ธนารักษ์ เดินหน้าประมูลที่ราชพัสดุ เร่งปั๊มรายได้ 10,000 ลบ.

10 พ.ค. 2564 | 07:58 น.

ธนารักษ์ เดินหน้าเปิดประมูลที่ราชพัสดุทั่วประเทศ เร่งปั๊มเงินรายได้ส่งเข้าคลัง มั่นใจปีงบฯ 64 ได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท แม้โควิดกระทบรายได้หายเฉียด 5,000 ล้านบาท

นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวถึงเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของกรมฯในปีงบประมาณ 2564 โดยมั่นใจว่าจะได้ไม่ต่ำกว่า10,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณที่ตั้งไว้ที่ 7,400 ล้านบาท แม้รายได้จากการจัดเก็บค่าเช่าที่ราชพัสดุจะลดลงจากการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ที่เช่าที่ราชพัสดุ เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ในปีงบประมาณ 2564 คาดว่า กรมฯ สูญเสียรายได้จากการออกมาตรการดังกล่าว ประมาณ 3,000 - 5,000 ล้านบาทก็ตาม

“กรมฯ ได้ออกมาตรการเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้เช่าที่ราชพัสดุจากผลกระทบของโควิด เช่น การงดเก็บค่าเช่าพื้นที่ทำเกษตรและอยู่อาศัยตลอดทั้งปี 2564 ซึ่งช่วยเหลือได้ประมาณ 70,000 – 80,000 ราย ขณะที่ภาคธุรกิจที่เช่าที่ราชพัสดุเชิงพาณิชย์ ได้มีการผ่อนผันการเก็บค่าเช่าออกไปเป็น 6 – 12 เดือน พร้อมยกเว้นค่าปรับ ซึ่งกรมฯจะพิจารณาเป็นรายกรณีโดยดูจากรายรับของเอกชนรายนั้นประกอบการรับมาตรการช่วยเหลือ ซึ่งจากการดำเนินมาตรการทำให้รายได้กรมหายไปประมาณ 3,000 – 5,000 ล้านบาท” อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าว

ยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์

โดยอธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวอีกว่า กรมฯ ได้เร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ โดยการนำที่ราชพัสดุที่เป็นที่ดินเปล่าในพื้นที่ศักยภาพเชิงพาณิชย์มาประมูลปล่อยเช่าสัญญา 30 ปี เช่น ล่าสุดได้นำที่ดินรอบสนามบินเชียงราย จำนวน 5 แปลง เปิดประมูลราคาเริ่มต้นที่ 300,000 บาท แต่มีเอกชนสนใจเข้าร่วมประมูลให้ราคาสูงสุดถึง 5 ล้านบาท นอกจากนี้กรมฯ ยังเตรียมเปิดประมูลที่ดินเปล่าติดริมแม่น้ำโขง จังหวัดนครพนม 9 ไร่ คาดมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท รวมทั้งเร่งเดินหน้าเปิดประมูลโครงการท่าเรือสงขลา โครงการสนามกอล์ฟบางพระ และ โครงการวังค้างคาว เป็นต้น 

รวมทั้งเร่งเจรจากับหน่วยงานราชการที่นำที่ราชพัสดุไปใช้ผิดประเภท เช่น นำสถานที่ราชการไปปล่อยเช่าทำร้านสะดวกซื้อ หรือไปจัดเช่าทำตลาดนัด ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะต้องมีการบริหารจัดการเพื่อสร้างรายได้เข้ามาอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับจากการยึดทรัพย์คดียาเสพติด คดีคอร์รัปชั่น ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ตามคำสั่งศาล นำมาเปิดประมูลขายให้เอกชนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มประมูลได้ภายในปีนี้ 

ขณะเดียวกัน กรมฯ อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะกรรมการการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) เพื่อขอปรับเงื่อนไขการเปิดประมูลที่ราชพัสดุในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดหนองคาย และมุกดาหาร เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามาประมูลมากขึ้น เช่น การเพิ่มเวลาการเช่าจาก 30 ปี เป็น 50 ปี รวมถึงสิทธิประโยชน์การลงทุนอื่นๆ ให้ทัดเทียมกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และสิทธิประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ซึ่งคาดว่าจะได้ผู้เข้ามาลงทุนในปีนี้  รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตากที่ยังว่างอยู่ก็จะนำกลับมาเปิดประมูลอีกครั้งในปีนี้เช่นกัน

ส่วนการเจรจาเก็บค่าเช่าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 ขณะนี้มีความคืบหน้าหลายพื้นที่โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะเริ่มจ่ายค่าเช่าให้กับกรมฯได้ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ซึ่งถือเป็นหน่วยงานแรกที่มีการจ่ายค่าเช่าให้กับกรมหลังจากกฎหมายเริ่มบังคับใช้ โดยอัตราค่าเช่าหากเป็นที่ดินใช้ในเชิงสาธารณะจะคิดอัตราไม่สูง เช่น พื้นที่อ่างเก็บน้ำ แต่หากใช้ในเชิงพาณิชย์จะคิดเต็มจำนวน ส่วนพื้นที่ที่ กฟผ. ไม่ได้ใช้ประโยชน์จะพิจารณาส่งคืนกลับมายังกรมฯ เพื่อนำกลับไปบริหารต่อไป