แบงก์รุกแคมเปญสินเชื่อบ้าน

09 พ.ค. 2564 | 21:05 น.

ไทยพาณิชย์จับตาการระบาดโควิดระลอกใหม่ เตรียมทบทวนแผนสินเชื่ออีกครั้งหากสถานการณ์ยืดเยื้อ เผยยังคงทำตลาด Co-campaign ต่อเนื่อง ด้านกรุงศรีระบุ 4 เดือนยังประคองเป้าได้ ประเมินเดือนพ.ค.แนวโน้มน่าจะดีขึ้น ถ้ารัฐระดมฉีดวัคซีนตามแผน พร้อมเจาะตลาด LGBTQ สินเชื่อเพื่อบ้าน สำหรับคู่เพื่อน 

ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ในรอบปีที่ผ่านมา แต่ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ยังขยายตัวได้ที่ 5.1% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวได้ 2.0% ในปี 2562 ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามอุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะแนวราบที่ปรับดีขึ้นและแคมเปญการตลาดของผู้ประกอบการ ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยไตรมาส1 ปี 2564 ของธนาคารพาณิชย์พบว่า ไทยพาณิชย์อยู่ที่ 678,947 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.12% จากช่วงเดียวกันปีก่อน กรุงไทยอยู่ที่ 435,572 ล้านบาท เพิ่มขึ้น8.62% กรุงเทพอยู่ที่ 304,299 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.8% และกรุงศรีอยุธยา  284,718ล้าน บาท เพิ่มขึ้น 4.88% เป็นต้น

นางสาวอรรัตน์ ชุติมิต รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภาพรวมตลาดสินเชื่อบ้านไตรมาสแรกปีนี้ มีทิศทางดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาจากการที่ราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวลง จากการเร่งจัดโปรโมชั่นอย่างต่อเนื่องจากผู้ประกอบการรวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับตํ่า ส่งผลกระตุ้นให้กลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการที่อยู่อาศัย(Real demand)ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น แต่ยังคงต้องติดตามดูสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 อีกครั้ง หากการแพร่ระบาดเกิดขึ้นยาวต่อเนื่องจนกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศค่อนข้างมาก อาจจะต้องพิจารณาแนวโน้มของสินเชื่ออีกครั้ง 

สินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์

ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ปีนี้ไว้ 98,000 ล้านบาท (บ้านใหม่และบ้านแลกเงิน) ใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะที่อัตราอนุมัติสินเชื่อ(approval rate)ปีนี้อยู่ที่ 80-90% แสดงให้เห็นว่า ลูกค้าเป็นกลุ่ม real demand มีความต้องการที่อยู่อาศัยและมีกำลังซื้อเพียงพอ ส่วนลูกค้าที่เข้ามาตรการช่วยเหลือมีจำนวนลดลงในไตรมาส4 ปี 2563 ก่อนจะปรับขึ้นเล็กน้อยในไตรมาสแรกปีนี้ จากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ซึ่งจากการติดตามผลพบว่า ลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือกลับมาชำระหนี้ เมื่อจบมาตรการแล้ว 80% ของลูกค้าที่เข้ามาตรการช่วยเหลือทั้งหมด 

ขณะที่การปล่อยสินเชื่อดิจิทัล(Digital Lending) ปัจจุบันได้ปรับใช้เทคโนโลยีในการให้บริการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยนำข้อมูลที่มีอยู่มาวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า เพื่อให้สามารถอนุมัติสินเชื่อได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว รวมไปถึงสามารถนำเสนอวงเงินเบื้องต้นให้กับลูกค้าได้ ผ่านทางช่องทาง SCB Easy ซึ่งสร้างประโยชน์กับเจ้าของข้อมูลเอง ส่่วนแนวทางการทำตลาดทางไทยพาณิชย์จัดให้มีแคมเปญพิเศษ โดยยังคงมี Co-campaign ต่างๆร่วมกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง เช่น แสนสิริผ่อนให้, เอเซียนพร๊อพเพอร์ตี้ (AP) สินเชื่อดอกเบี้ยบาง เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการตัดสินใจของลูกค้าที่กำลังมองหาที่อยู่อาศัยอย่างแท้จริง

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า สัญญาณไตรมาส 2ปีนี้ใกล้เคียงปีก่อนที่มีล็อคดาวน์ แม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะสูง แต่วัคซีนจะเป็นตัวช่วย หากสามารถระดมฉีดวัคซีนได้ตามแผน 6 ล้านโดสในเดือนมิถุนายน น่าจะทำให้ปัญหาทุเลาลง โดยเฉพาะชุมชนใหญ่ พื้นที่เสี่ยง โดยแนวโน้มเดือนพฤษภาคมน่าจะดีกว่า 2 เดือนที่ผ่านมาและอาจจะดีกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะเดือนเมษายนนอกจากถูกกระทบจากวันหยุดยาวและการระบาดของโควิดระลอก3 แล้ว ลูกค้ายังมียอดโอนไปมากในเดือนมีนาคมด้วย

ส่วนยอดสินเชื่อคงค้างไตรมาสแรกปีนี้ 2.84 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.88% นั้น ส่วนหนึ่งมีลูกค้าใหม่จากการปล่อยสินเชื่อใหม่ระดับหนึ่งและพักชำระหนี้ส่วนหนึ่ง เพราะที่ผ่านมาลูกหนี้ที่ขอเข้าโครงการความเช่วยเหลือโดยรวมของกรุงศรีฯมีประมาณ 20% เท่านั้น ขณะที่สินเชื่อบ้านสำหรับคนที่มีกำลังยังคงผ่อนชำระเกินงวดคือ มีการโปะค่างวดมากๆเข้ามาต่อเนื่อง และในภาวะโควิด อาจมีบางรายลดจำนวนเดือนในการโปะจ่ายค่างวดลง  ซึ่งสินเชื่อบ้านในช่วง 4 เดือนนี้ กรุงศรียังประคองไปได้ เพราะตลาดระดับกลางและบน ราคา 5 ล้านบาทขึ้นไปยังเติบโตดีกว่าปกติ ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ส่วนราคา 5ล้านบาทลงมาอาจจะรอความมั่นใจกลับมา

แม้ว่าอาจมีลูกค้าที่ไม่ถูกกระทบจากโควิด 2ระลอกที่ผ่านมา แต่อาจถูกกระทบในรอบนี้ ซึ่งในแง่มาตรการช่วยเหลือ จะเห็นได้ว่า ภาครัฐเองให้ความสำคัญกับภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยมีการหารือกับผู้ประกอบการต่อเนื่อง และทราบว่า มีข้อเสนอที่เอื้อต่อตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเชื่อว่าอยู่ระหว่างรอจังหวะที่เหมาะสมในการทยอยออกมาตรการ ส่วนของลูกค้าเก่าหากมีปัญหา ธนาคารช่วยเหลือเต็มที่ เพราะมีมาตรการอยู่แล้วและแนวโน้มมีความเป็นไปได้ที่จะให้ความช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่อง แม้จะหมดมาตรการเดือนมิถุนายน ซึ่งขณะนี้ทั้งธนาคารพาณิชย์และธนาคารรัฐหารืออย่างต่อเนื่องกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

ปัจจุบันกรุงศรีฯ ออกผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อบ้าน สำหรับคู่เพื่อน” เปิดโอกาสให้คู่เพื่อนกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) .ที่ต้องการใช้ชีวิตร่วมกันสามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อและเพิ่มความสามารถในการผ่อนชำระได้ดีขึ้น จากอดีตจะให้กู้เพียงคนเดียว หรือการปล่อยกู้ร่วมได้เฉพาะครอบครัวที่มีความสัมพันธ์เท่านั้น 

 

หน้า 13  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,677 วันที่ 9 - 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2564