ประชุมเฟด 26-27 เม.ย. 2559...คาดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อ

25 เม.ย. 2559 | 10:25 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  ออกบทวิเคราะห์เรื่อง “ประชุมเฟด 26-27 เม.ย. 2559...คาดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อ เพื่อรอให้ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจคลายตัวลง”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) รอบที่สามปี 2559 ในวันที่ 26-27 เมษายน 2559 นั้น คาดว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25-0.50% ต่อเนื่องอีกระยะ ท่ามกลางความเสี่ยงการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง อันอาจเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯได้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมประเด็นที่ต้องจับตาในการประชุมเฟดครั้งนี้

พัฒนาการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก และปัจจัยเสี่ยงภายนอก

เครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มปรับตัวดีขึ้นบ้าง แต่ยังไม่สดใสมากนัก โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ หลายตัวยังคงให้ภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง อาทิ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิตปรับลดลงในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ขณะที่การบริโภคภาคครัวเรือนก็ให้ภาพชะลอลง ทั้งนี้ แม้ว่า ข้อมูลดัชนีชี้นำจะเริ่มมีมุมมองที่ปรับตัวดีขึ้น แต่คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง อันคงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดน่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ เพื่อประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไปอีกระยะ

ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในระดับสูง โดยล่าสุด IMF ได้มีการปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2559 ลงจากระดับ 3.4% สู่ระดับ 3.2% รวมทั้งได้มีการปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลงเช่นเดียวกัน จากระดับ 2.6% เหลือ 2.4% ทั้งนี้ ท่ามกลางความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีอยู่มาก กอปรกับ ปัจจัยด้านการเมือง อาทิ การลงประชามติว่า สหราชอาณาจักรจะยังคงอยู่ในสหภาพยุโรปหรือไม่ ในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 รวมทั้ง การถอดถอนประธานาธิบดีบราซิลออกจากตำแหน่ง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองดังกล่าวอาจจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯได้ โดยในแง่การค้าการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับสหราชอาณาจักร และบราซิลในปี 2558 ที่ผ่านมามีมูลค่ากว่า 1.1 และ 0.6 แสนล้านดอลลาร์ฯ ตามลำดับ คิดเป็นสัดส่วน 3.0 และ 1.5% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของสหรัฐฯ (ถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ลำดับที่ 7 และ 12) อีกทั้งสหรัฐฯ ได้ดุลการค้ากับบราซิลกว่า 4.2 พันล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวน่าจะสนับสนุนท่าทีของเฟดที่ระมัดระวังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องอีกระยะ จนกว่าปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้จะคลายตัวลง

ปัจจัยที่ต้องติดตาม คงได้แก่ พัฒนาการของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวต่อเนื่องใกล้เคียงระดับศักยภาพ ทั้งนี้ หากพิจารณาการฟื้นตัวของการจ้างงานสหรัฐฯ ที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีค่าเฉลี่ยของการปรับเพิ่มขึ้นของตำแหน่งงานเฉลี่ยในช่วงที่ผ่านมาสูงกว่า 200,000 ตำแหน่งต่อเดือน ขณะที่ระดับอัตราว่างงานทรงตัวที่ระดับ 5.0% ทั้งนี้ หากพัฒนาการฟื้นตัวของสหรัฐฯ ยังคงฟื้นตัวอย่างดีต่อเนื่อง น่าจะทำให้อัตราการว่างงานปรับลดลงสู่ระดับการจ้างงานเต็มศักยภาพ (Full Employment) ซึ่งเฟดระบุว่าระดับอัตราว่างงานที่ 4.7%  ซึ่งหากการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ไปถึงจุดดังกล่าว ก็อาจจะส่งผลให้มีแรงกดดันต่อเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้น และคงเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในระยะต่อไป

สำหรับผลต่อเศรษฐกิจไทย คงต้องติดตาม การส่งสัญญาณถึงมุมมองของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของเฟดคงจะเป็นปัจจัยชี้นำการไหลของเงินทุนเคลื่อนย้ายในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่า การส่งสัญญาณถึงท่าทีในการระมัดระวังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด จะช่วยให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่อีกครั้ง ตลอดจน ช่วยให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในหลายๆ ประเทศปรับลดลง อย่างไรก็ดี ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงที่ผ่านมา ก็อาจส่งผลให้มีความเสี่ยงที่เงินทุนเคลื่อนย้ายอาจจะมีการไหลกลับออกไปอีกครั้ง หากเฟดเริ่มส่งสัญญาณถึงจังหวะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรอบใหม่อีกครั้ง คงจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยคงน่าจะทยอยปรับขึ้น รวมทั้งค่าเงินบาททยอยปรับตัวอ่อนลงอีกครั้ง ดังนั้น ผู้ที่มีธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับค่าเงิน และการกู้ยืมในตลาดตราสารหนี้ควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีการป้องกันความเสี่ยงผ่านเครื่องมือต่างๆ อย่างเหมาะสม