เยียวยา"เราชนะ"รอบใหม่ 32.9 ล้านคน รับสิทธิเพิ่ม 2,000บาท เช็กรายละเอียดที่นี่ ! 

06 พ.ค. 2564 | 02:00 น.

เยียวยา"เราชนะ"รอบใหม่ รัฐควัก 6.7 หมื่นล้านบาท ให้สิทธิรายเดิมทั้ง 32.9 ล้านคน  รับวงเงินเยียวยาเพิ่ม 2,000 บาท  อัพเดตวงเงินใช้จ่ายล่าสุดสะพัดกว่า 2.04 แสนล้านบาท  

 

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (5 พ.ค. 64) ได้คลอดแพ็กเกจเยียวยากระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด19 ระลอกใหม่ โดยหนึ่งในมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในระยะเร่งด่วนคือ  "โครงการเราชนะ" โดยได้ขยายเพิ่มวงเงินช่วยเหลือให้ประชาชนอีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ หรือเพิ่มอีกรายละ 2,000 บาท สิ้นสุด 30 มิิถุนายน 2564 ครอบคลุมผู้มีสิทธิ 32,900,000 คน  โดยใช้วงเงิน 67,000 ล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าของโครงการเราชนะ ล่าสุด ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2564  มีการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 204,062 ล้านบาท  จากจำนวนผู้ได้รับสิทธิทั้งสิ้น 32.9 ล้านคน  จำนวนนี้มีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการฯ ที่ใช้จ่ายจนครบวงเงินสิทธิ์แล้ว จำนวน 24.9 ล้านคน โดยเป็นการใช้จ่ายผ่านผู้ประกอบการร้านธงฟ้าราคาประหยัดที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ร้านค้าคนละครึ่ง รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้นกว่า 1.3 ล้านกิจการ

รายละเอียดการใช้จ่ายในแต่ละกลุ่มดังนี้

1) ประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.7 ล้านคน ได้มีการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา จำนวน 73,722 ล้านบาท 

2) ประชาชนกลุ่มที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ .com ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติเบื้องต้นและยืนยันการใช้สิทธิ์ร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 16.8 ล้านคน และมีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา จำนวน 115,150 ล้านบาท และ 

3) ประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ
เป็นพิเศษที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้ว จำนวน 2.4 ล้านคน มียอดใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2564 เป็นต้นมา จำนวน 15,190 ล้านบาท 

 

เยียวยา"เราชนะ"รอบใหม่ 32.9 ล้านคน รับสิทธิเพิ่ม 2,000บาท เช็กรายละเอียดที่นี่ ! 
 

โครงการ "เราชนะ" วัตถุประสงค์เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยกระทรวงคลังได้เปิดเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ให้ประชาชนเข้ามาลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์เงินเยียวยาเดือนละ 3,500 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน รวมเงินเยียวยาทั้งสิ้น 7,000 บาท  ก่อนที่ประชุมครม.ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 จะขยายเพิ่มอีก 2 สัปดาห์ ๆ ละ 1,000 บาท โดยให้วงเงินเยียวยาเพิ่มอีกรายละ 2,000 บาท 

คุณสมบัติคุณสมบัติผู้ได้รับสิทธิ์ มีดังนี้

- มีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

- ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33

- ไม่เป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้ปฎิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานภาครัฐ ข้าราชการการเมือง หรือผู้รับบำนาญ หรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ 

- ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาท ตามฐานข้อมูลล่าสุด

-ไม่เป็นผู้มีเงินฝากรวมทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท ตามฐานข้อมูลล่าสุด

อนึ่งที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ได้เห็นชอบมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในระยะเร่งด่วน 2 โครงการ คือ 

1.โครงการเราชนะ เป้าหมาย 32.9 ล้านคน โดยขยายเพิ่มวงเงินช่วยเหลือให้ประชาชนอีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ สิ้นสุด 30 มิ.ย.2564 กรอบวงเงิน 6.7 หมื่นล้านบาท 

2.โครงการ ม33 เรารักกัน เป้าหมาย 9.27 ล้านคน โดยขยายเพิ่มวงเงินให้อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็น ระยะเวลา 2 สัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2564 กรอบวงเงิน 1.85 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบมาตรการในระยะที่ 2 ซึ่งจะเริ่มทำเมื่อสถานการณ์ไวรัสโควิด ระลอกเดือนเม.ย.คลี่คลายลง มี 4 โครงการ กรอบวงเงินเบื้องต้น 1.4 แสนล้านบาท ประกอบด้วย

1.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 จำนวน 13.65 ล้านคน โดยให้เงินเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ก.ค.-ธ.ค.2564 

2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ 2.5 ล้านคน โดยให้เงินเพิ่มเติม เดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน

3.โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 อีกไม่เกินคนละ 3,000 บาท 

4.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โดยรัฐสนับสนุน อี-เวาท์เชอร์ ให้กับ ประชาชนที่ใช้จ่ายซื้อสินค้า ค่าอาหาร และเครื่องดื่มและค่าบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน โดยรัฐจะสนับสนุน อี-เวาท์เชอร์ ในช่วงเดือนก.ค.-ก.ย.นี้ และ สามารถนำ อี-เวาท์เชอร์ ไปใช้จ่ายได้ในเดือนส.ค.-ธ.ค.2564

ทั้งนี้มาตรการระยะ 2 นี้  จะครอบคลุมเป้าหมายประชาชนประมาณ 51 ล้านคน โดยรัฐคาดว่าจะมีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 4.73 แสนล้านบาท