แม้พยายามจะรีดไขมัน และปรับแผนงานต่างๆ เช่น เลิกทำตลาดรถยนต์ที่ไม่สามารถแข่งขันได้ในไทย (ซิลฟี เอ็กซ์เทรล เทียน่า) โดยหันมาเน้นปิกอัพ นาวารา และอีโคคาร์ อัลเมรา

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของนิสสันยังดูไม่แจ่มใส โดยยอดขายไตรมาสแรกปีนี้(ม.ค.-มี.ค.64) ทำได้ 8,557 คัน ลดลง 36.6% และโดน มาสด้า แซงขึ้นไปอยู่อันดับ 5 ของตลาดรวมเป็นที่เรียบร้อย

ขณะที่ภาพรวมของตลาด แม้ต้นปีที่ผ่านมาจะเริ่มเห็นแสงสว่าง พร้อมข่าวการมาของวัคซีน แต่กลับพบการแพร่ระบาดรอบ 3 รวมถึงปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิต ยังเป็นปัจจัยฉุดอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปีนี้

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประเมินตลาดก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19รอบใหม่ว่า ยอดผลิตรถยนต์ปี 2564 จะขยับเพิ่มเป็น 1.5 ล้านคัน แบ่งเป็นการขายในประเทศ 7.5 แสนคัน และส่งออก 7.5 แสนคัน 

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,679 วันที่ 16 - 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564