เท 3 แสนล้าน เงินเยียวยาโควิด มีก๊อก 2 ช่วยอีก 1.3 แสนล.

09 พ.ค. 2564 | 18:05 น.

รัฐบาลเทหมดหน้าตัก 3 แสนล้าน ใช้เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลากยาวฝ่าโควิดได้ถึง ก.ย.64 พร้อมใช้งบกลางฉุกเฉินปี 65 วงเงิน 8.9 หมื่นล้าน และทุนสำรองของคลังอีก 5 หมื่นล้าน เข้ามาช่วยเสริม ส่วนงบประมาณขาดดุล 7 แสนล้าน ยันไม่ขัดวินัยการเงินการคลัง และนายกฯไม่มีอำนาจใช้งบบูรณาการ 2 แสนล้าน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา รัฐบาลได้ออกพระราชกําหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อมาใช้เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้ปัจจุบันมีเงินเหลือที่จะใช้ในการฝ่าไวรัสโควิด-19 ได้อีกราว 2.4 แสนล้านบาท ที่ยังไม่รวมงบประมาณปี 2564 (งบกลางฉุกเฉิน) อีกราว 60,000 ล้านบาท

อัด2.2แสนล.สู้โควิด

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ที่ส่งผลกระทบวิกฤตรุนแรงมากขึ้น คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 จึงเห็นชอบมาตรการเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจรอบใหม่ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นวงเงินทั้งสิ้น 225,500 ล้านบาท ภายใต้โครงการต่างๆ ทั้งโครงการเราชนะ โครงการม 33 เรารักกันโครงการเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษเพิ่มเดือนละ 200 บาทต่อคน โครงการคนละครึ่งเฟส 3 และโครงการยิ่งใช้ ยิ่งได้

รวมทั้งมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ โครงการคนละครึ่งเฟส 3 จำนวน 31 ล้านคน ให้คนละ 3,000 บาท และโครงการยิ่งใช้ ยิ่งได้ 4 ล้านคน สนับสนุน E-Voucher สูงสุด 7,000 บาท ใช้จ่ายช่วง ส.ค.-ธ.ค.2564 ซึ่งรัฐบาลประเมินว่าจากวงเงินที่เหลืออยู่ตามพ.รก.เงินกู้ และงบกลางฉุกเฉิน จะยังพอใช้จ่ายสำหรับการเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงปีงบประมาณ 2564 นี้ไปได้

 

ไม่พอใช้งบกลางปี65ช่วย

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การบริหารจัดการวงเงินในการฟันฝ่าวิกฤตไวรัสโควิด-19 ในช่วงงบประมาณ 2564 นี้ รัฐบาลยังมีเม็ดเงินเหลือพอที่จะดำเนินการได้ โดยมาจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทเหลือประมาณ 2.4 แสนล้านบาท และเงินจากงบกลางฉุกเฉินอีกว่า 60,000 ล้านบาท ทำให้ยังมีเงินอีกประมาณ 3 แสนล้านบาท สำหรับต่อสู้โควิดรอบนี้ และต้องใช้จ่ายภานในสิ้นปี งบประมาณ 2564 คือ 30 กันยายน 2564

ทั้งนี้ หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายและต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565 ยังมีงบประมาณปี 2565 ในส่วนของงบกลางฉุกเฉินที่ตั้งไว้ 89,000 ล้านบาท ที่สามารถนำมาใช้ได้ และยังมีทุนสำรองของกระทรวงคลังอีก 50,000 ล้านบาท และหากไม่พอจริงๆ ยังสามารถออก พ.ร.บ.โอนงบประมาณจากหน่วยงานเหมือนตอนปี 2563 ซึ่งตามขั้นตอนจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน

สำหรับการจัดทำงบประมาณปี 2565 ไม่ได้มีการตั้งงบประมาณสำหรับแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ไว้ เนื่องจากช่วงที่จัดทำงบประมาณขณะนั้น สถานการณ์วิกฤติไวรัสได้คลี่คลายและใกล้ยุติลง ซึ่งการจัดทำงบประมาณดังกล่าว ขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่าย 3.1 ล้านล้านบาท ลดลง 1.85 แสนล้านบาท จากปีงบประมาณ 2564 โดยเป็นการขาดดุลงบประมาณ 7 แสนล้านบาท และจากนี้จะไม่มีการรื้อหรือแก้ไขรายละเอียดเพิ่มเติมอีก ซึ่งวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 จะมีการนำเอกสารร่างงบประมาณเสนอให้ ครม. เห็นชอบอีกครั้ง เพื่อเสนอไปยังสภาผู้แทน ราษฎรต่อไป

 

ยันงบขาดดุลไม่ขัดกฎหมาย

ส่วนประเด็นที่กังวลในการจัดทำงบประมาณขาดดุล 7 แสนล้านนั้น สูงกว่ารายจ่ายลงทุนที่ 6.24 แสนล้านบาท ซึ่งตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง กำหนดให้รายจ่ายลงทุนต้องไม่ตํ่ากว่า การกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ดังนั้น เพื่อไม่ให้ขัดกับพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังจึงเสนอแนวทาง คือ การใช้เงินนอก เช่น เงินรายได้หน่วยงาน (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 4 อนุญาตให้สามารถเก็บไว้ใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง) เงินร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ PPP การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

“เฉพาะเงินจากรายได้หน่วยงาน มีเกิน 1 แสนล้าน เมื่อร่วมกับรายจ่ายลงทุนก็จะมากกว่า 7 แสนล้านบาทสูงกว่างบขาดดุลที่ตั้งไว้ ซึ่งการตั้งงบขาดดุลสูงกว่างบลงทุน ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2552- 2553 ซึ่งยังคงรักษาวินัยการเงินการคลัง เพราะเราจัดเก็บรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท จึงต้องกู้ขาดดุลสูงกว่า เพราะเราจำเป็นต้องพยุงเศรษฐกิจและทำให้เอกชนกล้ามาลงทุนต่อได้”นายเดชาวัฒน์กล่าว


เท 3 แสนล้าน เงินเยียวยาโควิด มีก๊อก 2 ช่วยอีก 1.3 แสนล.

นายกฯหมดสิทธิ์ใช้งบบูรณาการ

นายเดชาภิวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับงบบูรณาการปี 2565 วงเงิน 2.08 แสนล้านบาท น้อยกว่างบประมาณปี 2564 ที่มีวงเงิน 2.25 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ในมาตรา 1 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ไม่ใช่อยู่ในงบกลาง ภายใต้อำนาจของนายกรัฐมนตรี โดยแผนบูรณาการนี้มีการนำเสนอครม. เพื่อรับทราบทั้งในวิธีการทำงานและแผนบริหารงาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีทุกคนทุกกระทรวงจะรับทราบและเห็นแผนนี้

ทั้งนี้ การขอใช้งบประมาณบูรณาการ จะมีรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงนั้นๆ นั่งเป็นประธานคณะบูรณาการ และมีหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาแผนใช้งบประมาณ มีกรรมาธิการงบประมาณและกรรมมาธิการติดตาม ตรวจสอบการใช้งบและการดำเนินงานโครงการ

“นายกรัฐมนตรีจะไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานงบบูรณาการเลย แต่จะมีรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงนั้นๆ มาเป็นประธาน เช่น เกี่ยวกับแผนโลจิสติกส์ จะมีรองนายกฯที่ดูแลกระทรวงคมนาคม คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล จึงเป็นไปไม่ได้ที่นายกรัฐมนตรีจะมากุมอำนาจตรงแผนงานบูรณาการ ซึ่งถือเป็นการบิดเบือนและเชื่อว่า เป็นการหวังผลทางการเมือง และไม่สามารถโอนเงินจากงบบูรณาการไปใช้ เพื่อการเยียวยาโควิดหรือฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ เพราะมีกฎหมายกำกับอยู่”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,677 วันที่ 9 - 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :