อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ 31.33 บาทต่อดอลลาร์

14 พ.ค. 2564 | 00:18 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังคงเผชิญความผันผวนจากปัจจัยลบภายในประเทศ เห็นได้จากที่นักลงทุนต่างชาติ ทยอยขายหุ้นไทยกว่า 1 หมื่นล้านบาท ในสัปดาห์นี้

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.33 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.39 บาทต่อดอลลาร์ แม้ว่า ทิศทางเงินดอลลาร์จะทรงตัว คาดว่าเงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะผู้ส่งออกก็รอขายเงินดอลลาร์อยู่

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ผู้เล่นในตลาดการเงินเริ่มเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังจากที่บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างมองว่า การเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อเป็นเพียงภาวะชั่วคราว ซึ่งจะไม่ได้ส่งผลให้เฟดปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้นในเร็วๆนี้ นอกจากนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากที่ข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ลดลงสู่ระดับราว 4.7 แสนราย ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ ภาพดังกล่าวหนุนให้สินทรัพย์เสี่ยงฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากเผชิญแรงเทขายอย่างหนักในช่วง 3 วันที่ผ่านมา โดยในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนหุ้น Cyclical & Value หนุนให้ ดัชนี Dowjones ปิดบวก 1.3% เช่นเดียวกับ ดัชนี S&P500 ที่ปรับตัวขึ้นราว 1.2% ส่วน  ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq รีบาวด์ขึ้นมาราว 0.7% เนื่องจากยังมีผู้เล่นบางส่วนรอคอยสะสมหุ้นเทคฯ เมื่อปรับฐาน (buy on dip)

 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป นักลงทุนทยอยเข้าซื้อสะสมหุ้นกลุ่มเทคฯ หลังจากที่มีการปรับฐานหนัก หนุนให้ หุ้นเทคฯ ส่วนใหญ่ต่างรีบาวด์ขึ้นมา อาทิ Adyen +1.9%, ASML +1.8% เป็นต้น ทำให้ โดยรวม ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปิดบวก 0.16% อย่างไรก็ดี โดยรวมตลาดหุ้นยุโรปฟื้นตัวดีขึ้น เกือบทุกตลาด ยกเว้น ดัชนี FTSE100 ของอังกฤษ ที่ย่อตัวลงกว่า 0.6% กดดันโดยแรงเทขายหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงกว่า 3% 

 

ทางด้านตลาดบอนด์ ท่าทีของเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งไม่กังวลต่อการเร่งตัวของเงินเฟ้อและยืนกรานไม่เร่งรีบปรับนโยบายการเงิน รวมถึง การปรับตัวลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงราว 4bps สู่ระดับ 1.66% ทั้งนี้ เรามองว่า เฟดกำลังพยายามควบคุม Yield Curve อยู่ เพื่อให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวไม่ปรับตัวขึ้นเร็วและแรง ผ่านการซื้อบอนด์ระยะยาวในช่วง 7-30ปี มากขึ้น สะท้อนผ่านการปรับแผนการซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามมาตรการคิวอี เดือนละ 8 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่จะมีการซื้อบอนด์ระยะยาวมากขึ้นกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน ดังนั้น เราจึงมองว่า การปรับขึ้นของยีลด์ระยะยาว โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐฯ จะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป มากกว่าจะเร่งตัวขึ้นเร็วและแรงเหมือนช่วงต้นปี ยกเว้นในกรณีที่เฟดส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะปรับลดคิวอี ซึ่งต้องติดตามงานสัมมนาประจำปีเฟดที่ Jackson Hole ในช่วงเดือนสิงหาคม

 

ทั้งนี้ เมื่อตลาดเริ่มเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น และบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ก็ย่อตัวลง ความต้องการถือเงินดอลลาร์เพื่อหลบความปั่นป่วนในตลาดจึงลดลง ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงมาแกว่งตัวใกล้ระดับ 90.75 จุด  โดยค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) แข็งค่าขึ้น สู่ระดับ 109.5 เยนต่อดอลลาร์ ส่วนเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์ (GBP) ทรงตัวที่ระดับ 1.207 ดอลลาร์ต่อยูโร และ 1.405 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ตามลำดับ

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งตลาดมองว่า ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนเมษายน จะเพิ่มขึ้นราว 1.0%m/m หนุนโดยความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนผ่านตัวเลขคาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (UofMichigan Consumer Sentiment) เดือนพฤษภาคม ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 90.1 นอกจากนี้ ตลาดจะยังคงจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อติดตามมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายการเงิน ซึ่งถ้อยแถลงที่ยืนกรานว่าเฟดไม่ได้กังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและไม่รีบปรับนโยบายการเงิน อาจหนุนให้ตลาดโดยรวมมีความมั่นใจมากขึ้นและกล้าที่จะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้

 

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราคาดว่า เงินบาทยังคงเผชิญความผันผวนจากปัจจัยลบภายในประเทศ ดังจะเห็นได้จากการที่นักลงทุนต่างชาติ ทยอยขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง (นักลงทุนต่างชาติ ขายหุ้นไทยสุทธิกว่า 1 หมื่นล้านบาท ในสัปดาห์นี้) แม้ว่า ทิศทางเงินดอลลาร์จะทรงตัวก็ตาม ทั้งนี้ เราคงมองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะผู้ส่งออกก็รอขายเงินดอลลาร์อยู่ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 31.30-31.40 บาทต่อดอลลาร์ และเงินบาทก็มีแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ ที่เรามองว่ายังไม่สามารถจะผ่านได้เร็วในระยะสั้นนี้ ดังนั้น ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ส่งออกควรใช้โอกาสที่เงินบาทอ่อนค่าลง ในการพิจารณาปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพราะแนวโน้มเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นจากระดับปัจจุบัน มากกว่าที่จะอ่อนค่าแตะระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ จากเทรนด์ดอลลาร์อ่อนค่าลง รวมถึง แนวโน้มการเกินดุลการค้าและฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่จะทยอยกลับเข้าตลาด EM ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

กรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.25-31.40 บาท/ดอลลาร์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเช้านี้ (14 พ.ค.) ปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 31.32  บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 31.39 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นตามทิศทางของเงินหยวนและสกุลเงินในภูมิภาคบางส่วน ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ชะลอทิศทางการแข็งค่าลง หลังจากที่รองประธานเฟดกล่าวย้ำว่า เฟดจะยังไม่เปลี่ยนท่าทีนโยบายการเงิน โดยจะใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่อไป พร้อมกับประเมินว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ จะเป็นภาวะเพียงชั่วคราว 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 31.25-31.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามน่าจะอยู่ที่สถานการณ์โควิดทั้งไทยและต่างประเทศ และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้แก่ ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีราคาสินค้านำเข้าเดือนเม.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) สำหรับเดือนพ.ค.