อีสานโวยรัฐ‘เงียบฉี่’ จี้เตรียมพร้อมรับ‘ไฮสปีดจีน-ลาว’

11 พ.ค. 2564 | 02:30 น.

เอกชนอีสานเหนือจี้รัฐ"ยังเฉย"ไฮสปีดจีน-ลาว ที่จะเปิดหวูดปลายปีนี้ ชี้เป็นโอกาสปลุกเศรษฐกิจอีสาน ขอเพิ่มสิทธิพิเศษนิคมอุดรฯ เพิ่มเขตเศรษฐกิจพิเเศษอุบล-เลย

เอกชนอีสานเหนือ จี้รัฐยังเฉย เร่งเตรียมรับไฮสปีดจีน-ลาว ที่จะเปิดหวูดถึงเวียงจันทน์ปลายปีนี้ ชี้เป็นโอกาสปลุกเศรษฐกิจอีสานคึกคัก พร้อมการแข่งขันข้ามชาติที่จะดุเดือดยิ่งขึ้น ขอเพิ่มสิทธิพิเศษนิคมอุดรธานี ขยายเขตเศรษฐกิจชายแดนอุบล-เลย เพิ่มขบวนรถไฟพิเศษอุดร-เวียงจันทน์ รับคลื่นการค้า-ท่องเที่ยวถึงจีนตอนใต้

 

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงข่าวของทางการสปป.ลาว ประกาศจะเปิดใช้โครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว 2 ธันวาคม 22564 นี้ เพื่อร่วมฉลองวันชาติลาว ว่า มองได้ 2 มิติ คือ ด้านที่เป็นประโยชน์กับภาคอีสานและไทย คือ จะเกิดการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระบบโลจิส ติกส์ให้เชื่อมโยงกับจีน ตามนโยบาย “มอง ลงใต้-Look South” ของจีนมากขึ้น ด้านที่เป็นผลกระทบคือ จีนเป็นประเทศใหญ่มีประชากรมากและกำลังเจริญอย่างก้าวกระโดด จึงเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว

สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย

ภาคอีสานโดยเฉพาะอุดรธานี ซึ่งถูกวางเป็นฮับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และจะเป็นสถานีแรกของรถไฟไฮสปีดจีน-ลาว-ไทย ในพื้นที่ประเทศไทย จึงต้องเตรียมรับกระแสต่าง ๆ โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ การเดินทาง การขนส่งสินค้า ที่จะเพิ่มขึ้น เพื่อให้ท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้โครงการนี้จะยังเปิดใช้ในส่วนของจีน-ลาวถึงแค่เวียงจันทน์ก่อน  แต่ผลจะทะลักข้ามน้ำโขงมาถึงอุดรฯและภาคอีสานแน่ 

นายสวาทกล่าวอีกว่า เรื่องนี้ภาคเอกชนในพื้นที่และของอุดรธานี ได้เรียกร้องผลักดันสู่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในรูปคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) หรือคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ขอรับการสนับสนุนการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน ให้มีศักยภาพเพียงพอรับกระแสความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น แต่เสียงตอบรับยังไม่ค่อยจริงจัง เกรงจะล่าช้าไม่ทันการ”  

 

เนื่องจากเมื่อมีทางรถไฟ ต้นทุนการขนส่งจะถูกลงและประหยัดเวลา การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันจะเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจในพื้นที่จะเคลื่อนไหวขยายตัวเกิดประโยชน์มากมาย ประการสำคัญคือการสร้างความพร้อมด้านต่างๆ ที่ภาครัฐต้องเป็นผู้นำ และเอกชนร่วมพัฒนาอย่างแข็งขัน ทั้งด้านการผลิต แปรรูป บรรจุหีบห่อ การขนส่ง ให้พร้อมที่จีนจะขนกลับเป็นสินค้าสำเร็จรูปอย่างเพียงพอ ไม่ใช่ขายเป็นวัตถุดิบ แล้วปล่อยให้จีนส่งสินค้ามาขายเราฝ่ายเดียว ซึ่งยังพอมีเวลาแต่ต้องเร่งทำอย่างจริงจัง

ข้อเสนอการเตรียมความพร้อมของภาคเอกชน นายสวาทกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐผลักดันเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ในอีสานมีที่หนองคายและมุกดาหาร แต่ยังไม่มีผู้เข้าลงทุน ล่าสุดพื้นที่อุดรธานีและนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี (นิคมกรีนอุดรฯ) ถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย แต่ก็ยังมีเงื่อนไขที่ไม่คล่องตัวพอจะจูงใจแก่นักลงทุน ควรทบทวนข้อเสนอสิทธิพิเศษการลงทุนที่ใกล้เคียงกับเพื่อนบ้าน เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติสนใจลงทุนในประเทศมากขึ้น

นอกจากนี้ควรขยายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเพิ่ม ในจังหวัดที่มีสะพานข้ามแม่น้ำโขง เช่น ที่จังหวัดบึงกาฬ ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดแล้วเสร็จปี 2566 หรือพื้นที่มีโครงการที่จะก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงในอนาคต เช่น อุบลราชธานี จังหวัดเลย ที่อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมสะพานข้ามโขงแห่งที่ 6 และ 7 ตามลำดับ

อีสานโวยรัฐ‘เงียบฉี่’  จี้เตรียมพร้อมรับ‘ไฮสปีดจีน-ลาว’

สอดคล้องกัน นายวีระพงษ์เต็งรังสรรค์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า นักลงทุนจะตัดสินใจลงทุนที่ใด ต้องเปรียบเทียบแล้วว่า พื้นที่ใดให้สิทธิประโยชน์ดีกว่ากัน เพื่อให้คุ้มค่าการลงทุน ที่ผ่านมาภาคเอกชนผลักดันให้โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ให้เข้าไปอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนหนองคาย เพราะมีพื้นที่ติดต่อกันและให้มีสิทธิพิเศษการลงทุน และที่หนองคายเองไม่มีคนสนใจลงทุน ซึ่งทางภาครัฐสนใจน้อยมากและล่าช้า ล่าสุดสภาพัฒนาฯ เพิ่งบรรจุพื้นที่เขตจังหวัดอุดรธานี เข้าไปอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนหนองคาย แต่ก็มีเงื่อนไขกับการลงทุนของนักธุรกิจลงทุน ที่ยังทำให้มีปัญหากับนักลงทุนอยู่อีกหลายประเด็นที่ขาดแรงจูงใจ 

วีระพงษ์เต็งรังสรรค์

    เมื่อเทียบกับเขตเศรษฐกิจพิเศษของลาวนั้น ให้สิทธิพิเศษการลงทุนที่ดีกว่าและจูงใจมากกว่า และมีหลายแห่งตามแนวชายแดนลาว-ไทย โดยบางพื้นที่ เช่น โครงการสะหวันเซโน ในแขวงสะหวันเขต ตรงข้ามกับมุกดาหาร มีนักลงทุนทั้งจากสิงคโปร์ มาเลเซีย จีน รวมทั้งนักธุรกิจไทย เข้าไปลงทุนก่อสร้างโรงงานดำเนินการผลิตแล้ว หรือโครงการบึงธาตุหลวงที่เวียงจันทน์ ที่กำลังดำเนินการโครงการโดยทุนจีน ก็ก้าวหน้าไปมากแล้ว 

“โครงการเหล่านี้มีความพร้อมรับแรงงานทักษะ ทั้งระดับกลางและระดับสูงเข้าทำงานจำนวนมาก น่าจับตาทั้งเรื่องการเคลื่อนย้ายทุนและแรงงานทักษะ โดยเฉพาะระดับสูง เช่น วิศวกร ช่างฝีมือระดับสูงต่าง ๆ ซึ่งทุนจีนมีศักยภาพสูง พร้อมใช้ค่าตอบแทนดึงดูดกำลังแรงงานเหล่านี้ หากเมืองไทยและท้องถิ่นไม่พร้อม ก็ไม่สามารถปิดกั้นได้”

นายวีระพงษ์กล่าวอีกว่า ภาครัฐต้องเร่งทบทวนนโยบายและระเบียบต่างๆ ให้ทันกระแสความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น หลังสปป.ลาวเปิดใช้รถไฟไฮสปีดจีน-ลาว ในเดือนธันวาคมนี้ โดยอย่าเพียงตั้งรับอย่างเดียว ต้องเร่งพัฒนาด้านต่างๆ การเร่งผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรต่างๆ อย่างเพียงพอให้จีนขนส่งกลับไปด้วย อย่ารอขายเป็นวัตถุดิบอีกต่อไป

ก่อนหน้านี้ ภาคเอกชนอุดรธานี ยังเสนอโครงการรถไฟขบวนพิเศษเวียงจันทน์-อุดรธานี เพิ่มเติมจากขบวนรถไฟหนองคาย-ท่านาแล้ง ที่เปิดใช้อยู่ปัจจุบัน  เพื่อเชื่อมโยงกับรถไฟจีน-ลาวที่จะมาถึงเวียงจันทน์ รองรับการเดินทางสัญจรของนักธุรกิจนักท่องเที่ยว ให้ต่อเข้าอุดรธานีและพื้นที่ในอีสานเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ 

หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,677 วันที่ 9 - 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง