เกมอำนาจเหนือ “ไต้หวัน” “สหรัฐ” ฟัด “จีน” ไทยจ่าเฉย

06 พ.ค. 2564 | 03:00 น.

เกมอำนาจเหนือ “ไต้หวัน” “สหรัฐ” ฟัด “จีน” ไทยจ่าเฉย? : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ  3676 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 6-8 พ.ค.2564 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

 

     ท่ามกลางปมใหญ่เรื่องไวรัส&วัคซีน ที่คนไทยจำนวนมากกำลังสำลักข้อมูล จนแยกไม่ออกว่า อะไรคือความจริง อะไรคือความเห็น เพราะชุดข้อมูลถาโถมเข้าใส่จนแทบจะอาเจียนกันทุกวัน ผมขอพาทุกคนมาติดตามปัญหาใหญ่ในภูมิภาคที่ฝ่ายทหาร ฝ่ายความมั่นคง ส่งสัญญาณให้ผมทราบว่า พายุความขัดแย้งมีสิทธิ์ก่อตัวเป็นสงครามได้ง่าย

     ขณะที่ผู้คนในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก กำลังให้ความสนใจกับสงครามของโรคไวรัสโควิด-19 ที่หนักหน่วงรุนแรงกว่าเดิมนั้น

     ความขัดแย้งทางการเมืองในเรื่อง อำนาจเหนือดินแดนและอาณาเขต ในช่องแคบไต้หวัน ระหว่าง จีน-สหรัฐอเมริกา ซึ่งเกี่ยวพันกับสันติภาพและเสถียรภาพก็ปะทุขึ้นอย่างรุนแรง หนักหน่วง จนกระทรวงการต่างประเทศและฝ่ายความมั่นคงในภูมิภาคควรจะต้อง จัดวอร์รูมขึ้นเป็นพิเศษ ก่อนที่จะไม่ทันสถานการณ์

     พลตรี​ไชย​สิทธิ์​ ตัน​ตยกุล นายทหารผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้พยายามเกาะติดการประมวลผลในเรื่องความขัดแย้งของภูมิภาคนี้ในไต้หวันมาตลอด และเริ่มเห็นสัญญาณความขัดแย้งอย่างรุนแรงในทางการเมืองของ 2 ประเทศในระยะ 1 เดือนเศษ และเริ่มเล็งเห็นถึงการเติมเชื้อไฟผ่านการส่งเรือรบหลายสิบลำ เข้ามาประจำการในน่านน้ำบริเวณนี้ของอเมริกา ขณะที่จีนเองก็เติมกำลังและเรือรบตลอดจนเครื่องบินรบออกลาดตระเวณ บริเวณน่านน้ำทะเลไต้หวันชนิดที่บินเฉี่ยวแทบชนกัน

     แต่เชื้อไฟของความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวันที่ส่งเสียงคำรามฮึ่มๆ มาตลอด ปะทุพวยพุ่งขึ้นรุนแรงที่สุดจากการที่ผู้แทนรัฐบาลสหรัฐ 2-3 คน ที่ว่ากันว่า เป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของรัฐบาลสหรัฐที่มี โจ ไบเด้น เป็นประธานาธิบดี ได้เดินทางไปเยือนเกาะไต้หวันอย่างเป็นทางการ ในช่วงวันที่ 13 เมษายน 2564

     รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ถือว่า การเดินทางไปเยือนไต้หวันของสหรัฐในรูปแบบนี้เป็น ล่วงละเมิดรัฐบาลจีน อย่างรุนแรง

     นายจ้าว​ ลี่เจียน​ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน จึงออกมาตอบโต้ เมื่อวันพุธที่​ 14​ เมษายน 2564 ว่า “รัฐบาลจีนขอคัดค้านการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการไม่ว่าจะรูปแบบใด ๆ ระหว่างสหรัฐฯ และเกาะไต้หวัน​ โดยทางการจีนขอเรียกร้องให้สหรัฐฯ​ จัดการกับกิจการที่เกี่ยวข้องกับไต้หวันอย่างรอบคอบ และละเว้นจากการส่งสัญญาณที่ไม่ถูกต้องใด ๆ ไปยังผู้แยกตัวออกจากไต้หวัน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายร้ายแรงต่อความสัมพันธ์จีน - สหรัฐฯ​ รวมทั้งสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน​“

     ถ้อยแถลงดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลัง อดีตวุฒิสมาชิก คริส ด็อดด์ และ 2 อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ริชาร์ด อาร์มิเทจ-เจมส์ สไตน์เบิร์ก รับหน้าที่เป็นผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯ​ ไปเยือนเกาะไต้หวัน​ เมื่อวันที่​ 13 เมษายน 2564

     โฆษกกระทรวงต่างประเทศของรัฐบาลจีน​ ยังได้สอนมารยาททางการเมืองและข้อตกลงกันในนามของรัฐบาลว่า สหรัฐฯ ได้มีการลงนามในกฎหมายโดยประธานาธิบดีจิมมี่​ คาร์เตอร์​ ของสหรัฐฯ​ ในขณะนั้น​ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2522 โดยได้กำหนดความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับเกาะไต้หวัน​อย่างชัดเจนในแนวทางสำคัญของ นโยบายจีนเดียว ของสหรัฐฯ โดยอนุญาตให้สหรัฐมีความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่ทางการทูตเท่านั้น​ เช่น​ ความสัมพันธ์ทางการค้าและวัฒนธรรมกับไต้หวัน

     แต่การเยือนอย่างเป็นทางการของตัวแทนรัฐบาลสหรัฐฯ ครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเช่นนั้น

     มีการวิเคราะห์ว่า​การเยือนไต้หวันครั้งนี้ของสหรัฐฯ​ กำลังจะผลักดันความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการระหว่างสหรัฐฯ​ และเกาะไต้หวันให้เป็นทางการมากขึ้น

     “นโยบายการทูต Track II กับเกาะไต้หวันครั้งนี้ อาจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของสหรัฐฯ​ ในยุคของประธานาธิบดี โจ ไบเดน พลตรี​ไชย​สิทธิ์​ ตัน​ตยกุล นายทหารผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนศึกษา สรุปข้อมูล

     คล้อยหลังจากนั้นเป็นต้นมา กิจกรรมทางทหารในทะเลจีนใต้จึงทวีความรุนแรงขึ้น​ ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ - จีนที่เพิ่มสูงขึ้น ช่วงต้นเดือน เมษายน2564 สหรัฐส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Theodore Roosevelt และเรือโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก USS Makin Island เข้ามาทำการฝึกซ้อมในทะเลจีนใต้ พร้อมกับเรือลาดตระเวน เรือพิฆาต และเรือสะเทินน้ำสะเทินบกขนาดเล็ก โดยเรือลำดังกล่าวยังบรรทุกกองกำลังภาคพื้นดินทางทะเล รวมทั้งเฮลิคอป เตอร์สนับสนุนและเครื่องบินขับไล่ F-35

     ความตึงเครียดก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น​ไปอีก จากกรณีที่สหรัฐฯ ส่งเรือรบผ่านช่องแคบไต้หวันเป็นครั้งที่ 4 ในปีนี้ ซึ่งเป็นจุดที่มีความอ่อนไหวทางยุทธศาสตร์ต่อการแยกไต้หวันอกจากจีนแผ่นดินใหญ่

     หลายคนอ่านข้อมูลที่ผมประมวลออกมาแล้วเห็นว่า แค่ขู่กันไปกันมาของมหาอำนาจ สหรัฐ-จีน แต่ยากที่จะปะทุ เพราะมีหลายปัจจัยรุมล้อม

     นั่นอาจจะจริงส่วนหนึ่ง แต่ในภาวะวิกฤติแบบนี้แหละครับ มันมักจะมีแรงกดดันพิเศษและมักมี แรงส่งอะไรไม่รู้เกิดขึ้นได้หลายอย่างเชียวแหละครับ

     แรงกดดันพิเศษบอกว่า ขณะนี้กำลังมีการพูดคุยกันอยู่แบบลับๆ ในกลุ่ม ปฏิบัติการพิเศษนั่นคือ มีพลังจากกลุ่มประเทศมหาอำนาจบีบให้รัฐบาลไทย เร่งดำเนินการตั้งศูนย์รับรองดูแลผู้อพยพชั่วคราวสำหรับชาวพม่า บริเวณแนวชายแดน เพื่อมนุษยธรรม ให้ได้ในปีนี้ โดยยินดีจะจัดสรรงบประมาณในการดูแลให้กับไทย… จริงหรือไม่?

     หรือ...มีข้อมูลลับชุดหนึ่งที่ป้องปากซุบซิบกันว่า รัฐบาลจีนนำโดย หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน​ กำลังเจรจากับรัฐบาลไทย ผ่านทาง ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนวัคซีนโควิดให้ไทยเป็นกรณีพิเศษ…?

     ในการนี้ ใช่ว่ามีการหารือลับเรื่องการจัดการและดูแลเรื่องปัญหาในเมียนมาร์ เป็นกรณีพิเศษ…?

     นักการทหารบอกว่า ในภาวะของความตึงเครียดของช่องแคบไต้หวันนั้น มีแรงกดดันและมีผลประโยชน์ในทางการเมืองเกิดขึ้นตลอดเวลา ไทยจึงควรอาศัยข้อมูลข่าวสารเหล่านี้มาดำเนินนโยบายให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ

     ข้อมูล ข้อวิเคราะห์ เกี่ยวกับการปฏิบัติการทางทหารที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์ในบริเวณช่องแคบไต้หวัน ในขณะนี้นั้น มีหลากรูปแบบ และนับวันจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

     แสนยานุภาพทางทหารของจีนที่มีอยู่ราว 400,000 นาย พร้อมใช้งานในบริเวณช่องแคบไต้หวันหากเกิดสถานการณ์ตึงเครียดหรือปะทุขึ้นมาทันที ขณะที่กองกำลังบนเกาะไต้หวันมีเพียง 88,000 นาย กองทัพเรือของจีนที่มีเรือรบออกมาวิ่งป้วนเปี้ยนในเขตน่านน้ำจำนวนมากพร้อมปฏิบัติการทันทีหากมีคำสั่งหรือจุดเปลี่ยน

     และมีการประเมินว่า สหรัฐฯ จะต้องมีค่าใช้จ่ายด้านการทหารมากกว่า 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี หากต้องการดูแลควบคุมไต้หวัน โดยจะต้องติดตั้งระบบข่าวกรอง การเฝ้าระวังและการลาดตระเวน เพื่อตรวจสอบสนามบินและท่าเรือขนถ่ายของจีนแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวของกองกำลังจีนแผ่นดินใหญ่ และเตรียมการเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีศักยภาพในระยะไกลมากขึ้น โดยเฉพาะอาวุธต่อต้านเรือและการวางกำลังในบริเวณน่านน้ำและพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น เกาะกวม ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ สิงคโปร์

     นักการทหารวิเคราะห์ว่า หากกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA ) จะใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อกองกำลังบนเกาะไต้หวัน จะดำเนินการได้ก่อนสหรัฐที่กต้องใช้เวลาเตรียมการอย่างน้อย 5-6สัปดาห์

     เรื่องที่ผมนำมาเล่าให้ฟังในวันนี้ มิใช่เรื่องไกลตัวนะครับ ล่าสุดสื่อดัง นิวส์วีค ได้รายงานว่า​ กองทัพจีนมีความสามารถในการสยบกองทัพสหรัฐฯ​ ในทะเลได้ จากการที่จีนได้เตรียมพร้อมอย่างเต็มที่สำหรับการแทรกแซงที่อาจเกิดขึ้นโดยกองกำลังสหรัฐฯ​ ในสถานการณ์ช่องแคบไต้หวัน โดยจีนเชื่อว่า เจตจำนงการสนับสนุนของสหรัฐฯ ต่อไต้หวันอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับความพยายามที่จะประกาศเอกราชนั้น​ จะนำไปสู่สงครามข้ามช่องแคบไต้หวัน​

     ขณะที่ Chang Che-ping รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของไต้หวัน ได้ถูกซักถามซ้ำหลายครั้งเกี่ยวกับภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้น​ ซึ่ง​ Chang ก็ได้อธิบายว่า เรื่องนี้เป็นความเชื่อมั่น ของสหรัฐฯ​ และเป็นสงครามข่าวสารของสหรัฐฯ​ กับกองทัพจีน​ แต่ไต้หวันยังไม่มีขีดความสามารถเลียนแบบการซ้อมรบแบบนั้นได้​ และ ถึงจะทำได้ ก็จะไม่ทำ...

     ถึงกระนั้นนักวิเคราะห์ข่าวด้านความมั่นคงเห็นว่า สงครามจีน - สหรัฐฯ ในทะเลอาจเกิดขึ้นได้ใน 4 จุด คือ ช่องแคบไต้หวัน ทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้ และน่านน้ำไกลที่อาจขยายไปถึงมหาสมุทรอินเดีย

     ทั้งนี้ ช่องแคบไต้หวันเป็นจุดร้อนมากที่สุด ซึ่งคาดว่าถ้ายังขึงกันอยู่อย่างนี้น่าจะเกิดขึ้นภายใน 6 ปีนี้ ด้วยเกาะไต้หวันอยู่ห่างจากฮาวาย 8,000 ไมล์ แต่ห่างจากจีนแผ่นดินใหญ่เพียง 250 ไมล์ จึงเป็นความท้าทายสำหรับกองทัพเรือสหรัฐฯ

     “จีนจะเน้นใช้ยุทธศาสตร์การต่อต้านการเข้าถึง การปฏิเสธพื้นที่โดยใช้มาตรการป้องกัน (A2/AD) รวมทั้งใช้เรือลาดตระเวน เรือพิฆาตและเรือฟริเกต ยิงขีปนาวุธผิวนํ้้าสู่พื้นผิวที่สำคัญ ตลอดจนใช้ขีปนาวุธที่มีความเร็วเหนือเสียง ต่อระบบสั่งการ การควบคุม การนำทางและระบบ GPS ของสหรัฐฯ​ ซึ่งในขณะนี้สหรัฐฯ​ ยังเตรียมการไม่ดีพอ” สำนักข่าวบลูมเบิร์ก

     ผมประมวลความขัดแย้งในภูมิภาคนี้มาให้คนไทย รัฐบาลไทยพิจารณา เงี่ยหูฟังกัน  บรรดาพ่อค้า นักธุรกิจ ที่ทำการค้ากับจีน ไต้หวัน หูต้องกระดิกเร็วขึ้น ต้องมองหาช่องทางการปรับตัวให้ทัน

     รู้เขา ยังไม่เทียบเท่า รู้ทันสถานการณ์ นะครับ!

 

     จีนทุ่มงบทางทหารก้อนมหึมา

     พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ประมวลข้อมูลจากเว็บไซต์ https://moderndiplomacy.eu/2021/04/28/chinas-military-modernization-is-a-threat-to-global-security/ แล้วพบว่า รัฐบาลจีนยังคงทุ่มเทงบประมาณทางด้านการทหารมากในแต่ละปี โดยเพิ่มงบทางทหารในทุกมิติและมีเป้าหมายเพื่อความก้าวหน้าในเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะทำให้ได้เปรียบเหนือฝ่ายตรงข้าม

     และจากการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายในการป้องกันประเทศของจีน พบว่า ปี 2021 (พ.ศ.2564) งบประมาณด้านกลาโหมอยู่ที่ประมาณ 1.355 ล้านล้านหยวน หรือราว 2.09 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการการเพิ่มขึ้นถึง 6.8% เมื่อเทียบกับงบประมาณหลักของปี 2020 (พ.ศ.2563) ซึ่งอยู่ที่ 1.268 ล้านล้านหยวน หรือราว 1.88 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ บ่งบอกถึงเศรษฐกิจของจีนที่แข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

     ทั้งนี้ ในแง่ของความเป็นจริงการเติบโตของงบประมาณด้านกลาโหมของจีนในปี 2021​ นั้นต่ำกว่าปี 2020 เล็กน้อย แต่จีนยังคงเป็นประเทศที่มีการใช้จ่ายทางทหารมากเป็นอันดับสองของโลกตามหลังเพียงแค่สหรัฐฯ

     สำหรับ การใช้จ่ายงบประมาณทางทหารทั่วโลกในปี 2020  มีมูลค่าเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

     สหรัฐใช้จ่ายงบทหารคิดเป็น 39% ของทั้งโลก เพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ส่วนจีนใช้จ่ายงบทหารคิดเป็น 13% เพิ่มขึ้นเป็นปี 26 ติดต่อกัน โดยปีที่ผ่านมาจีนใช้จ่ายงบทหารไปทั้งสิ้นราว 2.52 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ