รายย่อยซื้อหุ้นไทยต่อเนื่อง 14 เดือน

06 พ.ค. 2564 | 12:34 น.

ตลท.เผยภาวะตลาดหุ้นไทยเดือนเม.ย. 64 เพิ่มขึ้น 9.2% จากสิ้นปี 63 รายย่อยซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ด้านนักลงทุนต่างชาติขายต่อเป็นเดือนที่ 4

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564 ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 1,583.13 จุด เพิ่มขึ้น 9.2 % จากจากสิ้นปี 2563 เป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ จากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขนาดใหญ่ที่ทยอยประกาศผลประกอบการที่แข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาด โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่าดัชนีหุ้นไทยเมื่อเทียบกับสิ้นปี2563 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค  และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 93,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยใน 4 เดือนแรกปี 2564 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 96,115 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนในประเทศยังคงมีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดที่ 51.6% ของมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งตลาด และซื้อต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยในเดือนเมษายน 2564 ขายสุทธิ 3,446 ล้านบาท และในช่วง 4 เดือนแรกปี 2564 ขายสุทธิรวม 32,816 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในเดือนเมษายน 2564 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ใน SET 1 บริษัท และใน mai 2 บริษัท โดยใน 4 เดือนแรกปี 2564 SET มีมูลค่าระดมทุน (IPO) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆใน ASEAN ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากการเข้าจดทะเบียนของบมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ส่วนForward และ Historical P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ระดับ 19.5 เท่าและ 39.3 เท่าตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.8 เท่า และ 22.6 เท่าตามลำดับ

"ในช่วงมกราคม-เมษายน 2564 แต่ละประเทศทยอยฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้ประชากรโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ส่งผลให้ IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกว่าจะสามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติ และปรับประมาณการเติบโตของ GDP โลกเพิ่มขึ้นจาก 5.5% เป็น 6.0% โดยการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศไทย ส่งผลให้นักเศรษฐศาสตร์ปรับลดประมาณการเติบโตของ GDP ลงเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเพราะได้รับปัจจัยบวกจากภาคการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวแข็งแกร่งอีกทั้งนักวิเคราะห์ยังปรับประมาณการกำไรของบจ.ไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง"