โควิด-19 พ่นพิษธุรกิจการบินหนักฉุดยอดใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 3 เดือนปี 64 ร่วง 7.7%

05 พ.ค. 2564 | 08:50 น.

โควิด-19 พ่นพิษธุรกิจการบินหนักฉุดยอดใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 3 เดือนปี 64 ร่วง 7.7% ระบุน้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ ลดลง 73.9%

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยถึงภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันรอบ 3 เดือนของปี 2564 (มกราคม-มีนาคม) ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.7% โดยสาเหตุหลักมาจากการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ที่ลดลง 73.9% สำหรับการใช้กลุ่มเบนซินลดลง 0.2% กลุ่มดีเซลลดลง 0.6% น้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 29.1% น้ำมันก๊าดลดลง 11.5% LPG เพิ่มขึ้น 2.5% และ NGV ลดลง 31.2%

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 31.1 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลง 0.2%) โดยการใช้น้ำมันเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 0.7 ล้านลิตร/วัน (ลดลง 9.7%) กลุ่มแก๊สโซฮอล์ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 30.4 ล้านลิตร/วัน (เพิ่มขึ้น 0.1%)
              อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการใช้กลุ่มเบนซินเฉพาะเดือนมีนาคม 2564 พบว่าการใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 33.9 ล้านลิตร/วัน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2564 อยู่ที่ 27.3 และ 32.2 ล้านลิตร/วัน) โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ทุกชนิด ทั้งนี้ การใช้น้ำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้นในเดือนมีนาคมเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการและข้อบังคับต่างๆ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 ดีขึ้น

การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 67.2 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย (ลดลง 0.6%) สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี7 มีปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 40.0 ล้านลิตร/วัน (ลดลง 22.3%) น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 23.9 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 1.0 ล้านลิตร/วัน

การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 4.6 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลง 73.9%) เนื่องด้วยสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้ธุรกิจการท่องเที่ยวและการโดยสารเครื่องบินได้รับผลกระทบหนักอย่างต่อเนื่อง

การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 16.4 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น 2.5%) โดยปริมาณการใช้ในภาคปิโตรเคมีขยายตัวและมีการใช้มากที่สุดอยู่ที่ 6.8 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น 12.5%) ถัดมาเป็นภาคอุตสาหกรรมมีการใช้อยู่ที่ 1.9 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น 5%) และภาคครัวเรือนมีการใช้อยู่ที่ 5.8 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น 1.7%) ขณะที่ภาคขนส่งมีการใช้ลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 1.9 ล้านกก./วัน (ลดลง 22.5%)

การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.3 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลง 31.2%) โดยเป็นผลต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบกับจำนวนสถานีบริการและรถ NGV ที่ยังคงลดลง

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 922,120 บาร์เรล/วัน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลง 4.9%) โดยการนำเข้าน้ำมันดิบลดลงมาอยู่ที่ 879,480 บาร์เรล/วัน (ลดลง 5.2%) ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าลดลงมาอยู่ที่ 48,074 ล้านบาท/เดือน (ลดลง 12.6%) สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 42,640 บาร์เรล/วัน (เพิ่มขึ้น 0.4%) คิดเป็นมูลค่านำเข้ารวมอยู่ที่ 2,589 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น 12.9%)

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 168,874 บาร์เรล/วัน (ลดลง 6.5%) คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 9,985 ล้านบาท/เดือน (ลดลง 3.7%)