โควิด-19 ระลอกที่ 3 กดดันเงินบาทและดอกเบี้ย

13 พ.ค. 2564 | 06:00 น.

การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 กดดันความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย การระบาดที่รุนแรงเป็นวงกว้างครั้งนี้ส่งผลให้ประชาชนลดปริมาณใช้จ่าย เนื่องจากกังวลต่อความมั่นคงของรายได้และการจ้างงาน การระบาดของไวรัสยังเสี่ยงทำให้รัฐบาลเลื่อนช่วงเวลาของการเปิดประเทศด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยไม่ถึง 1 ล้านคน ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 1.8% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.6% ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทย ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า กดดันให้ในช่วงที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยปรับลดลง และเงินบาทแข็งค่าน้อยกว่าเพื่อนบ้านแม้ว่าเงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าก็ตาม

อย่างไรก็ตาม เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่า ในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากตลาดรับรู้ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวไปแล้ว แนวโน้มการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ และ การค้าโลก จากการที่นานาประเทศทยอยเปิดเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยสนุนการส่งออกของไทย มีแนวโน้มทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยกลับมาเกินดุล นอกจากนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ยังอ่อนแอ จะเป็นปัจจัยกดดันอัตราเงินเฟ้อ ทำให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงยังสูงและดึงดูดเงินทุนจากต่างชาติมายังตลาดตราสารหนี้

ด้านดอกเบี้ย แนวโน้มเงินเฟ้อและเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มลดการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ธนาคารกลางของแคนาดาเป็นธนาคารกลางแห่งแรกของโลกที่ประกาศลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ (คิวอี) ลง โดยลดลง 25% ของวงเงินเดิม เหลือเพียงสัปดาห์ละ 3 พันล้านดอลลาร์แคนาดา และไม่กี่วันที่ผ่านมา ธนาคารกลางอังกฤษประเมินว่าเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรจะขยายตัวได้สูงถึง 7.25% ในปีนี้ และส่งสัญญาณจะลดขนาดคิวอีลงในปีนี้ ซึ่งเร็วกว่าที่ประเมินไว้ก่อนกว่านี้ ทำให้ตลาดเริ่มติดตามว่าเฟดจะมีท่าทีอย่างไร เมื่อการฉีดวัคซีนในสหรัฐฯ รวดเร็ว และตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีสัญญาณดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โควิด-19 ระลอกที่ 3 กดดันเงินบาทและดอกเบี้ย

ในส่วนของไทย เราเชื่อว่าไทยจะเป็นประเทศท้ายๆ ที่เริ่มต้นวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ย แม้รัฐบาลจะไม่มีการประกาศปิดเมืองเข้มข้นเหมือนอย่างการระบาดในรอบแรก แต่การระบาดระลอกที่ 3 รุนแรงกว่าครั้งก่อนๆ มาก จึงสร้างความกังวล ทำให้ผู้คนลดการเดินทางและลดการจับจ่ายใช้สอยลง นอกจากนี้สถานการณ์โควิด-19 ยังเสี่ยงกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย โดยเฉพาะเมื่อการฉีดวัคซีนในประเทศล่าช้า โดยปัจจุบัน ไทยฉีดวัคซีนได้เพียงประมาณวันละ 45,000 โดส เป็นอันดับที่ 60 ของโลก (รูปที่ 1) เศรษฐกิจไทยจึงมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าเดิม และทำให้ธปท. มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยในระดับตํ่าไปยาวนาน จึงทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยเพิ่มขึ้นได้ช้าด้วย

 

คอลัมน์ ยังอีโคโนมิสต์
โดย : พีรพรรณ สุวรรณรัตน์ , สรรค์ อรรถรังสรรค์

ธนาคารกสิกรไทย 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,678 วันที่ 13 - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง