ก.ล.ต. เตรียมออกเกณฑ์ตั้งกองทุน distressed bond

10 พ.ค. 2564 | 04:52 น.

ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อเตรียมออกหลักเกณฑ์การจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม distressed bond เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ถือ และรองรับการแปรสภาพมาจาก high yield bond ของกองทุนรวม high yield bond

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า หลังจากก.ล.ต.ได้ออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง หรือ “กองทุนรวม high yield bond” ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 เพื่อให้ผู้ออก high yield bond บางรายมีสภาพคล่องและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้นั้น

ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดที่จะออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่อยู่ระหว่างผิดนัดชำระหนี้ หรือ “กองทุนรวม distressed bond” เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ถือdistressed bond และเพื่อรองรับตราสารหนี้ที่อยู่ระหว่างผิดนัดชำระหนี้ (distressed bond) ที่แปรสภาพมาจาก high yield bond ของกองทุนรวม high yield bond โดยให้จัดตั้งในรูปแบบกองทุนรวมที่มีการกำหนดอายุกองทุนไว้ชัดเจน และเปิดขายให้เฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษเท่านั้น รวมทั้งไม่เปิดให้มีการไถ่ถอนระหว่างอายุของกองทุน (non-redeemable) แต่สามารถกำหนดเงื่อนไขการขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ (auto redemption)

ทั้งนี้ กองทุนรวม distressed bond ต้องลงทุนใน distressed bond อย่างน้อย 60% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ(NAV) ส่วนที่เหลือสามารถลงทุนในตราสารทางการเงินหรือธุรกรรมอื่นใดได้ทุกประเภท โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องการกระจายการลงทุน (single entity limit) การกระจุกตัวลงทุน (concentration limit) และให้มีผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างน้อย 10 ราย ซึ่งกองทุนรวมทั่วไปต้องมีผู้ถือหน่วยอย่างน้อย 35 รายขึ้นไป 

นอกจากนี้ การจัดการกองทุนรวม distressed bond ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (กองทุนรวม UI) โดยต้องกำหนดสอดคล้องกับนโยบายการลงทุนและคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญด้วย

สำหรับ Distressed bond  หมายถึง ตราสารหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ตามข้อกำหนดสิทธิ ตราสารที่ผิดนัดอันเนื่องมาจากเหตุผิดนัดภายใต้หุ้นกู้ชุดอื่น ๆ (cross default) และรวมถึงหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน(perpetual bond) ของผู้ออกตราสารหนี้รายเดียวกันด้วย หรือตราสารหนี้ของบริษัทที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ 

ขณะที่ ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ได้แก่  

(1) นิติบุคคลที่มีส่วนของผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 200 ล้านบาทขึ้นไปหรือมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตั้งแต่ 40 ล้านบาทขึ้นไป หรือในกรณีที่นับรวมเงินฝากแล้วมีเงินลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าวตั้งแต่ 80 ล้านบาทขึ้นไป หรือ 

(2)  บุคคลธรรมดาซึ่งนับรวมกับคู่สมรสแล้ว มีสินทรัพย์สุทธิตั้งแต่ 70 ล้านบาทขึ้นไป  มีรายได้ต่อปีตั้งแต่10 ล้านบาทขึ้นไป หรือในกรณีที่ไม่นับรวมกับคู่สมรสแล้วมีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 7 ล้านบาทขึ้นไปหรือมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตั้งแต่ 25 ล้านบาทขึ้นไป หรือในกรณีที่นับรวมเงินฝากแล้วมีเงินลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าวตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป