ท่องเที่ยวอีสาน จี้รัฐ ‘ต่อลมหายใจ’ ลูกจ้าง-ธุรกิจ

06 พ.ค. 2564 | 08:30 น.

ยอดพักดิ่งต่ำ 10% โรงแรม-เอเยนต์ทัวร์อีสานร้องรัฐอุ้มด่วน จี้ออก “คำสั่งปิด” ให้พนักงานได้สิทธิชดเชยจากประกันสังคม ขอแบงก์ชาติปล่อยซอฟท์โลนต่อลมผู้ประกอบการ

ยอดพักดิ่งต่ำ 10% โรงแรม-เอเยนต์ทัวร์ อีสาน ร้องรัฐอุ้มด่วน จี้ออก “คำสั่งปิด” ให้พนักงานได้สิทธิชดเชยประกันสังคม ขอแบงก์ชาติปล่อยซอฟท์โลนต่อลมผู้ประกอบการ

นายสุทัศน์ แพรสุรินทร์ อุปนายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ประธานชมรมไมซ์อุดรธานี และผู้จัดการทั่วไปโรงแรมเจริญโฮเต็ล อ.เมืองอุดรธานี เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การระบาดเชื้อโควิด-19 รอบเม.ย.นี้หนักกว่าที่ผ่านมา มาตรการควบคุมโรคของศบค.ลดการเคลื่อนย้ายคน ทำให้อัตราคนเข้าพักโรงแรมลดน้อยลงเหลือไม่ถึง 10% รายได้ลดลง 20-80 % หลายรายทนแบกภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว ต้องลดค่าจ้าง ลดพนักงาน ปิดบริการบางส่วนหรือทั้งหมดชั่วคราว ซึ่งมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ และกระทบถึงกิจการเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เป็นหางว่าว

ที่ผ่านมา ศบค.มีคำสั่งให้สถานบันเทิงผับ บาร์ คาราโอเกะ ปิดบริการ ทำให้พนักงานและผู้ประกอบการนั้น ได้สิทธิรับชดเชยจากประกันสังคมได้ เช่นเดียวกับการสั่งล็อกดาวน์ปี 2563 แต่คราวนี้รัฐสั่งปิดเพียงบางกิจการ ประกอบกับมาตรการอื่นเพื่อคุมการระบาด เช่น ระงับการจัดประชุมสัมมนาของหน่วยงานรัฐ จำกัดจำนวนการจัดงาน เพิ่มความเข้มข้นการตรวจคัดกรองบุคคลที่เดินทางข้ามเขต ลดการเคลื่อนย้ายคน ซึ่งกระทบกิจการโรงแรมโดยตรงแต่ไม่ได้รับการชดเชย จนต้องปิดบริการคนตกงานเพิ่ม

“ขอให้รัฐมีคำสั่งปิดบริการโรงแรมไปเลย เพื่อให้พนักงานผู้ประกอบการเข้าถึงการชดเชยด้วย ส่วนรายไหนที่มีความพร้อมจะเปิดต่อ ให้ขออนุมัติเปิดบริการเป็นรายๆ ไป เพื่อลดผลกระทบกับผู้ประกอบการโรงแรม

นายสุทัศน์ แพรสุรินทร์ อุปนายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน)

ท่องเที่ยวอีสาน จี้รัฐ ‘ต่อลมหายใจ’ ลูกจ้าง-ธุรกิจ

ขณะเดียวกันควรมีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ อาทิ มาตรการลดค่าใช้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า หรือให้แบ่งชำระเป็นงวด ลดค่าธรรมเนียม ภาษีที่ดิน ควบคู่กับ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำระยะยาว (Soft Loan) สำหรับกิจการที่ยังคงจ้างพนักงานไว้เท่าเดิม โดยเป็นเงินกู้เพื่อนำร่วมสมทบกับส่วนของผู้ประกอบการ มาจ่ายเป็นเงินเดือนพนักงานในระยะเวลา 8-12 เดือนแบบคนละครึ่ง เนื่องจากโครงการสินเชื่อรักษาการจ้างงานของสำนักงานประกันสังคมจะสิ้นสุดในเดือนพ.ค.2564 นี้แล้ว ขณะที่สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย

ด้านนายทินกร ทองเผ้า รักษาการประธานสมาพันธ์การท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย เขต 3 หรือ TFOPTA; Thai Federation of Provincial Tourist Association และผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยว หจก.ทินกรทัวร์ เปิดเผยว่า ในอุดรธานีมีธุรกิจเอเย่นต์ท่องเที่ยวประมาณ 45-50 แห่ง เวลานี้เดือดร้อนกันมาก เพราะการท่องเที่ยวหยุดหมด

ที่น่าห่วงคือ ผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวส่วนมากไม่อยู่ในระบบประกันสังคม หรือมีก็น้อยมาก ทำให้ผู้ประกอบต้องรับผิดชอบดูแลพนักงาน และค่าใช้จ่ายสำนักงาน ซึ่งภาครัฐควรรีบลงมาดูแลช่วยเหลือ เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งระดับท้องถิ่นและประเทศ

“เวลานี้สำนักงานททท.ส่วนกลาง ก็มอบนโยบายให้พื้นที่เตรียมความพร้อม และติดตามสถานการณ์ทั่วไป โดยเฉพาะการเปิดประเทศ หรือโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ที่จะเปิดใช้ในเดือนธันวาคมปลายปี 2564 นี้ ที่อาจปลุกบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เชื้อโควิด-19 ในเวลานั้นด้วย” นายทินกรกล่าว

 

ท่องเที่ยวอีสาน จี้รัฐ ‘ต่อลมหายใจ’ ลูกจ้าง-ธุรกิจ

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมให้บริการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยฯ กรณีทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตราย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ และผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน โดยกรอกแบบขอรับประโยชน์ทดแทนพร้อมเอกสารให้นายจ้างรวบรวม เพื่อบันทึกข้อมูลในระบบ e-Service บน www.sso.go.th และส่งเอกสารทั้งหมดให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัด เขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ทางไปรษณีย์ (ลงทะเบียน) ภายใน 3 วันทำการ หรือสอบถามสำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศ หรือสายด่วนประกันสังคม 1506

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,676 วันที่ 6 - 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง