ปม CPTPP ส.ส.เพื่อไทย ลบโพสต์-ขอโทษ นึกว่า CP 

08 พ.ค. 2564 | 14:57 น.

“มนพร เจริญศรี” ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ต้องลบโพสต์ แล้วโพสต์ขอโทษแทน หลังเดือดป่านทวิตเตอร์ ปม CPTPP คิดว่าเป็น CP 

จากกรณีที่เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีประเด็นร้อนในโซเชียล เกี่ยวกับ CPTPP หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership 

CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ครอบคลุมประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันสมาชิก CPTPP มีทั้งหมด 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม

เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2564 นางมนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม แสดงความเห็นเรื่อง CPTPP ผ่านทวิตเตอร์ @ManapornCharoe1 โดยทวีตข้อความที่พาดพิง CP ทำนองประชดประชัน

วันที่ 8 พ.ค.2564 ส.ส.มนพร ได้ลบข้อความเดิม และออกมาขอโทษกลุ่มซีพี โดยอ้างถึงแถลงการณ์ข้อเท็จจริง CPTPP ว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับซีพี ทั้งทางตรงและทางอ้อม

“..ตามที่ซีพี ออกแถลงการณ์เรื่องของซีพีทีพีพี..นั้น ดิฉันได้รับทราบว่า กลุ่มทุนซีพี ไม่ได้เกี่ยวข้องใด..ขอโทษด้วยนะคะ ที่ออกมาชี้แจงให้ทราบ ขอบพระคุณมากค่ะ” พร้อมแปะลิงก์ข่าวคำแถลงของซีพี

ปม CPTPP ส.ส.เพื่อไทย ลบโพสต์-ขอโทษ นึกว่า CP 
 

ทั้งนี้แถลงการณ์ฉบับเต็มของเครือซีพีระบุว่า 

เครือเจริญโภคภัณฑ์ให้ความเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือเผยแพร่ข้อมูลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องเป็นจริง อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าในช่วงที่ผ่านมา มีการเผยแพร่และนำเสนอข่าวสารที่สร้างความสับสนให้กับสังคม โดยทำให้เข้าใจผิดว่าข้อตกลง CPTPP เป็นของ “ซีพี” และบิดเบือนว่าซีพีเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเพื่อหวังผลประโยชน์จากการเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP นี้

ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ขอเรียนให้ทราบว่า ความเข้าใจดังกล่าวไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด และการตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP ของประเทศไทยหรือไม่นั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องแต่อย่างใดทั้งทางตรงและทางอ้อมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์

โดยข้อเท็จจริง CPTPP หมายถึง ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership ชื่อย่อว่า CPTPP โดยเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ครอบคลุมประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันสมาชิก CPTPP มีทั้งหมด 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม

สุดท้ายนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ขอยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับ CPTPP และหากปรากฏว่ามีผู้ใดพยายามบิดเบือนข้อมูลอันก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและสร้างความเสียหายต่อองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีความจำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

ปม CPTPP ส.ส.เพื่อไทย ลบโพสต์-ขอโทษ นึกว่า CP 

อย่างไรก็ตาม การทวีตข้อความแรกเกี่ยวกับความเข้าใจผิดระหว่าง CPTTP กับ CP มีการแชร์ในโลกออนไลน์และวิพากษ์วิจารณ์ ส.ส.มนพร จำนวนมากเช่น "ท่านตรวจสอบมาดีรึยังหรือโพสต์เอาฮา", "เก็บโพสต์ไว้อวดระดับคุณภาพ ส.ส. ฝ่ายค้านนานๆ อย่าลบนะคะ" ฯลฯ

สำหรับประวัติคร่าวๆของ นางมนพร เจริญศรี (อ่านว่า มะนะพร) หรือที่ชาวนครพนม รู้จักดีในนาม “ส.ส.เดือน” เกิดที่ตัวเมืองนครพนม สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ และศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต รามคำแหง 

เส้นทางการเมืองของ “ส.ส.เดือน” หรือ มนพร นั้นได้รับการสนับสนุนจากพ่อบุญธรรม “หมอคนยาก” นพ.ประสงค์ บูรณ์พงศ์ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง และ ส.ส.นครพนม 10 สมัย

ปม CPTPP ส.ส.เพื่อไทย ลบโพสต์-ขอโทษ นึกว่า CP 

ปี 2547 ได้รับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.นครพนม โดยการสนับสนุนของ ส.ส.นครพนม พรรคไทยรักไทย 

ปี 2552-53 อดีตนายก อบจ.หญิงคนแรกของนครพนม รับบทแกนนำเสื้อแดงนครพนม ร่วมกับ “หมอสงค์” ถือได้ว่า ยุคนั้นเสื้อแดงริมโขงเฟื่องฟูมาก 

ปี 2554 เธอสวมเสื้อพรรคเพื่อไทย ลงสมัคร ส.ส.สมัยแรก ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.นครพนม เขต 2 ด้วยกระแสยิ่งลักษณ์ฟีเวอร์ และมนต์รักเสื้อแดง

ปี 2562  “ส.ส.เดือน” มนพร เจริญศรี ลงสนามแข่งกับ “น้ำผึ้ง” ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ พรรคพลังประชารัฐ ที่เขต 2 อ.เมืองนครพนม (เฉพาะ 6 ตำบล), อ.โพนสวรรค์ และ อ.ท่าอุเทน 

ปรากฏว่า ส.ส.เดือน ในนามเพื่อไทย เอาชนะน้ำผึ้ง หลานสาวบิ๊กจิ๋วไปขาดลอย ทั้งที่น้ำผึ้ง ได้รับการสนับสนุนจาก สมชอบ นิติพจน์ อดีตนายก อบจ.นครพนม

“ส.ส.เดือน” สังกัดเพื่อไทยก็จริง แต่อยู่คนละกลุ่มกับ ไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม หลายสมัย แม้ “หมอสงค์” จะย้ายไปสังกัดพรรคเสรีรวมไทย แต่ก็ยังเป็นกองหนุนให้เธออยู่เหมือนเดิม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :