มาตรการ"เราชนะ-ม33เรารักกัน"ไม่พอพยุงเศรษฐกิจ แนะรัฐอัดฉีดเงินQ2เพิ่ม

07 พ.ค. 2564 | 04:20 น.

EIC ประเมินโควิดระลอก3 ทำศก.ไทยเสียหาย 2.4 แสนล้านบาท มองเม็ดเงินจาก"เราชนะ-ม33เรากันกัน" 85,500 ล้านบาท ไม่เพียงพอพยุงศก.ไตรมาส 2 เสี่ยงถดถอย แนะรัฐอัดฉีดเงินเพิ่ม  

 

จากที่ครม.เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 64 มีมติรับหลักการ มาตรการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมรวมวงเงินราว 2.4 แสนล้านบาท จำนวนนี้เป็นเม็ดเงินที่จะเข้าสู่เศรษฐกิจในไตรมาส2/64  ประมาณ 85,500 ล้านบาท  มาจากมาตรการเพิ่มเงินในโครงการเราชนะ วงเงินราว 67,000 ล้านบาท (เพิ่มรายละ 2,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1,000 บาท ครอบคลุม  32.9 ล้านคน ใช้จ่ายถึง 30 มิ.ย.2564 ) และโครงการ ม33 เรารักกัน วงเงิน 18,580 ล้านบาท (เพิ่มรายละ 2,000 บาท เป็นเวลา2 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1,000 บาท ครอบคลุม 9.29 ล้านคน ใช้จ่ายถึง 30 มิ.ย.64 )

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า จากแผนตามมติ ครม. ข้างต้น พบว่าเม็ดเงินที่จะเข้าสู่เศรษฐกิจในไตรมาส 2 จะมีเพียง 85,500 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับผลกระทบการระบาดระลอก3 ที่ EIC ประเมินในกรณีฐานไว้ที่ราว 2.4 แสนล้านบาท ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ Technical recession ได้

ดังนั้นภาครัฐจึงควรพิจารณาเร่งจัดทำโครงการพยุงเศรษฐกิจให้มีเม็ดเงินลงสู่ไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ และยังเป็นการช่วยบรรเทาแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่อาจรุนแรงขึ้นหากได้รับการช่วยเหลือล่าช้า ได้แก่ การปิดกิจการที่อาจเพิ่มขึ้น และภาวะตลาดแรงงานที่อาจเปราะบางเพิ่มเติม

"ในช่วง 4 เดือนแรก ภาครัฐได้ออกนโยบายต่างๆ ในการประคับประคองเศรษฐกิจไปแล้วกว่า 2.9 แสนล้านบาท ทำให้เหลือเม็ดเงินอีกราว 2.4 แสนล้านบาทภายใต้ พรก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งล่าสุด ครม. มีมติออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมรวมวงเงินกว่า 2.4 แสนล้านบาท นับเป็นการใช้เม็ดเงินที่เหลืออยู่ทั้งหมดภายใต้ พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยบางส่วนของมาตรการเป็นเพียงการรับหลักการของ ครม. เท่านั้น จะต้องติดตามรายละเอียดอีกครั้งหลังจากที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีเม็ดเงินจากงบกลางที่เหลืออีกราว 5-6 หมื่นล้านบาทที่สามารถใช้ได้เพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง"

เศรษฐกิจครึ่งแรกปีนี้เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย

อย่างไรก็ดี หากเม็ดเงินพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมเป็นไปตามแผนข้างต้น เศรษฐกิจไทยจะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิด Technical recession ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้  โดยจากผลกระทบของการระบาดระลอกที่ 2 และ 3 ที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาส 2 ของปี 2564 ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยสะดุด โดยเฉพาะในส่วนของการบริโภคภาคเอกชน (ข้อมูลในช่วงไตรมาสแรก ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน หรือ PCI หดตัวที่ -1.1%QoQ_sa) และมีโอกาสที่อัตราการเติบโตรายไตรมาสแบบปรับผลฤดูกาล (%QoQ_sa) ติดลบในช่วง 2 ไตรมาสแรก ซึ่งทำให้เกิด Technical Recession ขึ้นอีกรอบหลังจากเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรอบแรกในช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 - ไตรมาส 2 ปี 2563 จากผลกระทบสงครามการค้าและการระบาดของ COVID-19 รอบแรก

ทั้งนี้ภาครัฐอาจสามารถช่วยยับยั้งการเกิด Technical Recession ได้ผ่านการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจในจำนวนที่มากพอในช่วงไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ และยังเป็นการช่วยบรรเทาแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่อาจรุนแรงขึ้นหากได้รับการช่วยเหลือล่าช้า ได้แก่ การปิดกิจการที่อาจเพิ่มขึ้น และภาวะตลาดแรงงานที่อาจเปราะบางเพิ่มเติม

 

คาดใช้เวลา 3 เดือนคุมโควิดระลอก 3 

ล่าสุด EIC ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2564 เหลือ 2.0% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 2.6% โดยมองว่าในกรณีฐาน คาดว่าการระบาดระลอกที่ 3 จะใช้เวลาราว 3 เดือนในการควบคุมโรค โดยจากการศึกษาข้อมูลในอดีตพบว่า ค่าอัตราการแพร่กระจายไวรัสของไทย (R0 : Basic reproductive number[2]) มีการปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่มีการระบาดในระลอกต่าง ๆ และจะปรับลดลงเมื่อภาครัฐเริ่มออกนโยบายควบคุมโรค ซึ่งในทางหนึ่งมาตรการควบคุมโรคของภาครัฐก็มีส่วนสำคัญในการปรับลดค่า R0 ผ่านนโยบายที่เข้มงวด

เช่น การสั่งปิดสถานที่ที่อาจเป็นแหล่งรวมคนและแพร่กระจายเชื้อ และอีกทางหนึ่ง การที่ภาครัฐประกาศมาตรการก็จะช่วยสร้างความตระหนักรู้ต่อประชาชนว่ากำลังมีการระบาดของโรค ทำให้ประชาชนตื่นตัวในการดูแลตัวเองมากขึ้น เช่น ลดการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่า R0 ปรับลดลงได้

สำหรับการระบาดในระลอกที่ 3 EIC คาดว่าด้วยมาตรการควบคุมของภาครัฐที่มีความเข้มงวดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับความตื่นตัวในการป้องกันตัวเองของประชาชน จะสามารถทำให้ค่า R0 ลดลงได้ อย่างไรก็ดี ค่า R0 อาจไม่ปรับลดลงเร็วเท่ากับการระบาดในรอบก่อน ๆ เนื่องจากเป็นการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่เชื้อได้เร็วกว่า 

อีกทั้งการระบาดในปัจจุบันยังกระจายตัวไปในทุกจังหวัด ต่างจากในสองรอบแรกที่กระจายตัวไปไม่กี่จังหวัด ดังนั้น ค่า R0 จึงมีแนวโน้มลดลงได้ไม่เร็วนัก ทำให้ EIC คาดการณ์จากแบบจำลองได้ว่า การระบาดระลอกที่ 3 จะใช้เวลาราว 3 เดือนในการควบคุมโรค และจะมีผู้ติดเชื้อสะสมจากการระบาดรอบนี้ราว 93,000 ราย ในกรณีฐาน

ทั้งนี้หากมาตรการควบคุมโรคมีประสิทธิภาพสูง หรือประชาชนตื่นตัวจนกระทั่งทำให้ค่า R0 ปรับลดลงเร็วกว่าในกรณีฐาน ก็อาจทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อมีจุดสูงสุดที่ต่ำลงและมีระยะเวลาการควบคุมโรคที่สั้นลงกว่าในกรณีฐาน (2 เดือนในกรณี better) แต่ในทางกลับกัน หากสถานการณ์เลวร้ายกว่าคาด (กรณี Worse) โดยอาจเกิดจากนโยบายที่เข้มงวดน้อยเกินไปหรือประชาชนไม่ให้ความร่วมมือในการควบคุมโรคเท่าที่ควร ก็อาจทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง (หรืออาจมีการระบาดกลุ่มใหม่) ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการควบคุมโรคนานขึ้นเป็น 4 เดือน

เศรษฐกิจเสียหาย 2.4 แสนล้านบาท

ในกรณีฐาน การระบาดระลอกที่ 3 มีแนวโน้มสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจราว 2.4 แสนล้านบาท (1.5% of GDP) จากการประเมินของ EIC ที่ได้เคยศึกษา พบว่าการระบาดของ COVID-19 ในแต่ละรอบจะส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการบริโภค โดยเป็นผลมาจากทั้งความเข้มงวดของนโยบายรัฐในการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงความตื่นตัวในการป้องกันตัวเองของประชาชน 

โดยการบริโภคสินค้าและบริการส่วนใหญ่จะปรับลดลง โดยเฉพาะกิจกรรมสันทนาการ (Recreation) การเดินทาง (Transport) และโรงแรมและภัตตาคาร (Hotel & Restaurant) ขณะที่การบริโภคสินค้าประเภทอาหาร สุขภาพ และการสื่อสาร (อินเทอร์เน็ต) จะปรับเพิ่มมากกว่าในกรณีที่ไม่เกิดการระบาด ซึ่งโดยรวมแล้ว EIC คาดในกรณีฐานว่าการบริโภคภาคเอกชนจะปรับลดลงราว 2.4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 1.5% ของ GDP