โพลชี้ประชาชนให้ความเชื่อมั่น“กกต.-ปปช.-ศาลรธน.”ต่ำ

09 พ.ค. 2564 | 09:42 น.

ซูเปอร์โพลสำรวจประชาชนพบให้ความเชื่อมั่น "กกต.-ป.ป.ช.-ศาลรัฐธรรมนูญ"ต่ำกว่าครึ่งทุกตัวชี้วัด

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง “ประเมินองค์กรอิสระ รธน. 60” กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,293 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-8 พ.ค.64  

จากการพิจารณาค่าความวางใจของประชาชนต่อ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี 60 พบว่า ค่าความวางใจของประชาชนที่ได้ต่ำกว่าครึ่งและต่ำสุดคือ

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ร้อยละ 41.23 

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ร้อยละ 42.28 

ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ร้อยละ 43.47 

และ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ร้อยละ 48.62 มีความหมายว่า ได้รับความวางใจจากประชาชนต่ำกว่าครึ่ง

มีเพียงคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ตรวจการแผ่นดิน เท่านั้นได้รับความวางใจจากประชาชนเกินครึ่งคือร้อยละ 54.01 และร้อยละ 55.65 จากคะแนนเต็ม 100 

อย่างไรก็ตาม ค่าความวางใจของประชาชนต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ปี 60 โดยภาพรวมได้ต่ำกว่าครึ่งคือร้อยละ 45.20 เท่านั้น

นอกจากนี้ ที่น่าห่วง คือ ผลประเมินด้านต่าง ๆ ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ปี 60 พบว่า ได้รับผลการประเมินต่ำกว่าครึ่งทุกตัวชี้วัด ได้แก่ การยึดหลัก นิติธรรม ได้ร้อยละ 46.48 ด้านคุณสมบัติของผู้นำองค์กรอิสระที่ดีได้ร้อยละ 45.91 ด้าน ยึดหลัก จริยธรรม ได้ร้อยละ 43.33 
ด้านความน่าเชื่อถือ ได้ร้อยละ 43.07 ด้านความโปร่งใส ได้ร้อยละ 39.64 ด้านความยึดโยงกับประชาชน ได้ร้อยละ 37.42 ด้านประชาชนได้ประโยชน์ได้เพียงร้อยละ 35.31 ด้านการตรวจสอบได้ ได้เพียงร้อยละ 35.27 ด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนได้ร้อยละ 33.81 และด้านความเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง ได้ต่ำสุดคือร้อยละ 33.16 ตามลำดับ

                                  โพลชี้ประชาชนให้ความเชื่อมั่น“กกต.-ปปช.-ศาลรธน.”ต่ำ
 

ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ผลการทดสอบปัจจัยที่สำคัญที่สุดและรอง ๆ ลงไป ที่มีผลต่อความวางใจของประชาชนต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี 60 โดยรวม ด้วยการทดสอบสถิติ Multiple Regression Analysis พบว่า ปัจจัยต่าง ๆ ที่ถูกศึกษาโดยรวมมีความสัมพันธ์ระดับมากถึงร้อยละ 87.4 กับความวางใจของประชาชนต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี 60 และสามารถอธิบายความวางใจของประชาชนต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี 60 ด้วยปัจจัยด้านต่าง ๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ตามลำดับ ดังนี้ ความโปร่งใส (beta = .113) ความน่าเชื่อถือ (beta = .110) การยึดหลักนิติธรรม และคุณสมบัติของผู้นำองค์กรอิสระที่ดี เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ ความวางใจของประชาชนต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบด้วยว่า ถ้าประชาชนพอใจต่อ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (beta = .246) คณะกรรมการ กกต. (beta = .130) ศาลรัฐธรรมนูญ (beta = .103) ผู้ตรวจการแผ่นดิน (beta = .102) และคณะกรรมการ ป.ป.ช. (beta = .078) จะส่งผลให้ ประชาชนพอใจต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี 60 เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในการศึกษาครั้งนี้

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลการศึกษาครั้งนี้มีข้อมูลทั้งสองรูปแบบ คือ ข้อมูลเชิงความรู้สึก (sentiment) ของประชาชน และข้อมูลผลการทดสอบทางสถิติวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี 60 กำลังตกอยู่ในสภาวะวิกฤตศรัทธาของประชาชน ในทุกตัวชี้วัด เช่น ความเป็นอิสระ ไม่ถูกแทรกแซง การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การตรวจสอบได้ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ ความยึดโยงกับประชาชน ความโปร่งใส ความน่าเชื่อถือ การยึดหลักจริยธรรม คุณสมบัติของผู้นำองค์กรอิสระที่ดี และการยึดหลักนิติธรรม เป็นผลการศึกษาที่ชี้ถึงวิกฤตศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี 60 อย่างน่าเป็นห่วงยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ผลการทดสอบทางสถิติชี้ให้เห็นว่า อะไรเป็นเหตุให้ประชาชนวางใจ ต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี 60 ได้ ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยสำคัญ คือ ต้องเพิ่มเรื่องความโปร่งใส ความน่าเชื่อถือ การยึดหลักนิติธรรม และคุณสมบัติของผู้นำองค์กรอิสระที่ดี นอกจากนี้ การเพิ่มความพึงพอใจของประชาชนต่อองค์กรอิสระทั้งหมดในการศึกษาครั้งนี้จะทำให้ประชาชนเกิดความหวัง วางใจและเป็นที่พึ่งของสังคมมากขึ้นตามไปด้วย

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า องค์กรอิสระมีความสำคัญยิ่งในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและศาล  ไม่ให้ใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายและไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชาติและประชาชน  ดังนั้น ที่มาขององค์กรอิสระ คุณสมบัติบุคคลขององค์กรอิสระจึงมีความสำคัญยิ่งนอกจากนี้ การทำงานขององค์กรอิสระ ต้องมีความเชี่ยวชาญ ยึดหลักนิติรัฐ กล้าหาญ มีความเป็นมืออาชีพ ชัดเจนและมีอิสระอย่างแท้จริง ทั้งต้องไม่โดดเดี่ยวและได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆ

“โดยสรุป ผลโพลชิ้นนี้ทำให้เห็นว่าการทำงานของทุกองค์กรอิสระจำเป็นต้องกอบกู้วิกฤตศรัทธาของประชาชน ด้วยการเรียกความเชื่อมั่น ความศรัทธาของประชาชนกลับมาจากปัจจัยประเมินผลสำรวจ ไม่ซ้ำรอยเดิมในอดีตตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 ต่อเนื่องมาที่มีผู้บริหารองค์กรอิสระจำนวนมากประสบปัญหาคดีความ ถูกตัดสินลงโทษทั้งทางสังคมและทางกฎหมาย เนื่องจากความไม่เป็นอิสระและไม่เป็นมืออาชีพเพราะถูกฝ่ายมีอำนาจในทุกยุคทุกสมัยเข้าแทรกแซงการทำงาน ดังบทจบจากใบสั่งที่ทำตามและมีให้เห็นเชิงประจักษ์แล้วที่ผ่านมา” นายนพดล ระบุ