สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ 

06 พ.ค. 2564 | 04:33 น.

บิสิเนส  แบ็กสเตจ รศ.ดร.เอกชัย  อภิศักดิ์กุล  คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

ท่ามกลางวิกฤติการระบาดของ COVID ทำให้สภาวะเศรษฐกิจผันผวนในปัจจุบันอาจทำให้เจ้าของธุรกิจมองว่าการวางแผนสืบทอดกิจการไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่เมื่อพิจารณาให้ดีจะพบว่ากระบวนการสืบทอดกิจการอาจเป็นเครื่องมือสนับสนุนธุรกิจครอบครัวให้คงอยู่ต่อไป และอาจเป็นหน้าประวัติศาสตร์ของธุรกิจครอบครัวเลยทีเดียว เหมือนคำโบราณที่ว่า “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ

มีการวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าการถ่ายโอนความเป็นเจ้าของและอำนาจการบริหารจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่งสำหรับความต่อเนื่องของธุรกิจครอบครัวและเพื่อรักษาเอกลักษณ์ของครอบครัวไว้ สอดคล้องกับผลจาก The STEP 2019 Global Family Business Survey ซึ่งทำการสำรวจผู้นำธุรกิจครอบครัวกว่า 1,800 รายจาก 33 ประเทศทั่วโลกก็ยืนยันข้อสรุปนี้เช่นกัน และชี้ว่าการเลือกผู้นำที่เหมาะสมในเวลาที่เหมาะสมจะเป็นการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดเพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง

ผู้สืบทอดรุ่นใหม่อาจจะนำมุมมองใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงบางแง่มุมของธุรกิจครอบครัวและอาจค้นพบโอกาสภายใต้สภาววิกฤติที่อาจกำหนดอัตลักษณ์ของธุรกิจครอบครัวใหม่ได้ ดังนั้นจึงต้องใช้ความกล้าหาญในการเลือกผู้สืบทอดอย่างชาญฉลาดและยังต้องเปิดกว้างรับวิธีคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับธุรกิจ

สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ 

นั่นคือความคิดเชิงนวัตกรรม (innovative ideas) ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้และรวมพันธกิจทางธุรกิจเข้ากับประเด็นของครอบครัว ในการสืบทอดธุรกิจภายใต้วิกฤติเราอาจต้องทิ้งความเคยชินทางวัฒนธรรมที่เป็นวิธีการคัดเลือกผู้สืบทอดในอดีต เช่น กฎการให้สิทธิลูกคนโตในการสืบทอด (primogeniture) โดยการเลือกลูกคนแรกให้เป็นผู้นำธุรกิจครอบครัว ซึ่งมักพบในวัฒนธรรมหลายส่วนของโลก

แม้ผลการวิจัยจะไม่ได้สรุปว่าการใช้กฎให้สิทธิลูกคนโตในการสืบทอดเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีหรือไม่และยังคงเป็นที่นิยม อย่างไรก็ตามมีการวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจครอบครัวมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นหลังการสืบทอดกิจการ เมื่อธุรกิจเหล่านั้นมีความกล้าที่จะเพิกเฉยต่อกฎให้สิทธิลูกคนโตในการสืบทอดและเลือกผู้สืบทอดตามความรู้ความสามารถของบุคคลเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธุรกิจเติบโตเกินรุ่นที่ 2 ยิ่งต้องใช้ความกล้าในการตัดสินใจเลือกผู้ที่เหมาะสมที่สุด

เนื่องจากผู้นำครอบครัวรุ่นที่ 2 หรือรุ่นหลังจากนั้นมักมีความคล้อยตามน้อยลงและมีแนวโน้มที่จะทำตามรูปแบบธุรกิจของพ่อแม่น้อยลง แต่มีการเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ และยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้น แม้ว่าธุรกิจครอบครัวจะไม่ใช้แนวทางการสืบทอดโดยให้สิทธิลูกคนโตอัตโนมัติ ก็ไม่ได้หมายความว่าลูกคนโตจะไม่สามารถเป็นผู้นำได้

เพียงแต่ผู้มีอำนาจตัดสินใจในครอบครัวอาจต้องสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่สร้างสรรค์ให้กับผู้สืบทอดที่มีศักยภาพเพื่อเลือกคนที่เหมาะสมที่สุดกับความต้องการของธุรกิจครอบครัวและความต้องการส่วนบุคคลของผู้สืบทอดเอง

แต่ปัญหาที่แท้จริงของธุรกิจคือผู้นำคนปัจจุบันมักไม่เชื่อว่าสมาชิกในครอบครัวรุ่นต่อไปของตนจะมีความสามารถหรือความมุ่งมั่นพอที่จะขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้แม้จะมีไอเดียและพลังที่สามารถนำพาธุรกิจฝ่าวิกฤติไปได้ Andrea Calabro ผู้อำนวยการของ IPAG Entrepreneurship & Family Business Center ได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจไว้ว่า การขาดความไว้วางใจจากพ่อแม่เป็นสิ่งสำคัญที่ลดความตั้งใจของทายาทในการเข้ามาสืบทอดธุรกิจ 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,675 วันที่ 2 - 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :